นายสมบัติ พานิชชีวะ ประธานกรรมการ บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง หรือโทลล์เวย์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า วันที่ 22 ธ.ค.2562 จะปรับค่าผ่านทางโทลล์เวย์อีก 15 บาทช่วงดินแดง-ดอนเมือง-อนุสรณ์สถาน ที่บริษัทรับสัมปทานจากกรมทางหลวง (ทล.) ตามสัญญาให้ปรับทุก 5 ปี จนหมดอายุสัญญา 12 ก.ย. 2577
22 ธ.ค.จ่ายโทลล์เวย์ 115 บาท
ส่งผลให้อัตราใหม่ที่จะประกาศใช้ 22 ธ.ค. 2562-22 ธ.ค. 2567 ช่วงดินแดง-ดอนเมือง รถ 4 ล้อ เป็น 80 บาทรถมากกว่า 4 ล้อ เป็น 110 บาท ช่วงดอนเมือง-อนุสรณ์สถาน จาก 30 บาทเป็น 35 บาท รถมากกว่า 4 ล้อ จาก 40 บาท เป็น 45 บาทตลอดทั้งเส้นทาง รถ 4 ล้อ จาก 100 บาทเป็น 115 บาทรถมากกว่า 4 ล้อ จาก 140 บาท เป็น 155 บาท
“การปรับราคาเป็นไปตามสัญญา ก่อนปรับจะแจ้งให้กรมทางหลวงทราบล่วงหน้า ถ้าไม่ทำตามจะมีข้อพิพาทเหมือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ สัมปทานที่เหลือ 15 ปี จะปรับได้อีก 2 ครั้งๆ ละ 15 บาท เป็นการปรับแบบอัตราคงที่ ไม่ได้คิดตามดัชนีผู้บริโภค หรือ CPI เหมือนทางด่วน” นายสมบัติกล่าวและว่า
สัญญาเปิดช่องขยับอีก 2 ครั้ง
ซึ่งครั้งต่อไปจะครบกำหนดวันที่ 22 ธ.ค.2567 ช่วงดินแดง-ดอนเมือง รถ 4 ล้อปรับจาก 80 บาท เป็น 90 บาท มากกว่า4 ล้อ จาก 110 บาท เป็น 120 บาทดอนเมือง-อนุสรณ์สถาน 4 ล้อ ปรับจาก35 บาท เป็น 40 บาท มากกว่า 4 ล้อจาก 45 บาท เป็น 50 บาท
และครั้งสุดท้าย จะปรับขึ้นในวันที่ 22 ธ.ค.2572 จนสิ้นสุดอายุสัมปทาน ช่วงดินแดง-ดอนเมือง รถ 4 ล้อ จาก 90 บาทเป็น 100 บาทมากกว่า 4 ล้อ จาก120 บาท เป็น 130 บาท ช่วงดอนเมือง-อนุสรณ์สถาน รถ 4 ล้อ จาก 40 บาท เป็น 45 บาท มากกว่า 4 ล้อ ปรับจาก 50 บาท เป็น 55 บาท
“ช่วงแรกที่ขึ้นราคา อาจทำให้ผู้ใช้บริการลดน้อยลง แต่เป็นช่วงระยะสั้น ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการประมาณ 8 หมื่นเที่ยวคันต่อวัน มีรายได้ค่าผ่านทางวันละ 9 ล้านบาท เติบโตปีละ 2-3% ตอนนี้บริษัทมีรายได้รวมปีละ 4,000 ล้านบาท”
พ.ค.ใช้วงแหวนใต้เก็บ 15 บาท
แหล่งข่าวจากกรมทางหลวงกล่าวเพิ่มเติมว่า เร็ว ๆ นี้กรมจะรายงานให้ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับสัมปทานโครงการ มีนายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม ด้านโครงสร้างพื้นฐานเป็นประธาน รับทราบถึงการปรับค่าผ่านทางโทลล์เวย์ที่จะครบกำหนด 22 ธ.ค.นี้ เพื่อเตรียมประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้ทางรับทราบต่อไป
นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง(ทล.) กล่าวว่า กรมอยู่ระหว่างขอคณะรัฐมนตรี (ครม.) จัดเก็บค่าผ่านทางถนนกาญจนาภิเษกตอนพระประแดง-บางแค ช่วงพระประแดง-ต่างระดับบางขุนเทียน ระยะทาง 14.5 กม. ที่ปัจจุบันเปิดใช้ฟรีโดยรถ 4 ล้อ เก็บ 15 บาท รถ 6 ล้อ 25 บาทรถมากกว่า 6 ล้อ 35 บาท คาดเริ่มเก็บได้วันที่ 20 พ.ค.นี้ โดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จะเป็นผู้จัดเก็บให้ เนื่องจากต่อเชื่อมกับทางด่วนสายบางพลี-สุขสวัสดิ์
ตรึงราคาด่วนขั้นที่ 1-2 ถึงปี”71
นายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าการ กทพ. เปิดเผยว่า ทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ตามสัญญาที่ทำร่วมกับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) จะต้องปรับขึ้นทุก 5 ปี ซึ่งครบกำหนดขึ้นครั้งสุดท้าย 1 ก.ย. 2561 ที่ผ่านมา ก่อนสัมปทานจะสิ้นสุด 28 ก.พ. 2563 แต่เมื่อคำนวณซึ่งอ้างอิงดัชนีผู้บริโภคแล้วไม่ถึงจึงไม่ปรับขึ้น ค่าผ่านทางคงเดิม 50 บาท
“กทพ.กำลังเจรจากับ BEM ยุติข้อพิพาทต่าง ๆ ที่คิดมูลค่า 137,517 ล้านบาท โดยนำเรื่องต่ออายุสัมปทานทางด่วนทุกโครงข่ายที่ BEM รับสัมปทานทั้งทางด่วนขั้นที่ 2 รวมส่วน D ช่วงพระราม 9-ศรีนครินทร์ และทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด ให้สิ้นสุดพร้อมกันในปี 2600 พิจารณาด้วย ซึ่งได้ปรับสูตรการขึ้นค่าผ่านทางใหม่ เป็นอัตราคงที่ 10 บาท ปรับทุก 10 ปี จากเดิมปรับตามดัชนีผู้บริโภคและปรับทุก 5 ปี ถ้าได้รับอนุมัติเท่ากับว่าค่าผ่านทางด่วนขั้นที่ 1-2จะเก็บ 50 บาท ไปถึงปี 2571”
ขึ้น 5 บาทด่วนบางนา-บางปะกง
อย่างไรก็ตาม เมื่อ 1 ก.ย. 2561 มีทางด่วน 2 สายที่ กทพ.ปรับขึ้น 5 บาท คือทางด่วนบางพลี-สุขสวัสดิ์ เฉพาะรถมากกว่า 6 ล้อ ใน 3 ด่าน ได้แก่ 1.ด่านบางครุ-บางเมือง 2.ด่านบางครุ-เทพารักษ์ 3.ด่านบางครุ-บางแก้ว และทางด่วนบางนา-ชลบุรี ปรับขึ้นรถทุกประเภท 11 ด่าน ได้แก่ 1.ด่านบางนา กม.6-บางเสาธง 2.ด่านบางนา กม.6-บางสมัคร 3.ด่านบางนา กม.6-บางปะกง 1
4.ด่านบางนา กม.6-ชลบุรี 5.ด่านวงแหวนรอบนอก (บางแก้ว)-บางสมัคร 6.ด่านวงแหวนรอบนอก (บางแก้ว)-บางปะกง 1 7.ด่านวงแหวนรอบนอก (บางแก้ว)-ชลบุรี 8.ด่านบางพลี 2-บางพลีน้อย 9.ด่านบางพลี 2-บางปะกง 1 10.ด่านสุวรรณภูมิ 2-บางสมัค และ 11.ด่านสุวรรณภูมิ 2-ชลบุรี สายบางพลี-สุขสวัสดิ์ และบางนา-ชลบุรี เก็บตามระยะทาง สายบางพลี-สุขสวัสดิ์ รถ 4 ล้อ เก็บค่าแรกเข้า 20 บาท
จากนั้นคิดเพิ่ม 1 บาท/กม. รถ 6-10 ล้อค่าแรกเข้า 40 บาท เก็บเพิ่ม 2 บาท/กม. รถมากกว่า 10 ล้อ ค่าแรกเข้า 60 บาท เก็บเพิ่ม 3 บาท/กม. ส่วนสายบางนา-ชลบุรี สำหรับ 20 กม.แรก รถ 4 ล้อ เก็บ 20 บาท จากนั้นคิดเพิ่ม 1.20 บาท/กม. รถ 6-10 ล้อ เก็บ 45 บาท เพิ่ม กม.ละ 2.40 บาท รถมากกว่า 10 ล้อ เก็บ 70 บาท เพิ่ม กม.ละ 3.60 บาท
“ปัจจุบันมีปริมาณรถบนทางด่วนวันละกว่า 1.9 ล้านคัน แยกเป็น ทางด่วนขั้นที่ 1 จำนวน 372,163 คัน ด่วนขั้นที่ 2จำนวน 717,595 คัน รามอินทรา-อาจณรงค์ 239,256 คัน บางนา-ชลบุรี 160,269 คัน บางปะอิน-ปากเกร็ด 94,207 คันบางพลี-สุขสวัสดิ์ 266,717 คันศรีรัช-วงแหวนตะวันตก 59,218 คัน” นายสุชาติกล่าว
นั่ง BTS จ่ายสูงสุด 65 บาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่วนของรถไฟฟ้า กรุงเทพมหานคร (กทม.) จะปรับโครงสร้างอัตราค่าโดยสารบีทีเอสส่วนต่อขยาย อ่อนนุช-แบริ่ง และวงเวียนใหญ่-บางหว้าใหม่ จาก 15 บาทตลอดสาย เป็นเก็บตามระยะทาง เริ่มที่ 15-21 บาท หรือปรับขึ้น 6 บาท วันที่ 16 เม.ย.นี้ พร้อมเปิดส่วนต่อขยายแบริ่ง-สมุทรปราการเต็มรูปแบบ ปัจจุบันใช้ฟรี
เมื่อเชื่อมเส้นทาง 23.5 กม.หมอชิต-อ่อนนุช (สายสุขุมวิท) และสนามกีฬา-สะพานตากสิน (สายสีลม) ที่เป็นสัมปทานของ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ BTSC ซึ่งเก็บค่าโดยสาร 16-44 บาททำให้ผู้ใช้บีทีเอสเสียค่าโดยสารสูงสุด 65 บาท
ใช้บัตรแรบบิทลด 1 บาท
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BTSC กล่าวว่า ปัจจุบันบีทีเอสจัดโปรโมชั่นให้ผู้ถือบัตรแรบบิท เมื่อเติมเงินจะลดให้ 1 บาท/เที่ยว จาก 16-44 บาทเป็น 15-43 บาท สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.นี้ และร่วมกับแรบบิทไลน์เพย์ ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกสิกรไทยพัฒนาระบบชำระบัตรโดยสารด้วยคิวอาร์โค้ดเพย์เมนต์ เมื่อชำระผ่านแรบบิทไลน์เพย์และแอปโมบายแบงกิ้งธนาคารกรุงเทพ ได้เงินคืน 5 บาทถึง31 มี.ค. ผ่านแอปโมบายแบงกิ้งธนาคารกสิกรไทย รับเงินคืน 5 บาทถึง 30 เม.ย.นี้ อยู่ระหว่างพิจารณาอาจจะขยายโปรโมชั่นออกไปอีก เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการ ปัจจุบันอยู่ที่ 8-9 แสนเที่ยวคน/วัน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับรถไฟฟ้าใต้ดินช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ มี BEM รับสัมปทานจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ตามสัญญาปรับขึ้นทุก 2 ปี ตามค่าดัชนีผู้บริโภคทุกวันที่ 3 ก.ค.ของปี แต่ครั้งล่าสุดมีการเลื่อนเป็นวันที่ 1 ธ.ค. 2561 เมื่อคำนวณแล้ว ค่าโดยสารโดยรวมยังคงเดิม 16-42 บาท แต่มี 3 สถานีที่ปรับขึ้น 1 บาท สถานีที่ 5, 8, 11 นับจากสถานีที่เริ่มเดินทาง จะครบกำหนดปรับอีกครั้งในปี 2563
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/property/news-302350
จำนวนผู้อ่าน: 2158
16 มีนาคม 2019