เปิดพอร์ตฯ F&B “ไทยเบฟ” หลังคว้าสิทธิ์บริหาร “สตาร์คบัคส์” ในไทย

สร้างความฮือฮาให้กับวงการอีกครั้ง สำหรับ “ไทยเบฟเวอเรจ” บริษัทเครื่องดื่มยักษ์ของไทย ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ภายใต้การบริหารของ “ฐาปน” บุตรชายคนโต ทายาทมือวาง ที่ล่าสุด F&N Retail Connection บริษัทในเครือไทยเบฟฯ ได้จับมือกับ Maxim’s Caterers จากฮ่องกง ผู้ถือสิทธิ์บริหารร้านสตาร์บัคส์กว่า 400 สาขาในหลายประเทศ อาทิ สิงคโปร์ ฮ่องกง มาเก๊า กัมพูชา และเวียดนาม

ได้ตั้งบริษัทร่วมทุนในชื่อ  Coffee Concepts Thailand คว้าสิทธิ์บริหารร้าน “สตารบัคส์” เชนร้านกาแฟยักษ์จากสหรัฐฯ ในประเทศไทยทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว โดยช่วงปีที่ผ่านมา สตาร์บัคส์ ได้ให้ไลเซ่นการบริหารธุรกิจให้กับบริษัทอื่นในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศสและหลายประเทศในยุโรป

ปัจจุบัน สตาร์บัคส์ ในประเทศไทย มีสาขามากกว่า 330 สาขาทั่วประเทศ โดยภายในปีนี้มีแผนที่จะขยายให้ครบ 400 สาขา

เปิดแผนธุรกิจ F&B

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากย้อนกลับไป จะพบว่า ที่ผ่านมาไทยเบฟฯ ได้เพิ่มน้ำหนักและมีการลงทุนในธุรกิจ ฟู้ด แอนด์ เบเวอเรจ (F&B) มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจับมือกับพาร์ตเนอร์รายใหญ่จากฮ่องกง แม็กซิม กรุ๊ป รุกธุรกิจเบเกอรี่ การซื้อกิจการของฮาวี โลจิสติกส์ เพื่อซัพพอร์ตธุรกิจฟู้ดเซอร์วิส การเข้าซื้อกิจการของเคเอฟซีในไทย 240 สาขา ด้วยงบฯ 1.13 หมื่นล้านบาท รวมถึงการเข้าซื้อร้านอาหารไทย “สไปซ์ออฟเอเชีย” ทำให้ได้แบรนด์เข้ามาเสริมพอร์ตเพิ่มอีก 4 แบรนด์ และแบรนด์ใหม่ล่าสุด “เกนกิ ซูชิ” ที่ซื้อเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

รายงานข่าวจากบริษัทไทยเบฟฯ ระบุว่า ตั้งแต่ต้นปี 2562 ที่ผ่านมา ได้ทยอยตั้งบริษัทย่อยในกลุ่ม ฟู้ดแอนเบเวอเรจ (F&B) เพิ่มถึง 6 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท ฟู้ด แอนด์ เบฟเวอเรจ โฮลดิ้ง จำกัด, บริษัท กรีน บีน จำกัด, บริษัท เอฟแอนด์เอ็น อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง จำกัด , บริษัท เอฟแอนด์เอ็น รีเทล คอนเนคชั่น จำกัด, บริษัท เจแปนนิส ไดนนิ่ง คอนเซ็ปตส์ (ไทยแลนด์) จำกัด และบริษัท เกนกิ ซูชิ (ไทยแลนด์) จำกัด

นอกจากนี้ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ยังเปิดตัวร้านโมเดลใหม่ ในชื่อ “food zone” ข้างอาคารแสงโสม สำนักงานใหญ่ ถนนวิภาวดีรังสิต เป็นพื้นที่สแตนด์อะโลน โรดไซด์ จำนวน 4 แบรนด์ อาทิ เคเอฟซี, คาคาชิ, โซอาเซียน คาเฟ่ และเอ็มเอ็กซ์ เค้ก แอนด์ เบเกอรี่

โดยรายได้จากธุรกิจอาหารในปีที่ผ่านมาของไทยเบฟ เติบโตขึ้น 96.8% หรือคิดเป็นมูลค่า 1.3 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 6% ของรายได้ทั้งหมด 2.3 แสนล้านบาท โดยการเติบโตหลัก ๆ มาจากการซื้อกิจการแฟรนไชส์เคเอฟซีในประเทศไทย 240 สาขา ตลอดจนการบริหารต้นทุนที่ดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา จากปี 2560 บริษัทมีรายได้จากธุรกิจอาหาร ประมาณ 7.6 พันล้านบาท คิดเป็น 4% ของรายได้ทั้งหมด 1.9 แสนล้านบาท

ธุรกิจอาหารเครือไทยเบฟในปัจจุบัน

สำหรับธุรกิจอาหารในเครือไทยเบฟ ประกอบด้วย 1.กลุ่มธุรกิจอาหารของโออิชิ แบ่งเป็น ร้านอาหารสไตล์ญี่ปุ่นกว่า 250 สาขา ได้แก่ โออิชิ แกรนด์, ชาบูชิ, โออิชิ อีทเทอเรียม, โออิชิ บุฟเฟต์, นิกุยะ, โออิชิ ราเมน, คาคาชิ และอาหารพร้อมปรุงและพร้อมทาน

2.กลุ่มธุรกิจร้านอาหารของฟู้ดออฟเอเชีย แบ่งเป็น ร้านภายใต้แบรนด์ของตัวเอง อาทิ ฟู้ด สตรีท, โซ อาเซียน คาเฟ่ แอนด์ เรสเตอร์รองท์, ไฮด์ แอนด์ ซีค, หม่านฟู่ หยวน, บ้านสุริยาศัย ร้านที่เป็นการร่วมทุนกับพาร์ตเนอร์ อาทิ เอ็มเอ็กซ์ เค้ก แอนด์ เบเกอรี่, คาเฟ่ ชิลลี่, พอท มินิสทรี, เสื้อใต้ และอีท พอท และร้านที่เป็นแฟรนไชซี ได้แก่ เคเอฟซี

ทั้งนี้ ไทบเบฟฯ มีเป้าหมายที่จะผลักดันธุรกิจฟู้ดแอนด์เบฟเวอเรจ เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่จะเข้ามาเสริมทัพกลุ่มเครื่องดื่มน็อนแอลกอฮอล์ ให้เติบโตตามวิสัยทัศน์ 2020 ที่วางเอาไว้ คือ มีสัดส่วนรายได้คิดเป็นสัดส่วน 50% ของพอร์ตผ่านกลยุทธ์ความหลากหลาย โดยร้านอาหารของไทยเบฟจะครอบคลุมตั้งแต่สตรีตฟู้ด ไปจนถึงไฟน์ไดนิ่ง สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกไลฟ์สไตล์

นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายการลงทุนในธุรกิจ ฟู้ด แอนด์ เบเวอเรจ ที่เป็นน็อนแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่อง ทั้งการขยายสาขาและพัฒนาร้านในโมเดลต่าง ๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์ใหม่ การร่วมทุน และการลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ทั้งในและต่างประเทศ

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/marketing/news-330368


จำนวนผู้อ่าน: 2653

25 พฤษภาคม 2019