ก่อนจะถึงวันเลือกตั้ง 24 มี.ค.นี้ รัฐบาล คสช.ที่อยู่มานาน 5 ปี ก็เริ่มทยอย “ปิดจ็อบ” โครงการต่าง ๆ เพื่อ “โชว์ความสำเร็จ” ให้ประชาชนมองเห็นถึงผลงานในช่วงที่ผ่านมา
ล่าสุด กระทรวงการคลังเพิ่งชงคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบผลการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment (ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ) โดยระบุถึงผลการดำเนินงานที่ “สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์” และ “ได้รับการยอมรับในระดับสากล”
พร้อมกันนี้ ครม.ยังได้เห็นชอบให้ “ยุติบทบาท” ของคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถขับเคลื่อนงานไปได้เองแล้ว
ทั้งนี้ “ลวรณ แสงสนิท” ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในเรื่องระบบการชำระเงิน มีผลสำเร็จก็คือ มีระบบพร้อมเพย์ที่มีการลงทะเบียนแล้ว 46.5 ล้านราย และมีปริมาณธุรกรรม 1.1 พันล้านรายการ คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 5.8 ล้านล้านบาท (ณ ธ.ค. 61) และได้ขยายการใช้บัตร โดยติดตั้งเครื่องรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) ไปแล้ว 768,103 เครื่อง
ขณะที่เรื่องระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ก็ได้มีการแก้ไขประมวลรัษฎากรเพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์เรียบร้อยแล้ว ที่สำคัญยังได้พัฒนาการจัดทำและนำส่งข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) โดยเปิดให้บริการแล้วในปี 2560
ส่วนด้าน e-Payment ภาครัฐ ก็ได้จัดสวัสดิการผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแก่ผู้มีรายได้น้อย 14.5 ล้านราย และขยายไปสู่สวัสดิการอื่น ๆ เช่น เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยความพิการ เป็นต้น รวมถึงกำหนดให้ส่วนราชการ 7,200 หน่วยงาน รับ-จ่ายเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด โดยติดตั้งเครื่อง EDC ไปแล้ว 6,807 หน่วยงาน
ส่วนการให้ความรู้ และส่งเสริมการใช้ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ได้ทำโครงการแจกโชคจากการใช้บัตรเดบิต ซึ่งได้มีการจ่ายเงินรางวัลไปทั้งสิ้น 69.9 ล้านบาท ให้กับผู้ได้รับรางวัล จำนวน 8,872 ราย
ส่วนอีกเรื่องที่รัฐบาล คสช.พยายาม “ปิดจ็อบ” ให้ได้เช่นกัน ก็คือ การฟื้นฟูกิจการรัฐวิสาหกิจ 7 แห่ง ภายใต้การขับเคลื่อนของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือ “ซูเปอร์บอร์ด”
ซึ่ง “ประภาศ คงเอียด” ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวในงานสัมมนาผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ (SOE CEO Forum) ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า ภาพรวมช่วง 5 ปีที่ผ่านมานั้น “ประภาศ” บอกว่า รัฐวิสาหกิจในภาพรวมมีผลดำเนินงานดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับในอดีต
ส่วนรัฐวิสาหกิจ 7 แห่งที่มีปัญหาต้องฟื้นฟูนั้น ที่ผ่านมา คนร.ได้เห็นชอบให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ออกจากแผนฟื้นฟูแล้ว หลังจากสามารถปรับปรุงโครงสร้างทางการเงิน และกระบวนการภายในในการพิจารณาสินเชื่อจนสามารถกลับมามีกำไรได้
“ในปี 2560 ธพว.มีกำไรจากการดำเนินงาน 1,468 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 475 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2556 กว่า 20% รวมทั้ง ธพว.ยังสามารถบริหารจัดการหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ได้ลดลงเกือบครึ่งหนึ่งจาก 37% ในปี 2556 เหลือ 17% ในปี 2560 ส่วนไอแบงก์กลับมามีกำไรจากการดำเนินงานครั้งแรกในรอบ 5 ปีกว่า 531 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 510 ล้านบาท และระดับ NPF ลดลงจาก 44,378 ล้านบาท เหลือ 8,924 ล้านบาท” นายประภาศกล่าว
ขณะที่อีก 5 แห่ง แม้ยังไม่ได้ออกจากแผนฟื้นฟู แต่ก็มีการดำเนินงานที่คืบหน้า โดย บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จะมีการควบรวมกิจการกัน แล้วจัดตั้งบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ เพื่อให้มีการพัฒนาโครงข่ายในการติดต่อสื่อสารของประเทศอย่างบูรณาการ ลดการลงทุนและการดำเนินงานที่ซ้ำซ้อนกัน อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า การควบรวมกิจการของ 2 รัฐวิสาหกิจนี้จะจบได้ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน
ส่วนบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้มีการนำระบบต่าง ๆ เข้ามาช่วยเสริมการขาย การปรับปรุงกระบวนการทำงานเพื่อลดค่าใช้จ่าย การสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรต่าง ๆ
ด้าน องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้มีการแยกบทบาทการกำกับดูแล (regulator) ออกจาก ขสมก. โดยให้ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ทำหน้าที่ดังกล่าว เพื่อให้ ขสมก.สามารถโฟกัสบทบาทการเป็นผู้ประกอบการให้บริการโดยสารได้อย่างเต็มที่ และ ขสมก.สามารถดำเนินการจัดซื้อรถโดยสาร NGV จำนวน 489 คันได้
“การจัดซื้อรถเมล์ NGV คิดว่าคงเสนอได้ทันในรัฐบาลชุดนี้ ขึ้นอยู่กับทางกระทรวงคมนาคม” นายประภาศกล่าว
สุดท้าย การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ที่ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ทั้งรถไฟทางคู่ 8 เส้นทาง และเส้นทางใหม่ ๆ รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าสายสีแดง ได้จัดตั้งบริษัทลูก 2 บริษัท เพื่อบริหารสินทรัพย์ กับเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ตลอดจนวางแผนชำระหนี้ที่มีความชัดเจนมากขึ้น เพื่อพลิกฟื้นกลับมามีกำไรในอนาคต และการปิดบัญชีและสร้างระบบการจัดทำรายงานทางการเงินให้เป็นปัจจุบัน
นอกจากนี้ ปัจจุบันร่าง พ.ร.บ.การพัฒนารัฐวิสาหกิจ ที่จะทำให้ คนร.มีสถานะที่มั่นคงขึ้น ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปแล้ว รอประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเมื่อกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ ก็จะทำให้แผนการฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจอีก 5 แห่งที่เหลืออยู่ สามารถเดินหน้าต่อไปได้ต่อเนื่อง
ไม่ว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนหรือไม่ก็ตาม
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-303662
Person read: 2184
21 March 2019