หนุน “เกษตร-SMEs” เหนือ-ใต้ รุก “กาแฟเฉพาะทาง” อัดอีเวนต์เปิดตลาดส่งออกพันล้าน

ภาพ pixabay

หลายปีที่ผ่านมา กระแสความนิยม “กาแฟพิเศษ” หรือ “กาแฟเฉพาะทาง” ที่มีความพิถีพิถันตั้งแต่การปลูก การผลิต ได้เพิ่มความนิยมมากขึ้นในประเทศไทย สังเกตได้จากการเติบโตของร้านกาแฟทางเลือก หรือ slow bar ทั้งในเขต กทม. และจังหวัดต่าง ๆ เนื่องจากเอกลักษณ์ด้านกลิ่น รสชาติ ตลอดจนรูปแบบการปลูกกาแฟ ซึ่งมีหลากหลาย รวมถึงการปลูกกาแฟในป่าที่มีการศึกษาและแพร่กระจายแนวคิดให้เกษตรกรในพื้นที่สูง ให้สามารถปลูกกาแฟที่มีคุณภาพ ควบคู่ไปกับการดูแลป่า โดยกาแฟจะให้ผลผลิตที่ดีเมื่อธรรมชาติมีความสมบูรณ์ เป็นการสร้างรายได้ให้เกษตรกรพร้อมไปกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ

“อภิชา แย้มเกษร” อุปนายกสมาคมกาแฟพิเศษไทย (Specialty Coffee Association of Thailand : SCATH) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตลาดกาแฟสดมีแนวโน้มเติบโตขึ้น และมีตลาดกาแฟพิเศษซ่อนอยู่ในนั้น เป็นกาแฟที่ถูกผลิตขึ้นอย่างพิถีพิถันทุกขั้นตอน ตั้งแต่การปลูกจนถึงมือผู้บริโภค รวมถึงวิธีการนำเสนอ คาดว่าปัจจุบันมีสัดส่วนเกือบ 10% ของตลาดกาแฟทั้งหมด โดยข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า มีมูลค่าประมาณ 5 หมื่นล้านบาท เพราะร้านกาแฟหลายแห่งตามจังหวัดหัวเมืองใหญ่มักนำเสนอกาแฟพิเศษให้ลูกค้า เช่น กาแฟคั่วบดจากบราซิล กาแฟไทยจากปางขอน อมก๋อย ขุนช่างเคี่ยน เป็นต้น

ขณะเดียวกัน มีคนไทยบางส่วนยังไม่มีความรู้เรื่องการบริโภคกาแฟมากนัก ทำให้มูลค่าของตลาดกลุ่มกาแฟพิเศษอยู่ที่ประมาณ 500-1,000 ล้านบาท/ปี ซึ่งในจำนวนนี้มีการส่งออกร่วมด้วย แต่ยังไม่มีการเก็บตัวเลขมูลค่าการส่งออกแยกชัดเจน มีทั้งตลาดสหรัฐอเมริกา ดูไบ เกาหลี เป็นต้น โดยสมาคมได้เข้าไปสนับสนุนให้ความรู้กับเกษตรกร ในการเลือกเก็บเมล็ดกาแฟที่มีลักษณะสุกแดงเต็มที่ แนะนำวิธีการ กระบวนการต้องมีความสะอาด ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เกษตรกรรุ่นใหม่มีการพัฒนากระบวนการผลิตขึ้นมาอีกขั้น เช่น การทำเป็นฮันนี่แล้วใส่เอนไซม์ลงไป การตาก การไล่ความชื้น เป็นต้น นับเป็นมิติใหม่ที่ก้าวกระโดดและเป็นความแปลกใหม่ที่มีคุณภาพ

“เป้าหมายของสมาคมกาแฟพิเศษไทยในตอนนี้ คือ เป็นแกนเพื่อส่งเสริมทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมกาแฟตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ให้ความรู้เกษตรกรในการพัฒนาคุณภาพกาแฟให้ดีขึ้น เป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ ได้มีโอกาสคุยกับนักพัฒนากาแฟอย่าง “คุณฟู-อาดี้ พิศสุวรรณ” พอเห็นได้ว่ากาแฟไทยส่งออกไปตลาดยุโรป เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น และเกาหลี มากพอสมควร รวมถึง “กาแฟพิเศษ” มีการส่งออกไปได้ไม่น้อย ทั้งที่ในประเทศยังผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการในการบริโภค โดยใน 1 ปีไทยปลูกอราบิก้าได้ประมาณ 1 หมื่นตัน แต่บริโภคมากกว่า 2 เท่า ฉะนั้นหากมีกาแฟดี จะสามารถส่งออกได้อีกมาก” อภิชากล่าว

ต่างชาติแนะเลือกสายพันธุ์ปลูก

อภิชากล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกาแฟในไทยต้องแสวงหาแหล่งปลูกที่สามารถได้รสชาติใหม่ให้กับตลาด อย่างในยุคแรกการปลูกกาแฟในไทยเป็นอราบิก้าสายพันธุ์ทิปิก้า จากนั้นมีการนำสายพันธุ์คาติมอร์เข้ามาปลูก จึงเกิดการผสมข้ามสายพันธุ์และปรับตัวตามธรรมชาติ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในไทย นอกจากนี้ ในปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญด้านสายพันธุ์กาแฟเข้ามาตรวจสอบพันธุ์กาแฟในไทยและพบว่ามีการสายข้ามพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่สามารถระบุได้ อีกทั้งการส่งเสริมการปลูกในแต่ละพื้นที่เลือกสายพันธุ์ตามความสะดวก ไม่มีการวางแผน จนผู้เชี่ยวชาญจากเวเนซุเอลาและอินโดนีเซียแนะนำให้ตั้งชื่อสายพันธุ์ใหม่ และศึกษารายละเอียดในการปลูกเพิ่ม

พัฒนา “โรบัสต้า” สู่กาแฟพิเศษ

อภิชายังกล่าวอีกว่า ในงาน Thailand Coffee Fest 2019 ที่ผ่านมามีการประกวดสุดยอดกาแฟ โดยประเมินคะแนนด้วยมาตรฐานสากลเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ ซึ่งคะแนนที่ได้สะท้อนความมุ่งมั่นของเกษตรกรในการพัฒนาการปลูกกาแฟให้ดีขึ้นและมีคุณภาพยิ่งขึ้น ทำให้สามารถนำไปโปรโมตในญี่ปุ่น จีน เกาหลีได้

ทั้งนี้ กาแฟที่นำมาประกวดส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์อราบิก้าที่ปลูกในภาคเหนือ เนื่องจากต้องปลูกในพื้นที่ที่มีความสูงมากกว่า 1,000 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ส่วนกาแฟโรบัสต้าที่ปลูกในภาคใต้ เริ่มมีการส่งเข้ามาประกวดบ้าง แต่มีจำนวนไม่ถึง 10 รายต่อปี

การเก็บเกี่ยวผลผลิตหรือเมล็ดกาแฟยังมีความแตกต่างกัน เกษตรกรของภาคเหนือจะเริ่มคุ้นชินและมีประสบการณ์ในการเก็บเมล็ดกาแฟ เพื่อมาทำการโพรเซส แต่เกษตรกรในภาคใต้ยังเก็บผลผลิตไม่ได้ตามมาตรฐานเท่าที่ควร เนื่องจากมีผู้ประกอบการที่พัฒนากาแฟโรบัสต้าเพื่อการทำเป็นกาแฟพิเศษจำนวนน้อย

โรงคั่ว SMEs ขยายตัว 100%

“โรงคั่ว” ถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เติบโตขึ้นมาพร้อมกับผลพวงของความนิยมกาแฟพิเศษในไทยที่เพิ่มมากขึ้นด้วย โดยอภิชาอธิบายว่า โรงคั่วกาแฟในไทยมีการเติบโตกว่า 100% เพราะเมื่อ 10 ปีที่แล้วมีเพียง 10-20 โรง แต่ปัจจุบันมีผู้ประกอบการโรงคั่วขนาด SMEs เกิดขึ้นมาหลายร้อยโรง เนื่องจากร้านกาแฟแต่ละแห่งต้องการรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ ได้จัดทำเครื่องคั่ว (side shop roasters) ของตัวเอง โดยเครื่องคั่วกาแฟในอดีตส่วนใหญ่มาจากทางยุโรป

ในตลาดไทยแบรนด์ที่มีความโด่งดังมักซื้อมาจากประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นของพรีเมี่ยมที่มีราคาแพง ปัจจุบันมีการสั่งซื้อมาจากญี่ปุ่น จีน และเกาหลี

ขอบคุณข้อมูจาก : https://www.prachachat.net/local-economy/news-328902

 


Person read: 2352

21 May 2019