ต้องยอมรับว่า เส้นทางการทำงานของ “วิชิต ว่องวัฒนาการ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์ด เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด ในวันนี้ไม่เพียงเติบโตจากการทำงานในระดับปฏิบัติการที่จะต้องดูแลรับผิดชอบในส่วนของฝ่ายขาย ฝ่ายบริการลูกค้า และฝ่ายพัฒนาผู้จำหน่าย หากเขายังมีบทบาทสำคัญในการขยายตลาดรถยนต์ฟอร์ด ประเทศไทย ยิ่งเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับด้านการพัฒนาประสบการณ์ของลูกค้า ผ่านการเพิ่มโชว์รูม และเครือข่ายศูนย์บริการ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งการบริการให้กับลูกค้า ไปจนถึงการพัฒนาระบบบริการลูกค้าอย่างมืออาชีพ
โดยผ่านเครือข่ายผู้จำหน่ายรถยนต์ฟอร์ดทั่วประเทศไทย ฉะนั้นจึงไม่แปลกที่ “วิชิต” จะได้รับความไว้วางใจให้นั่งตำแหน่งบริหารสูงสุดเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2561 ผ่านมา เพราะเขาจะต้องเข้ามาดูแลรับผิดชอบในส่วนการบริหารและสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจรถยนต์ฟอร์ดในประเทศไทยนับจากนี้เป็นต้นไป
โดย “วิชิต” มองว่า สิ่งที่จะเข้ามาเป็นกลไกต่อการขับเคลื่อนองค์กรให้เกิดความยั่งยืนในอนาคตจะต้องเกี่ยวข้องกับ 3 เรื่องด้วยกันคือ
หนึ่ง product excellence
สอง การยกระดับประสบการณ์ลูกค้า
สาม operation excellence
“วิชิต” บอกว่า กลไกการขับเคลื่อนทั้ง 3 ส่วนจะเกี่ยวข้องกันทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ขณะที่บางส่วนจะตอบสนองความต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะเรื่องของนวัตกรรมยานยนต์ และการให้บริการต่างๆ เพราะเราจะใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในทุกมิติ
“สำคัญไปกว่านั้น ทั้ง 3 ส่วนยังเกี่ยวข้องกับบุคลากรโดยตรง เพราะฉะนั้นนับจากนี้เป็นต้นไปทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโปรดักต์, การยกระดับประสบการณ์ลูกค้า และโอเปอเรชั่น จะมุ่งไปที่การพัฒนาบุคลากรเป็นหลัก เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะกับลูกค้ารุ่นใหม่ที่นิยมการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กในการให้บริการต่างๆ พูดง่ายๆ คือลูกค้าของเราอยู่ตรงไหน เราจะตามไปดูแลลูกค้าให้ได้รับความสะดวกสบายมากที่สุด”
แต่การจะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามแผน “วิชิต” บอกว่า สิ่งแรกเราจะต้องเฟ้นหาคนที่ “ใช่” ของฟอร์ดเสียก่อน
“ถ้าเป็นเมื่อก่อนเวลาเราเลือกคนมาทำงานกับฟอร์ดเราจะดู behavior หรือพฤติกรรมเป็นหลัก โดยเราเรียกว่า one Ford behavior ซึ่งจะถูกแบ่งออกหลายเรื่องด้วยกัน เช่น เรื่องความรู้ในงานของตัวเองที่ทำเป็นอย่างไรบ้าง หรือมีทัศนคติต่อเพื่อนร่วมงานและการทำงานอย่างไรบ้าง รวมไปถึงการทำงานเป็นทีมเวิร์ก เพราะทั้งหมดนี้จะวัดในเรื่องของ skills หรือทักษะความสามารถในการทำงานเป็นหลัก ว่าคุณอยู่ระดับไหน เพื่อเราจะได้ develop เขาขึ้นมาเป็น talent”
“และกระบวนการสรรหา talent จะไม่มีการ direct report เพื่อเสนอคนคนนั้นขึ้นมา แต่เราจะมีคณะกรรมการเข้ามานั่งประเมินกันเลย ว่าคนคนนี้เหมาะสมสำหรับการเป็น talent จริงๆ หรือเปล่า ถ้าเหมาะสมจริง เราจะมีกระบวนการในการพัฒนา talent เพื่อไปอบรมในแต่ละหลักสูตรที่เราพัฒนาขึ้นมา นอกจากนั้นยังมี on the job training และมีการ sharing doing เพื่อติดตามผู้บริหารของเราในการแบ่งปันความรู้ต่างๆ ด้วย”
“สำหรับฟอร์ด ประเทศไทยอาจมี talent pool ไม่ถึง 10% ของพนักงานที่สำนักงานใหญ่ประมาณ 200 คน แต่ผมก็มีความเชื่อว่าคนเหล่านี้ล้วนมีศักยภาพที่จะเติบโตต่อไปในสายงานของตัวเอง หรืออาจข้ามสายงานไปเติบโตในที่ต่างๆ ได้ เพราะฟอร์ดเป็นองค์กรหนึ่งที่เปิดโอกาสให้พนักงานมากๆ ขอเพียงแค่คุณอยากทำอะไรแล้วยกมือขึ้น คุณจะได้รับโอกาสนั้นทันที”
ถึงตรงนี้ “วิชิต” จึงยกตัวอย่างตัวเองให้ฟังว่า ผมทำงานที่ฟอร์ดมา 22 ปี กำลังจะขึ้นปีที่ 23 และฟอร์ด ประเทศไทยเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทย 23 ปี กำลังจะขึ้นสู่ปีที่ 24 ตอนแรกผมทำงานในส่วนของ after sale service ประมาณ 6-7 ปี ก่อนจะย้ายไปเป็น sale & director ทั้งๆ ที่แบ็กกราวนด์ของผมเรียนจบปริญญาตรีวิทยาศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเครื่องกล และปริญญาโทหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาการตลาด
“แต่อย่างที่ผมบอก ฟอร์ดเป็นองค์กรที่ให้โอกาสและเปิดให้พนักงาน cross career path และ cross functional ได้ ถ้าคุณมีความสามารถ และพิสูจน์ว่าคุณทำได้จริงๆ รวมถึงการย้ายข้ามสายงานไปทำงานในประเทศอื่นๆ ด้วย ซึ่งเหมือนกับผมที่เคยถูกแอดไซน์ให้ไปบริหารการดำเนินการทางด้านบริการที่อินโดนีเซีย 4-5 เดือน ต่อจากนั้นผมก็ไปอยู่ฟิลิปปินส์อีกหลายเดือน ก่อนจะไปมาเลเซียและเวียดนามตามลำดับ”
“ผมว่าตอนนั้นเป็นช่วงหาประสบการณ์ที่ดี เพราะพอเรายกมือว่าเราอยากไป ผู้บริหารของที่นี่ก็ทำเรื่องแลกตัวกับผู้บริหารที่อินโดนีเซียเพื่อแลกตัวกันเลย ผมคิดว่าไม่ว่าผมเอง หรือคนที่มาแทนผม ต่างมีประสบการณ์ที่ดี เพราะผมก็ได้เรียนรู้งานที่โน่น ส่วนเขาก็มาเรียนรู้งานที่นี่ พอหลังจากเสร็จโปรแกรม เราก็นำประสบการณ์ที่ไปพบไปเห็นกลับมาพัฒนาที่เมืองไทย”
“จำได้ว่าตอนที่ผมไปอินโดนีเซีย ตอนนั้นสถานการณ์บ้านเมืองไม่ค่อยสงบ มีเหตุระเบิดในบาหลี country leader เรียกผมไปพบในวันอาทิตย์ เขาถามผมว่า มีเหตุการณ์แบบนี้คุณจะกลับบ้านไหม ผมบอกอยู่ได้ครับ (หัวเราะ) ตรงนี้จึงทำให้ผมเชื่อว่าการที่เราไปทำงานประเทศอื่น ทำให้เราเห็นโลกกว้างขึ้น ทั้งยังเห็นวิธีคิด วิธีการปรับตัว และทำให้เราเรียนรู้ที่จะทำงานกับบุคคลอื่นๆ ที่ไม่ใช่เฉพาะแต่คนไทยด้วยกัน”
นอกจากนั้น “วิชิต” ยังอธิบายให้เห็นภาพการทำงานกับเจ้านายที่เป็นคนชาติอื่นว่า ผมถือว่าเป็นความโชคดี เพราะฟอร์ดเป็นบริษัทโกลบอล เรามีสาขามากมายกระจายอยู่ทั่วโลก ตรงนี้จึงทำให้เรากลายเป็นคนที่ต้องเรียนรู้และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ
“ที่สำคัญการเรียนรู้ของฟอร์ดจะทำงานเป็นทีม และทุกทีมจะทำงานประสานงานกันเพื่อก้าวไปสู่กลยุทธ์ขององค์กร เพราะฉะนั้นตลอดระยะเวลาของการทำงานที่นี่ ผมจึงตั้งใจทำงานให้ดีที่สุด และไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนขององค์กร ผมพร้อมที่จะทำในส่วนนั้นให้ดีที่สุด ขณะเดียวกันเราจะต้องประสานงานกับทีมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้งานประสบความสำเร็จไปพร้อมๆ กัน”
“เพราะโดยส่วนตัว ผมเป็นคนทำงานโดยไม่ค่อยตั้งความหวัง ขอแค่ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด ฉะนั้นถ้าถามว่า ฟอร์ดมีการวาง succession plan ไหม ก็ต้องบอกว่า มีอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเลย เฉพาะในส่วนของผมมีการคุยกันหลายครั้ง และมีการถามอยู่หลายครั้งว่า ถ้ามีตำแหน่งตรงนี้สนใจมั้ย และอนาคต career path ของเราอยากจะไปตรงไหน ก็มีการพูดคุยกันเสมอๆ”
“ขณะเดียวกันผมก็มี mentor หรือพี่เลี้ยงที่เป็น Asian President ที่เขาประจำอยู่ประเทศไทย ทุกๆ เดือนผมจะนั่งคุยกับเขา และเขาก็จะคอยดูแลผม แลกเปลี่ยนมุมมองต่างๆ ให้ฟังทั้งเรื่องงาน ส่วนตัว การใช้ชีวิต หรือในเรื่องของบางโปรเจ็กต์ที่เขาให้ผมลองทำ ซึ่งเขาจะเป็นคู่คิดของเรา เพื่อที่จะกรูมเราก่อนที่จะขึ้นมาเป็นผู้บริหารระดับสูง”
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ “วิชิต” กรุยทางผ่านมา แต่เมื่อถามเขาในคำถามสุดท้ายว่า…มีสไตล์การบริหารอย่างไร ?
“ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการทำงาน เพราะผมมีความเชื่อเรื่องคน ดังนั้นผมจึงเชื่อว่าใครจะเก่งทุกเรื่องและรู้ทุกเรื่อง ไม่มีทางเป็นไปได้ ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุดในความคิดของผม เพราะฉะนั้นอะไรก็แล้วแต่ ผมจึงอยากให้เกิดเป็นคณะการทำงาน และสิ่งที่เราตกลงร่วมกัน หรือคุยร่วมกันจะต้องมาจากความคิดเห็นของทีมงาน ตรงนี้ไม่เพียงเป็นการสร้างความภูมิใจให้เขา หากยังเป็นการสร้างความภูมิใจให้กับทีมด้วย”
อันเป็นคำตอบของ “วิชิต ว่องวัฒนาการ” ผู้บริหารสูงสุดของฟอร์ดคนปัจจุบัน
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/csr-hr/news-302572
Person read: 2128
16 March 2019