คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เตรียมออกแพ็กเกจใหม่ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า “BEV พ่วง HEV” หวังกระตุ้นให้เกิดการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าและรถไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ให้เร็วขึ้น แต่เปิดทางเฉพาะค่ายรถยนต์ที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า BEV เท่านั้น ส่งผลให้ค่ายรถยนต์ยุโรป-ค่ายจีน “Benz-Audi-BMW-MG” มีสิทธิ์ขอรับส่งเสริมได้ประโยชน์จากมาตรการใหม่
คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กำลังดำเนินความพยายามที่จะเร่งรัดให้เกิดการผลิต/ประกอบรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนในเชิงพาณิชย์ให้เร็วขึ้น จนถึงกับคิดค้น “แพ็กเกจใหม่” ที่จะเอื้ออำนวยประโยชน์และจูงใจให้ผู้ประกอบการค่ายรถยนต์ผลิตรถไฟฟ้ามากขึ้น เนื่องจากมาตรการส่งเสริมกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ได้หมดเขตขอรับการส่งเสริมไปตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคมของปี 2560 และปี 2561 แล้ว
ออกแพ็กเกจใหม่
น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ด BOI) ในต้นสัปดาห์สิ้นสุดลงว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้มีการ “ปรับปรุง” มาตรการส่งเสริมการลงทุนแพ็กเกจรถยนต์ไฟฟ้า (EV) หลังจากที่หมดการยื่นขอรับการส่งเสริมไปแล้วตั้งแต่สิ้นปี 2561 โดยการปรับปรุงครั้งนี้ถือเป็นมาตรการที่รัฐบาลต้องการให้เกิดการส่งเสริมการลงทุนและเร่งรัดให้เกิดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (battery electric vehicles หรือ BEVs) ให้เร็วขึ้น ดังนั้น BOI จึงพิจารณาเสนอมาตรการกระตุ้นการใช้การผลิตชิ้นส่วนแบบ BEV พ่วง HEV ภายใต้แพ็กเกจรถยนต์ไฟฟ้าอีกครั้งหนึ่ง
ทั้งนี้ การขอรับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (hybrid electric vehicle หรือ HEV) ได้หมดเขตขอรับส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่เดือนธันวาคม 2560 ส่วนกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (plug-in hybrid electric vehicle หรือ PHEV) กับกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (battery electric vehicle หรือ BEV) ได้หมดเขตขอรับส่งเสริมการลงทุนในเดือนธันวาคม 2561 ปรากฏว่ารายชื่อค่ายรถยนต์ที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI
สำหรับการปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้านั้น น.ส.ดวงใจกล่าวว่า จะพิจารณาให้ผู้ประกอบการรถยนต์ที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) สามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม หรือ HEV ได้ภายใต้เงื่อนไขที่จะต้องมีองค์ประกอบของชิ้นส่วนหรือมีการผลิตหรือการใช้ “ชิ้นส่วนหลัก” มากกว่า 4 ชิ้นได้แก่ แบตเตอรี่ traction motor ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ (BMS) ระบบควบคุมการขับขี่ (DCU) จะต้องครบทั้งหมดจึงจะได้รับสิทธิประโยชน์
“ที่เราต้องออกมาตรการเพิ่มเติมสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าก็เพราะ BOI ต้องการให้เกิดการผลิตชิ้นส่วนในประเทศมากขึ้นเราต้องการให้มีคนผลิตชิ้นส่วนเพราะมันเป็นแหล่งของเทคโนโลยี ซึ่งเป็นชิ้นส่วนหลักที่เราคัดเลือกวางเอาไว้เป็นนโยบาย มีการกำหนดการผลิตชิ้นส่วนสำคัญเหล่านี้ไว้ในมาตรการแพ็กเกจรถยนต์ไฟฟ้า EV มาตั้งแต่ต้น นอกจากนี้ เพราะเราต้องการว่าทำยังไงจะเร่งให้เกิดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ BEV ให้เร็วขึ้น แน่นอนว่า BOI มีมาตรการหลักอยู่แล้ว แต่ต้องหาวิธีอื่นเพื่อให้เกิดเร็วขึ้นอีก” น.ส.ดวงใจกล่าว
โดยผู้ประกอบการค่ายรถที่เคยยื่นขอส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า EV ไปแล้วก่อนหน้านี้สามารถยื่นขอรับส่งเสริมเพิ่มเติมโดยใช้มาตรการใหม่นี้ได้ “ไม่ต้องขอยกเลิกส่งเสริมการลงทุนตามคำขอเก่า”
สำหรับผู้ประกอบการรถยนต์รายใหม่ที่ไม่ได้ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้ามาก่อนจะไม่สามารถขอแพ็กเกจนี้ได้ เนื่องจากการขอส่งเสริมกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (แบบแบตเตอรี่ BEV-แบบผสมเสียบปลั๊ก PHEV) ได้หมดเขตขอรับส่งเสริมไปตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 แล้ว
ด้านนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องของสิทธิประโยชน์รถยนต์ไฟฟ้า EV ใหม่ที่ประชุมบอร์ดยังไม่ลงรายละเอียดมากนัก และให้กลับไปหารือกับกระทรวงอุตสาหกรรมกับกรมสรรพสามิตอีกครั้ง ถึงการลดอัตราภาษีรถยนต์ไฟฟ้า BEV จากเดิม 2% ให้เหลือ 0% ที่อาจจะมีการปรับให้หรือไม่ เนื่องจากมีบางค่ายรถยนต์ที่ต้องการผลิตรถไฟฟ้าหลายประเภทอยู่แล้ว
จับตาค่ายรถยุโรป
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเข้ามาว่า มาตรการส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (HEV) ซึ่งหมดเขตไปในเดือนธันวาคม 2560 เท่าที่ผ่านมาวงการรถยนต์คาดการณ์ว่ามีค่ายรถยนต์ที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนรวมทั้งสิ้น 5 ราย แต่ได้รับการส่งเสริมไปแล้ว 4 ราย ได้แก่ โตโยต้า, ฮอนด้า, นิสสัน และมาสด้า ส่วนอีก 1 รายที่ยังไม่ได้รับส่งเสริมการลงทุน คือ ค่ายรถยนต์ซูซูกิ ส่วนมาตรการส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (PHEV) กับกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) ที่หมดเขตขอรับส่งเสริมไปในเดือนธันวาคม 2561 มีผู้ขอรับส่งเสริมการลงทุนจากค่ายรถยนต์เยอรมัน ได้แก่ เมอร์เซเดส-เบนซ์, BMW และออดี้ (ประเทศไทย) ค่ายรถญี่ปุ่น ได้แก่ โตโยต้า, ฮอนด้า, มิตซูบิชิ, นิสสันและค่ายรถจีน MG โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า ค่ายรถยนต์ที่ยื่นขอรับการส่งเสริมทั้งรถ PHEV กับ BEV ได้แก่ นิสสัน และโตโยต้า
“จะเห็นได้ว่า ค่ายรถยนต์ที่จะได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นการใช้การผลิตชิ้นส่วนแบบ BEV พ่วง HEV ที่ BOI กำลังจะจัดทำข้อเสนอออกมานั้นจะมีแต่ค่ายรถยนต์ยุโรปกับค่ายรถจีนหากทั้ง 2 ค่ายนี้สนใจที่จะผลิต/ประกอบรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (HEV) โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่ายรถ BMW กำลังจะเปิดสายการผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าเพื่อรองรับรถยนต์ PHEV ซีรีส์ 5-7 กำลังผลิต 1,000 หน่วยต่อปี โดยจะเปิดโรงงานที่ระยองกลางปีนี้”
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/economy/news-295723
จำนวนผู้อ่าน: 2372
01 มีนาคม 2019