แฟ้มภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข่าว
นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรมจะยกระดับถนนกาญจนาภิเษก (วงแหวนรอบนอก) ฝั่งตะวันตก ระยะทาง 70 กม. ที่เปิดใช้ฟรีมาตั้งแต่ปี 2543 ให้เป็นทางพิเศษระหว่างเมืองควบคุมทางเข้าออก พร้อมติดตั้งด่านเก็บค่าผ่านทางเหมือนถนนกาญจนาภิเษกฝั่งตะวันออก โครงการวงแหวนด้านใต้และมอเตอร์เวย์ชลบุรี-พัทยา เพื่อรองรับปริมาณการจราจรที่หนาแน่นฉลี่ยวันละ 137,000 คัน
“ปัจจุบันเมืองขยายตัวไปมาก จำเป็นต้องปรับโครงการเก่าใหม่ให้เหมาะสม โดยเชื่อมมอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา และบางใหญ่-กาญจนบุรี ที่จะเปิดใช้ปี 2565-2566”
คาดว่าใช้เงินลงทุน 78,000 ล้านบาทแบ่งงาน 2 ช่วง คือ ช่วงแรกบางบัวทอง-บางปะอิน ระยะทาง 30 กม. จุดเริ่มต้นที่ อ.บางบัวทอง บริเวณจุดตัดทางหลวงหมายเลข 345 (บางบัวทอง-บางพูน) กับทางหลวงหมายเลข 340 (บางบัวทอง-สุพรรณบุรี) ผ่าน จ.ปทุมธานี ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา สิ้นสุดที่ทางแยกต่างระดับบางปะอิน เชื่อมกับมอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา และวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก
รูปแบบเป็นทางระดับดิน 12 ช่องจราจร แยกเป็นทางคู่ขนาน 6 ช่องจราจร ข้างละ 3 ช่องจราจร เพื่อให้ประชาชนใช้ฟรี พร้อมปรับถนนเดิม 4 ช่องจราจร เป็นทางมาตรฐานใหม่ 6 ช่องจราจร แต่จะเก็บค่าผ่านทาง
ปีนี้กรมจะเริ่มก่อสร้างทางคู่ขนานก่อน ภายใต้งบประมาณ 5,000 ล้านบาท สร้างจากแยกต่างระดับบางปะอิน-แม่น้ำเจ้าพระยาก่อน เนื่องจากการจราจรวิกฤต
มิ.ย.ลุยทางคู่ขนาน
“ขณะนี้ได้ผู้รับเหมาก่อสร้างแล้ว แบ่งสร้าง 4 สัญญา จะเริ่มงานในเดือน มิ.ย.-ก.ค.นี้ แล้วเสร็จในปี 2565 ส่วนที่เหลือจากแม่น้ำเจ้าพระยา-บางบัวทอง กรมจะทยอยก่อสร้างในปี 2563-2564 โดยการก่อสร้างไม่มีเวนคืนที่ดิน เพราะกรมได้กั้นแนวเขตทางเดิมไว้เผื่อแล้ว แต่อาจจะมีบางพื้นที่เป็นทางเข้า-ออกด่าน” นายอานนท์กล่าวและว่า
สำหรับการอัพเกรดถนนเดิมเป็นช่องทางพิเศษ อยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียดจะแล้วเสร็จปลายปีนี้ ซึ่งกรมมีแนวคิดจะใช้เงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์ ประมาณ 10,000 ล้านบาท มาก่อสร้าง
บางบัวทอง-บางขุนเทียนยก 2 ชั้น
นายอานนท์กล่าวอีกว่า ในช่วงที่ 2 แนวจะเริ่มจากต่างระดับบางขุนเทียน-บางบัวทอง ระยะทาง 37 กม. จะสร้างเป็นทางยกระดับสูงขึ้นอีก 1 ชั้น จากระดับดินขนาด 6 ช่องจราจร อยู่บนเกาะกลางถนนวงแหวนปัจจุบัน จากบางบัวทองไปชนกับวงแหวนด้านใต้ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 40,000-50,000 ล้านบาท ปัจจุบันกรมกำลังพิจารณารูปแบบก่อสร้างช่วงแยกบางใหญ่ที่มีโครงสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงอยู่ด้วยตรงกลางถนน จะสร้างเป็นทางยกระดับยกข้ามรถไฟฟ้าไป หรือจะเบี่ยงแนวไปด้านข้างสถานีเพื่อพยายามลดกระทบต่อชุมชนในพื้นที่ให้น้อยที่สุด
“ขณะเดียวกัน กรมก็กำลังศึกษรูปแบบการลงทุน PPP จะให้เอกชนร่วมทั้งโครงการ คือ ก่อสร้าง ติดตั้งระบบเก็บค่าผ่านทางและบริหารโครงการ หรือจะลงทุนเฉพาะงานระบบอย่างเดียว รูปแบบการลงทุนจะสรุปในปีหน้า ตั้งเป้าจะเริ่มสร้างในปี 2565 เสร็จในปี 2568 ขณะนี้ถือกว่ากรมได้เริ่มนับหนึ่งโครงการแล้ว โดยสร้างทางคู่ขนานมารองรับ จะแล้วเสร็จพอดีกับที่จะเริ่มงานในส่วนที่จะปรับปรุงเป็นทางพิเศษ”
นายอานนท์กล่าวอีกว่า สำหรับวงแหวนตะวันตกจะเชื่อมการเดินทาง 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และพระนครศรีอยุธยา ตลอดเส้นทางจะมีจุดเข้าออก 20 แห่ง ได้แก่ ด่านพระราม 2 ด่านกัลปพฤกษ์ 1 ด่านกัลปพฤกษ์ 2 ด่านเพชรเกษม 1 ด่านเพชรเกษม 2 ด่านพรานนก-พุทธมณฑล 1 ด่านพรานนก-พุทธมณฑล 2 ด่านบรมราชชนนี ด่านมหาสวัสดิ์ ด่านนครอินทร์ 1 ด่านนครอินทร์ 2 ด่านบางใหญ่ ด่านบางบัวทอง 1 ด่านราชพฤกษ์ ด่านลาดหลุมแก้ว 1 ด่านลาดหลุมแก้ว 2 ด่านสามโคก ด่านบางปะหัน และด่านบางปะอิน ส่วนค่าผ่านทางยังไม่ได้กำหนดอัตรา
คืบหน้า 3 มอเตอร์เวย์ใหม่
นายอานนท์ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ 3 สายใหม่ว่า ในปี 2563 จะเปิดบริการสายพัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 32 กม. ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างด่านเก็บค่าผ่านทาง
ส่วนสายบางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กม. งานก่อสร้างคืบหน้าแล้ว 68% ตามสัญญางานก่อสร้างจะเสร็จปลายปี 2563 ล่าสุดอาจขยับเป็นปี 2564 เพราะมีปรับแบบก่อสร้าง 13 สัญญาใหม่ ให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ ส่งผลให้ค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นกว่า 6,000 ล้านบาท ซึ่งกรมต้องเสนอของบฯเพิ่มจากสำนักงบประมาณ รายงานคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อทราบ อาจจะทำให้ผู้รับเหมาขอขยายเวลาออกไปอีก ส่วนการเปิดบริการจะเป็นภายในปี 2565
ขณะที่สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กม. คืบหน้า 19.15% ยังล่าช้าจากแผนอยู่มาก เนื่องจากผู้รับเหมาเข้าพื้นที่ก่อสร้างไม่ได้ มีปัญหาค่าเวนคืนที่ดินที่เพิ่มขึ้น ปัจจุบันกรมอยู่ระหว่างเสนอ ครม.อนุมัติกรอบวงเงินเพิ่ม 8,000 ล้านบาท มาดำเนินการ ทำให้งานก่อสร้างขยับไปเป็นปี 2564 เปิดใช้ปี 2566
“มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช และบางใหญ่-กาญจนบุรี ถึงงานก่อสร้างจะเสร็จเร็ว แต่การเปิดบริการเต็มรูปแบบก็ต้องรอระบบเก็บค่าผ่านทางแล้วเสร็จ ซึ่งใช้เวลา 3 ปี โดยกรมเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน PPP gross cost 33 ปี สร้าง 3 ปี บริหารโครงการ 30 ปี รัฐเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินและรายได้ทั้งหมด ส่วนเอกชนได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินค่าก่อสร้างระบบ ค่าบำรุงรักษา ค่าบริหารจัดเก็บค่าธรรมเนียม ไม่เกินกรอบวงเงินกว่า 6.1 หมื่นล้านบาท ตลอดอายุสัญญา”
เปิดโผ 6 กลุ่มชิงสัมปทานระบบ
นายอานนท์กล่าวว่า กรมปิดขายซองทีโออาร์เมื่อวันที่ 27 มี.ค. มีเอกชนไทย-ต่างชาติสนใจซื้อซองประมูลทั้งหมด 18 ราย จะเปิดยื่นข้อเสนอวันที่ 27 มิ.ย.นี้ มี 3 ซอง คือ เทคนิค การเงิน ข้อเสนอพิเศษ ผู้ชนะคือผู้ที่ให้กรมจ่ายค่าตอบแทนน้อยที่สุด จากกรอบวงเงินของสายบางใหญ่-กาญจนบุรี ไม่เกิน 27,828 ล้านบาท สายบางปะอิน-โคราช ไม่เกิน 33,258 ล้านบาท คาดว่าจะเซ็นสัญญา ธ.ค.นี้
สำหรับ 18 รายซื้อประมูล ได้แก่ 1.บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง (โทลล์เวย์) 2.บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น 3.บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ 4.บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) 5.บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ 6.บจ.ซีวิลเอนจีเนียริ่ง 7.บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น 8.บจ.สี่แสงการโยธา (1979), บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM)
10.บมจ.ช.การช่าง 11.Metropolitan Expressway Company Limited จากประเทศญี่ปุ่น 12.Marubeni Corporation จากประเทศญี่ปุ่น 13.Japan ExpresswayInternatioal Company Limited จากประเทศญี่ปุ่น 14.Far Eastern ElectronicToll Collrction Coltd จากประเทศไต้หวัน 15.บจ.ไชน่าฮาเบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จากประเทศจีน 16.บจ.ไชน่า คอมมูนิเคชั่น คอนสตรัคชั่น จากประเทศจีน 17.Vinci Concessions จากประเทศฝรั่งเศส และ 18.บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง
คาดว่าจะมีเอกชนร่วมกลุ่มยื่นเข้าประมูล 6 ราย ได้แก่ 1.กลุ่มบีทีเอส ร่วมกับซิโน-ไทยและราชบุรีโฮลดิ้งส์ 2.กลุ่ม BEM และ ช.การช่าง 3.กลุ่มอิตาเลียนไทยกับจีน 4.กลุ่มยูนิคกับจีน 5.กลุ่มโทลล์เวย์ร่วมกับรัฐวิสาหกิจจากญี่ปุ่น และ 6.กลุ่มกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/property/news-309977
Person read: 2211
03 April 2019