จริงหรือไม่ ทำเลรถไฟฟ้าสายสีชมพูเป็นทำเลอันตรายซ้ำรอยสายสีม่วง
“ดร.โสภณ พรโชคชัย” ประธาน บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA นำเสนอรายงาน “ราคาที่ดินรถไฟฟ้าสายสีชมพู : สายอันตราย” สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี มีระยะทาง 34-36 กิโลเมตร เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยวแบบวางคร่อมราง (straddle-beam monorail) ทางวิ่ง ยกระดับความสูง 17 เมตร ตลอดโครงการ มีรางที่ 3 ตีขนานไปกับรางวิ่งสำหรับจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับตัวรถ
ตัวรถรุ่น Bombardier Innovia Monorail 300 ขนาดกว้าง 3.147 เมตร ยาว 11.8-13.2 เมตร สูง 4.06 เมตร ความจุ 356 คนต่อตู้ (คำนวณความหนาแน่น 4 คน/ตารางเมตร) มี 42 ขบวน 168 ตู้ ต่อพ่วงแบบ 4 ตู้ต่อขบวน รองรับผู้โดยสาร 24,100 คน/ชั่วโมง/ทิศทาง
สถานีมีทั้งหมด 32 สถานี โดยราคาที่ดินต่ำสุดอยู่ที่ 1.2 แสนบาท/ตารางวา สูงสุดอยู่ที่ 2.5 แสนบาท/ตารางวา
การเปลี่ยนแปลงราคาที่ดินแต่ละสถานีเพิ่มขึ้นไม่มาก 5-10% ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา เทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วกรุงเทพฯ-ปริมณฑลอยู่ที่ 7.9% จากจำนวน 130 สถานี
“ดร.โสภณ” ประเมินว่า การสร้างที่อยู่อาศัยหรืออสังหาริมทรัพย์ตามแนวรถไฟฟ้าสายสีชมพู อาจมีข้อจำกัด 4 ข้อด้วยกัน เริ่มจาก 1.สายสีชมพูไม่ใช่รถไฟฟ้าขนาดใหญ่ เช่น BTS จึงขนส่งได้ไม่มากนัก
2.ประชากรในพื้นที่ไม่หนาแน่นมากนัก คล้ายรถไฟฟ้าสายสีม่วง 3.มีรถประจำทาง รถตู้เสริมในพื้นที่อยู่ตลอด 4.ไม่ใช่เส้นทางที่จะมีผู้สัญจรมาก ไม่เหมือนรถไฟฟ้าสายวิ่งเข้าเมือง
โมเดลคล้ายกับทำเลรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่มีการพัฒนาที่อยู่อาศัยล้นเกินดีมานด์
ดังนั้น การลงทุนตามแนวรถไฟฟ้าสายสีชมพูจึงต้องตัดสินใจลงทุนอย่างระมัดระวังเป็นอย่างสูง
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/property/news-318123
Person read: 2158
24 April 2019