“ญี่ปุ่น” โอเค “จีน” ยังไม่เฟิร์ม “กลุ่ม ซี.พี.” รอตัวช่วยจุดพลุไฮสปีด

ไม่ถอดใจ ! แต่การเดินหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา มูลค่ากว่า 2.24 แสนล้านบาท ก็ไม่ฉลุยอย่างที่ “กลุ่ม ซี.พี.และพันธมิตร” คิด

จึงทำให้การเจรจาต้องขยับไทม์ไลน์อยู่หลายครั้ง ล่าสุด “กลุ่ม ซี.พี.” มีกำหนดประชุมร่วมกับคณะกรรมการคัดเลือกโครงการ รายงานผลการเจรจากับพันธมิตรด้านการเงินในวันที่ 4 เม.ย. 2562

พันธมิตรกลุ่ม ซี.พี.มีทั้งไทย จีน ญี่ปุ่น และยุโรป ประกอบด้วย บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ถือหุ้น 5% บจ.ไชน่า คอนสตรักชั่นคอร์ปอเรชั่น จากประเทศจีน ถือหุ้น 10% บมจ.ช.การช่าง และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM ถือหุ้น 15%

 

องค์กรความร่วมมือการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม และการพัฒนาเมืองในต่างประเทศแห่งประเทศญี่ปุ่น (JOIN), บจ.ซิติกกรุ๊ป จากประเทศจีน บจ.ไชน่า รีเสิร์ช (โฮลดิงส์) จากประเทศจีน, บจ.ซีเมนส์ จากประเทศเยอรมนี, บจ.ฮุนได จากประเทศเกาหลี, บจ.Ferrovie dello Stato Italiane (FS) จากประเทศอิตาลี, บจ.CRRC-Sifang จากประเทศจีน และธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) ประเทศญี่ปุ่น

รายงานข่าวแจ้งว่า ตอนนี้ ซี.พี.รอคำตอบจากผู้ร่วมลงทุนจากจีนเรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ร่วมลงทุน 10% ทั้งก่อสร้างและงานระบบ เนื่องจาก ซี.พี.จะใช้ระบบรถไฟของจีน

ขณะที่เจบิกได้ข้อสรุปแล้วจะปล่อยกู้รูปแบบโปรเจ็กต์ไฟแนนซ์ อัตราดอกเบี้ยต่ำไม่เกิน 2% ส่วนสถาบันการเงินในไทย 4-5 แห่งจะกู้ในรูปแบบสินเชื่อที่ให้กับบริษัทขนาดใหญ่

“ซี.พี.เขาเอาแน่โครงการนี้ แต่พันธมิตรเยอะ จึงต้องใช้เวลาเจรจากว่าจะลงตัว ซึ่งการเจรจากับจีนไม่ง่าย ดูได้จากรถไฟไทย-จีน ใช้เวลาหลายครั้งมาก อย่างไรก็ตาม ท่าที ซี.พี.ก็อ่อนไปมาก หากสามารถหาเงินกู้ต้นทุนต่ำเพื่อลดความเสี่ยงของโครงการไปได้บ้าง จะทำให้ปลดล็อกข้อเสนอด้านการเงินที่เขาพยายามยื่นเสนอก่อนหน้านี้ได้”

ด้าน “วรวุฒิ มาลา” รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกโครงการ เปิดเผยว่า กลุ่ม ซี.พี.ขอเวลาเจรจาด้านการเงินกับพันธมิตร โดยจะให้คำตอบภายในวันที่ 4 เม.ย.นี้ จากเดิมกำหนดจะประชุมร่วมกันวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา

“ซี.พี.รอคำตอบจากพันธมิตรจีน ส่วนทางญี่ปุ่นเคลียร์จบแล้ว คาดว่าวันที่ 4 เม.ย.นี้การเจรจาน่าจะจบเรื่องข้อเสนอด้านการเงิน จากนั้นจะนำไปสู่การเจรจาในข้อเสนอที่ง่ายและได้ข้อสรุปสุดท้ายก่อนสงกรานต์อย่างที่ตั้งเป้าไว้” นายวรวุฒิกล่าวและย้ำว่า

เนื่องจากโครงการใช้เงินลงทุนมาก กลุ่ม ซี.พี.ต้องการลดความเสี่ยง จึงต้องหาต้นทุนดอกเบี้ยต่ำที่สุด หากได้ข้อสรุป จะทำให้เงื่อนไขที่นอกเหนือทีโออาร์และมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่อนคลายหมด เช่น ขอให้รัฐจ่ายเงินอุดหนุนตั้งแต่ปีแรกหรือจ่ายค่าเช่าที่ดินมักกะสันภายหลัง

อย่างไรก็ตาม จากท่าทีของพันธมิตรต่างชาติของ ซี.พี.ที่ยังไม่มีคำยืนยันเรื่องเงินลงทุน ว่ากันว่า อาจจะเป็นเพราะกำลังรอลุ้นโฉมหน้ารัฐบาลใหม่ เหมือนที่คนไทยทั้งประเทศกำลังลุ้นอย่างใจระทึก !

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/property/news-311170


Person read: 2529

04 April 2019