แรงงานล้งมังคุด - ปัญหาการขาดแคลนแรงงานของผู้ประกอบการล้งผลไม้ภาคตะวันออกมีมาต่อเนื่องในทุกฤดูเก็บเกี่ยวผลไม้ของทุกปี แต่ภาครัฐไม่สามารถหาทางออกในการแก้ปัญหาที่ชัดเจนให้กับผู้ประกอบการได้ ทั้งที่การส่งออกผลไม้ เช่น มังคุด ทุเรียน ถือเป็นไม้ผลเศรษฐกิจสำคัญที่สร้างรายได้ให้ประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท
“สมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด” รับแทบทุกล้งมีแรงงานไม่ถูกกฎหมาย 20-40% เสนอรัฐผ่อนปรนการจับกุม ชี้หากล้งใหญ่ปิดกิจการ 30-40% เกษตรกรชาวสวนได้รับผลกระทบหนัก เหตุต้นฤดูผลไม้ “มังคุด-ทุเรียน-เงาะ” 8 หมื่นตัน มูลค่าส่งออกกว่า 1 แสนล้านบาท กำลังทยอยออกสู่ตลาด
นายธีระ วงษ์เจริญ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดจันทบุรี และที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ผลไม้จังหวัดจันทบุรีสร้างมูลค่าได้ปีละ 80,000 ล้านบาท ราคาผลไม้ปีนี้ดี คาดว่าน่าจะสร้างรายได้ถึง 100,000 ล้านบาท แต่เกษตรกรกำลังเผชิญกับภาวะราคามังคุดตกต่ำช่วงปลายเดือนมีนาคม จาก 80 บาท/กก. เหลือ 50-35-30 บาท/กก. เม็ดเงินหายไปกว่า 400 ล้านบาท ขณะที่ล้งผลไม้มีปัญหาการขาดแคลนแรงงานเก็บผลไม้ โดยเหลือเวลาเพียง 7 วันก่อนสงกรานต์ที่แรงงานกัมพูชาสวนผลไม้ประมาณ 30,000 คนจะกลับบ้านหมด ทำให้ต้องรีบดำเนินการประชุม เพราะเดือนเมษายนนี้จะมีผลไม้ออกสู่ตลาดประมาณ 80,000 ตัน
ซึ่งที่ประชุมเสนอแนวทางรองรับเร่งด่วน 4 ข้อ คือ 1) ปัญหาแรงงานกัมพูชากลับบ้านช่วงสงกรานต์ 15 วัน ซึ่งตรงกับมังคุด ทุเรียน เงาะออกสู่ตลาด ต้องหาแรงงานภายในประเทศมาทดแทน ส่วนแรงงานกัมพูชาที่เข้ามาทำงานควรผ่อนปรนเรื่องการใช้เอกสารหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) และหนังสือผ่านแดน (บอร์เดอร์พาส) เพราะสภาพที่แท้จริง แรงงานกัมพูชาที่ไม่ถูกต้องในล้งประมาณ 40% หากถูกเจ้าหน้าที่จับกุมจะส่งผลให้ล้งปิดการรับซื้อ และเกษตรกรจะได้รับผลกระทบหนัก
2) ปัญหาด้านการตลาด เพื่อให้เกษตรกรได้รับความเป็นธรรม ล้งและลูกล้งผู้รับซื้อรายย่อยต้องประกาศราคารับซื้อทุกวันตั้งแต่ 09.00 น. 3) ล้งที่มีปัญหารับซื้อผลไม้ที่ไม่มี GAP และล้งเองไม่มี GMP ได้ให้หน่วยงานเข้ามาช่วยอำนวยการความสะดวกทำให้ถูกต้อง 4) การระบายผลผลิตทั้งในและต่างประเทศ นำกลไกของสหกรณ์มาใช้เพื่อให้สหกรณ์เป็นตัวนำตลาดให้ได้ ตัดพ่อค้าคนกลาง และสภาเกษตรกรจังหวัด 3 จังหวัดภาคตะวันออกช่วยกันกระจายผลผลิตทุกเกรดไปนอกพื้นที่
ส่วนการแก้ปัญหาแรงงานอย่างเร่งด่วนก่อนถึงช่วงสงกรานต์ มีการเสนอให้ผ่อนปรนการเข้มงวดจับกุมแรงงานในช่วงฤดูกาลผลไม้ และตั้งศูนย์ One Stop Service (OSS) ที่ชายแดน และหาวิธีการนำแรงงานภายในประเทศทดแทน ทั้งนี้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี (อบจ.) ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการติดตามการบริหารจัดการผลผลิตเกษตรภาคตะวันออก เพื่อเฝ้าระวังดูแลแก้ปัญหาเรื่องผลไม้ตลอดฤดูกาล
แรงงานในล้งไม่ถูกกฎ 40%
นายสุชาติ จันทร์เหลือง หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า ราคามังคุดตกต่ำไม่ใช่ปัญหาการล้นตลาด แต่เกิดจากมังคุดสุกเร็วตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคม จากที่คาดการณ์ไว้ต้นเดือนเมษายน เนื่องจากฝนตกและแดดจัด ล้งมังคุดในจันทบุรี 60 กว่าแห่ง วางแผนจะเปิดรับซื้อเดือนเมษายน จึงเพิ่งเปิดเพียง 6 แห่ง และต้องรองรับผลผลิตทั้ง 3 จังหวัด ภาพรวมปีนี้ภาคตะวันออกมังคุดผลผลิตเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตัว
นายภานุวัฒน์ ไหมแก้ว นายกสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด กล่าวว่า แรงงานกัมพูชาแทบทุกล้งเอกสารไม่ถูกต้อง 20-40% คือมีหนังสือเดินทาง หรือหนังสือผ่านแดน แต่บางคนยังไม่ได้ทำหรืออยู่ระหว่างขอทำใบอนุญาตทำงาน เพราะแรงงานมีการเข้า-ออกตลอดเวลา บางคนมา 4-5 วัน หนีไปทำงานที่อื่น ต้องรับเข้ามาใหม่ จึงอยากเสนอให้ภาครัฐตั้งหน่วยวันสต็อปเซอร์วิสบริการที่ชายแดนบ้านแหลม บ้านผักกาด เพื่อให้ดำเนินการทุกอย่างเสร็จสิ้นที่ชายแดน และระหว่างนี้ขอผ่อนปรนกรณีเจ้าหน้าที่เข้ามาจับกุม ถ้าล้งใหญ่ 30-40% เกิดความตระหนกส่งคนงานกลับ หรือปิดล้ง เกษตรกรจะได้รับผลกระทบหนัก
นายวุฒิพงศ์ รัตนมณฑ์ ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดตราด กล่าวว่า แรงงานกัมพูชาจังหวัดชายแดน เช่น พระตะบอง-ตราด ต้องมีการคุยกันระดับประเทศ เพราะมีรายละเอียดที่ยังไม่สะดวก แม้จะผ่อนผันให้จัดทำเอกสารบอร์เดอร์พาส แต่แรงงานส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในจังหวัดชายแดน ต้องใช้เวลานาน เสียค่าใช้จ่ายสูงคนละ 4,000 บาท นายจ้างต้องสำรองเงินไปก่อน และยังมีปัญหาแรงงานหนีไปทำงานกับนายจ้างอื่น ๆ อีก ภาครัฐควรผ่อนปรนการเข้ามาทำงานในช่วงฤดูกาลผลไม้สั้น ๆ 3-4 เดือน ส่วนการใช้แรงงานนอกพื้นที่ทดแทนเป็นเรื่องยาก และแรงงานกัมพูชามีความอดทนสู้งานมากกว่าแรงงานคนไทย
จี้ล้งขึ้นป้ายราคาซื้อชัดเจน
นายสว่าง ชื่นอารมณ์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดตราด กล่าวว่า ภาครัฐควรผ่อนปรนปัญหาเรื่องแรงงาน เพราะมังคุดเป็นผลไม้ที่ต้องใช้แรงงานมากกว่าทุเรียน 2 เท่า และปีนี้ผลผลิตมากขึ้นกว่าเท่าตัว หรือกรณีล้งไม่มีมาตรฐาน GMP ส่งออกไม่ได้ ใช้วิธีสวมสิทธิ์กันอยู่ เจ้าหน้าที่ต้องดูแลทำแบบบูรณาการเพื่อความสะดวกรวดเร็ว และด้านการตลาด เห็นด้วยที่จะให้ล้งประกาศราคารับซื้อแต่ละวันช่วงเช้าตั้งแต่ 09.00 น. เพราะเกษตรกรจะได้ข้อมูลเลือกตัดสินใจ ที่ผ่านมากว่าล้งจะแจ้งราคา 15.00 น. หรือ 16.00 น. ชาวสวนกลับตัวไม่ทัน และไม่มีทางเลือก
นายไพฑูรย์ โกเมน เกษตรและสหกรณ์จังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า มีการแจ้งร้องเรียนว่าเจ้าหน้าที่ส่วนกลางจับกุมแรงงาน ล้งถูกปรับเป็นแสนบาท และส่งดำเนินคดีตามกฎหมาย เมื่อมีข่าวกระจายว่าจะดำเนินการตรวจสอบทุกล้ง จึงทำให้ล้งไม่กล้ารับซื้อเกรงถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ส่วน GMP สวพ.6 สำรวจ ล้งทั้งหมดมี 605 ล้ง ได้ GMP 160 ล้ง จำนวนล้งที่เพิ่มขึ้นมาก เจ้าหน้าที่ต้องระดมช่วยกันให้ทันกับสถานการณ์
นายชวภณ ศตนันท์นารา จัดหางานจังหวัดจันทบุรี ชี้แจงว่า ปัญหาแรงงานที่จะเข้ามาในช่วงที่ขาดแคลน ที่ผ่านมาเป็นปัญหาทางจิตวิทยาสร้างความกลัว ความตกใจ บางเรื่องไม่สามารถบังคับหรือจัดการได้ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับนโยบายจากทางส่วนกลาง แต่ 2-3 ปีที่ผ่านมาได้ปฏิบัติตามนโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัด เรื่องค่าใช้จ่ายและกระบวนการขั้นตอนที่ยุ่งยากได้ผ่อนปรนในหลายเรื่องเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ และไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายสูง ค่าใบอนุญาต ค่าตรวจโรค ค่าใช้จ่ายประมาณ 1,325 บาทต่อคน ทำงาน 3 เดือน ส่วนปัญหาแรงงานไม่พอช่วงเดือนเมษายน หากต้องการให้มีจัดตั้งศูนย์ OSS พร้อมดำเนินการ
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/local-economy/news-312705
Person read: 2253
08 April 2019