จิ๊กซอว์ใหม่ ! เจ้าสัวเจริญ เซอร์ไพรส์ซื้อ “สตาร์บัคส์”

ยังเดินหน้าลงทุนขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง สำหรับ “ไทยเบฟเวอเรจ” บริษัทเครื่องดื่มยักษ์ของ เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่ล่าสุดได้คว้าสิทธิการบริหาร “ร้านสตาร์บัคส์” ร้านกาแฟชื่อดังมาครอง หลังจากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้ทยอยทุ่มงบฯลงทุนเพื่อสร้างแบรนด์ร้านอาหาร ทั้งร้านอาหารไทย-จีน-ญี่ปุ่น ร้านเบเกอรี่ ร้านขนม-เครื่องดื่ม รวมถึงการลงทุนซื้อกิจการมาอย่างต่อเนื่อง

ดีลใหญ่ครั้งนี้ ไทยเบฟฯได้ลงทุนผ่าน F&N Retail Connection บริษัทในเครือ ที่ตั้งขึ้นมาเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และจับมือกับ Maxim”s Caterers จากฮ่องกง ผู้ถือสิทธิ์บริหารร้านสตาร์บัคส์กว่า 400 สาขาในหลายประเทศ อาทิ สิงคโปร์ ฮ่องกง มาเก๊า กัมพูชา และเวียดนาม โดยได้ตั้งบริษัทร่วมทุนในชื่อ Coffee Concepts Thailand

สื่อในต่างประเทศรายงานว่า “สตาร์บัคส์” ได้มอบสิทธิ์ให้ Coffee Concepts Thailand เป็นผู้ดูแลการทำธุรกิจการบริหารและขยายสาขาร้านสตาร์บัคส์ในประเทศไทย แต่เพียงผู้เดียว จากก่อนหน้านี้ที่สตาร์บัคส์ได้ให้ไลเซนส์การบริหารธุรกิจให้กับบริษัทอื่นในหลาย ๆ ประเทศในยุโรป รวมทั้งในฝรั่งเศส

ดีลที่เกิดขึ้นแม้จะไม่มีการระบุรายละเอียดถึงจำนวนเงินที่ไทยเบฟฯต้องจ่ายเพื่อแลกกับสิทธิ์ดังกล่าว แต่คนในวงการประเมินว่า ต้องเป็นเม็ดเงินที่มีมูลค่าไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะชื่อชั้นของแบรนด์สตาร์บัคส์ในวันนี้ คือ เชนร้านกาแฟ อันดับ 1 ของโลก และมีสาขาทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 24,000 สาขา

ส่วนในเมืองไทย ปัจจุบันคาดว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 330-350 สาขาทั่วประเทศ และภายในปีนี้ สตาร์บัคส์ประกาศว่า ต้องการจะขยายให้ครบ 400 สาขา

เรียกว่าสร้างความฮือฮาให้กับแวดวงธุรกิจ และทำให้ธุรกิจร้านกาแฟ ที่ว่ากันว่ามีมูลค่าตลาดรวมเฉียด ๆ 20,000 ล้านบาท คึกคักขึ้นไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนกลับไปจะพบว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลง ครั้งที่ 3 ของ “สตาร์บัคส์” ในรอบกว่า 21-22 ปี ในเมืองไทย

จากสาขาแรกที่เซ็นทรัล ชิดลม เมื่อกลางปี 2541 ในนามบริษัท คอฟฟี่ พาร์ทเนอร์ส จำกัด บริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท สตาร์บัคส์ คอฟฟี่ จำกัด และบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) จากนั้นเมื่อปี 2543 บริษัท สตาร์บัคส์ คอฟฟี่ ได้มาถือสิทธิ์กิจการทั้งหมดของบริษัท คอฟฟี่ พาร์ทเนอร์ส ทำให้สตาร์บัคส์ในประเทศไทย ดำเนินการโดยบริษัท สตาร์บัคส์ คอฟฟี่ (ไทยแลนด์) จำกัด

ก่อนหน้านี้ ผู้บริหารระดับสูงบริษัทไทยเบฟฯระบุว่า บริษัทมีเป้าหมายจะผลักดันธุรกิจฟู้ดแอนด์เบฟเวอเรจ (F&B) ให้เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่จะเข้ามาเสริมทัพกลุ่มเครื่องดื่มน็อนแอลกอฮอล์ ให้เติบโตตามวิสัยทัศน์ 2020 ที่วางเอาไว้ คือ มีสัดส่วนรายได้คิดเป็นสัดส่วน 50% ของรายได้รวม ผ่านกลยุทธ์ความหลากหลาย โดยร้านอาหารของไทยเบฟฯจะครอบคลุมตั้งแต่สตรีตฟู้ด ไปจนถึงไฟน์ไดนิ่ง สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายการลงทุนในธุรกิจ F&B ที่เป็นน็อนแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่อง

“ร้านสตาร์บัคส์” จึงเปรียบเสมือน “กุญแจ” สำคัญดอกหนึ่งที่จะช่วยสร้างให้ วิสัยทัศน์ 2020 ถึงเป้าหมายได้ง่ายขึ้น

หากพิจารณาลงไปในรายละเอียดจะพบว่า ปีที่ผ่านมา (ตุลาคม 2560-กันยายน 2561) ไทยเบฟฯมีรายได้รวม 230,000 ล้านบาท เป็นธุรกิจเหล้า 46% ธุรกิจเบียร์ 41% ธุรกิจอาหาร 6% และธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 7%

ถ้าเมื่อนำสัดส่วนรายได้ของธุรกิจอาหารบวกกับธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ จะพบว่ามีสัดส่วนเพียง 13% ของรายได้รวม ขณะที่ธุรกิจเหล้า-เบียร์ยังเป็นพอร์ตใหญ่ที่มีสัดส่วนถึง 87%

นั่นหมายความว่า เพื่อให้วิสัยทัศน์ปี 2020 สัมฤทธิผล จากนี้ไปไทยเบฟฯจะต้องเปิดเกมรุกอย่างหนัก ทั้งการขยายสาขา การพัฒนาร้านในโมเดลต่าง ๆ การสร้างแบรนด์ใหม่ การร่วมทุน และการลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ทั้งในและต่างประเทศ

โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างบริษัท F&N บริษัทอาหาร เครื่องดื่ม ยักษ์ใหญ่ในสิงคโปร์ และมาเลเซีย ที่จะเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าว

หลังจากกลุ่ม TCC ของเจ้าสัวเจริญเทกโอเวอร์กิจการของ F&N ไปเมื่อปี 2556 ที่ผ่านมา ทำให้ TCC Group ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นหลัก และไทยเบฟฯมีสัดส่วนรองลงมา และไทยเบฟฯรับรู้เพียงแค่กำไร/ขาดทุนเท่านั้น

แต่หากไทยเบฟฯสามารถสวอปหุ้นกับ TCC และกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ได้สำเร็จเมื่อไหร่ รายได้ของ F&N ก็จะถูกนำมาคำนวณในพอร์ตรายได้ของไทยเบฟฯทันที

นั่นหมายความว่า ไทยเบฟฯจะมีรายได้เพิ่มอีกประมาณ 4.8-5 หมื่นล้านบาท (อ้างอิงจากผลประกอบการของ F&N ในปี 2561) เข้ามาเติมสัดส่วนรายได้ของน็อนแอลกอฮอล์ให้เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทั้งนี้ เพื่อให้ถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/marketing/news-331121


จำนวนผู้อ่าน: 2056

27 พฤษภาคม 2019