อำนวย ปรีมนวงศ์ อธิบดีกรมธนารักษ์
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่ากว่า 2 ปีที่บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ผู้ยื่นซองเพียงรายเดียวในการประมูลพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตราด (Trat Special Economic Development Zone) โดยเสนอทำโครงการ “GOLDEN GATEWAY” เปิดประตูการค้าและท่องเที่ยวสู่ภูมิภาค เป้าหมายให้จังหวัดตราดเป็น “เมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวนานาชาติ เมืองอาหารปลอดภัย และเมืองบริการการค้าระหว่างประเทศครบวงจร” มูลค่า 3,000 ล้านบาท โดยได้รับคัดเลือกเซ็นสัญญากับกรมธนารักษ์เช่าที่ดินราชพัสดุ 900 ไร่ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด เมื่อ 23 พ.ย. 2559
แต่หลังจากรัฐบาลประกาศนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 3 จังหวัด (ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา) ซึ่งให้สิทธิประโยชน์มากกว่า SEZ ดังนั้นเมื่อ พ.ค. 2561 บริษัทได้ยื่นเรื่องต่อกรมธนารักษ์ขอเพิ่มสิทธิประโยชน์เทียบเท่า EEC พร้อมขอปรับแผนลงทุน จนถึงวันนี้บริษัทยังไม่ได้พัฒนาพื้นที่ แต่จ่ายค่าเช่าตามสัญญา 845 ไร่ 44 ตร.ว. เป็นเงิน 20,282,640 บาทต่อปี (จากพื้นที่ 895 ไร่ 44 ตารางวา ไร่ละ 24,000 บาทปีละ 21,482,600 บาท) เพราะมีพื้นที่บ่อขยะ 50 ไร่ที่ยังไม่ได้ส่งมอบ ขณะที่นักลงทุนในพื้นที่รอดูการดำเนินโครงการเพื่อรอจังหวะขยับตาม
ธนารักษ์ชงตั้งบอร์ดเจรจา
นายอำนวย ปรีมนวงศ์ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่ากรมได้เสนอกระทรวงการคลังให้แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับสัญญา เพื่อติดตามโครงการดังกล่าว คาดแต่งตั้งได้ในเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งจะพิจารณาถึงข้อสัญญา รวมข้อเสนอต่าง ๆ
น.ส.อมรรัตน์ กล่ำพลบ รองอธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า วันที่ 18 มีนาคมนี้จะประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ซึ่งมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งคลังได้เสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับสัญญาโครงการ SEZ ตราด โดยมีอธิบดีกรมธนารักษ์ เป็นประธาน
สำหรับประเด็นที่ บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ฯเสนอขอสลับแผน และปรับแก้ระยะเวลาการลงทุน จากตอนแรกจะลงทุนในพื้นที่สีเขียวก่อน แต่ตอนนี้ขอลงทุนโครงการพัฒนาเชิงพาณิชย์เพื่อสร้างรายได้ให้บริษัทอยู่ได้ก่อน ซึ่งหากสัญญาที่ขอปรับแก้ไม่กระทบมูลค่าการลงทุน ไม่กระทบต่อผลประโยชน์ตอบแทนภาครัฐคณะกรรมการกำกับสัญญาคงให้บริษัทปรับแผนโครงการได้
“ส่วนกรณีที่บริษัทเรียกร้องว่าทำไม SEZ ไม่ได้ผลประโยชน์ตอบแทนเหมือน EEC โดยเฉพาะตราดซึ่งอยู่ติดกับ 3 จังหวัด EEC เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล แม้มีการผลักดันให้ขยาย EEC เฟส 2 มายังจังหวัดตราดจันทบุรี และสระแก้ว แต่ขณะนี้รัฐยังไม่มีนโยบายจะขยายมา ปัจจุบัน EECยังขีดวงไว้ 3 จังหวัด เพราะฉะนั้นเรื่องสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ต้องอยู่ในวง 3 จังหวัดก่อน”
ทุนท้องถิ่นตราดรอลุ้น
นายพิพัฒน์ ฤกษ์สหกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมกลุ่มภาคตะวันออก 2 และอดีตประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตราด เปิดเผยว่า ช่วงแรกที่ บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ฯเปิดตัวที่จังหวัดตราดได้หารือเรื่องร่วมลงทุนกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตราด แต่ไม่มีผู้สนใจ เพราะนักลงทุนท้องถิ่นรายย่อยนิยมลงทุนเองมากกว่า แต่รอความมั่นใจให้บริษัทใหญ่เริ่มก่อน ที่สนใจคือธุรกิจบ้านพักผู้สูงวัย ชาวต่างชาติคือเป้าหมายที่ต้องการมาพักผ่อนนาน ๆ เพราะมีอากาศบริสุทธิ์มีชายหาดสวยงามและเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเส้นทาง R10 ไปเกาะกง สีหนุวิลล์ ของกัมพูชา หรือกาเมา เกียนยาง เวียดนามได้ แต่ผ่านไป 2 ปีบริษัทใหญ่ยังไม่ได้ดำเนินการใด ๆ คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัดตราด (กรอ.จังหวัดตราด) ก็สอบถามความก้าวหน้ากับกรมธนารักษ์เมื่อปลายปีที่ผ่านมา
เพอร์เฟค Wait & See
นายชายนิด อรรถญาณสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทยังคงเดินหน้าพัฒนาโครงการ SEZ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด เนื้อที่ 895 ไร่ ที่ประมูลสิทธิจากกรมธนารักษ์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างทบทวนแผนให้สอดคล้องกับนโยบาย EEC คาดหลังเลือกตั้ง 24 มีนาคมนี้ และได้จัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้ว แผนการลงทุนจะชัดเจนขึ้นภายในเดือนพฤษภาคมนี้ภายใต้กรอบวงเงินลงทุน 3,500 ล้านบาท โดยยึดแผนพัฒนา 3 ด้าน คือ
1.เกษตร-อุตสาหกรรม เน้นอุตสาหกรรมแปรรูป เกษตรกรรมและห้องเย็น เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรส่งออกไปยังตลาดกัมพูชาและเวียดนาม 2.การท่องเที่ยว จะพัฒนา จ.ตราด ที่มีแหล่งเที่ยว 50 เกาะ ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวทางทะเลแห่งใหม่ รับนักท่องเที่ยวจากพัทยา-ระยอง ล่าสุด ท่าเรือคลองใหญ่สร้างเสร็จแล้ว ทำให้เพิ่มศักยภาพการรองรับนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น 3.การค้าชายแดน เพิ่มช่องทางส่งออกสินค้าเกษตรไปกัมพูชาและเวียดนามผ่านท่าเรือคลองใหญ่
“เราต้องทำให้สอดคล้องกับ EEC ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก นโยบายโปรโมต EEC ของรัฐบาลเป็นภาพชัดเจนที่เราต้องไปด้วยกัน จึงขอทบทวนแผนตอนนี้บางกอกแอร์เวย์สก็มีแผนลงทุนขยายสนามบินตราดที่ชัดเจน เพื่อยกระดับการท่องเที่ยว ท่าเรือคลองใหญ่ก็เสร็จแล้ว สามารถขนถ่ายสินค้าและเป็นท่าเรือท่องเที่ยวได้เรื่องอินฟราสตรักเจอร์ต้องมีการลงทุนด้วยถึงจะทำให้เราไปได้เร็วขึ้น”
ขอสิทธิประโยชน์เท่า EEC
นายชายนิดกล่าวด้วยว่า ในส่วนของการเจรจากับนายอภิชัย เตชะอุบล เจ้าของนิคมอุตสาหกรรมทีเอฟดี บมจ. ไทยพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนานิคมอุตฯ แปรรูปเกษตรกรรมยังไม่ได้ข้อสรุป ทุกอย่างต้องรอหลังการเลือกตั้งเพื่อหาโซลูชั่นที่ลงตัว
“การทำงานระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนต้องมีการประสานที่ใกล้ชิดกันมากกว่าในอดีตที่ผ่านมา เพราะถ้าหากต่างคนต่างทำจะไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ใด ๆ” นายชายนิดกล่าวตอนท้าย
ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องที่บริษัทยื่นขอปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์จำนวน 7 ข้อ ประกอบด้วย 1.ขอขยายเวลาสิทธิประโยชน์ภาษีเงินได้นิติบุคคล 10% จาก 10 ปี เป็น 20 ปี หรือปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ 0% ใน 10 ปีแรก 2.ขอสิทธิพิจารณาเป็นรายแรกในการต่อสัญญาเช่าพื้นที่โครงการอีก 50 ปี
3.ขอยกเลิกเงื่อนไขสิ้นสุดการเช่า ข้อ 19 ที่ต้องรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างปรับสภาพดินภายใน 30 วัน 4.ขอรับสิทธิสนับสนุนการก่อสร้างสนามบินนานาชาติ หรือท่าเทียบเรือท่องเที่ยวแห่งใหม่ 5.พื้นที่โครงการ ความยืดหยุ่นในการเปลี่ยนแปลงและจัดการพื้นที่ให้เหมาะสมกับโครงการ
6.ขอผ่อนผันค่าเช่าที่ดิน 7.ขอสนับสนุนสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อรองรับการพัฒนาโครงการ เช่น ถนน ไฟฟ้า น้ำประปา เขตไฟเบอร์ออปติก และวางผังเมืองให้สอดคล้องกับแนวพัฒนาโครงการ
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/local-economy/news-302309
Person read: 2261
16 March 2019