ดีอี kick off กระบวนการ PPP ดาวเทียม เปิดทางเอกชนรับช่วงบริหาร หลัง “ไทยคม” หมดสัมปทาน ก.ย. 2564 มั่นใจอีก 1 ปี เซ็นสัญญารายใหม่ ฟาก “แคท” เปิดดีล “ไทยคม” หวังควงคู่ยื่นข้อเสนอ PPP ต่อยอดธุรกิจสื่อสารดาวเทียมเดิม
นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เพิ่งได้รับอนุมัติให้แปลงงบประมาณ 6.7 ล้านบาท จ้างที่ปรึกษาการเข้าร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในรูปแบบ PPP เพื่อบริหารดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ไทยคม 5 และไทยคม 6 หลังสิ้นสุดสัมปทานกับ บมจ.ไทยคม เดือน ก.ย. 2564 โดยเป็นการดำเนินการตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 29 ม.ค. 2562 ที่เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการดาวเทียมทุกดวงที่มีอายุทางวิศวกรรมเหลืออยู่หลังสิ้นสุดสัญญา รวมทั้งทรัพย์สินต่าง ๆ ตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556
Kick Off ก่อนสิ้น มิ.ย.
“ภายใน มิ.ย.นี้จะประกาศคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งจะมีหน้าที่เก็บข้อมูลทั้งหมด ต้องทำรายละเอียดโครงการ เขียน TOR ทำขั้นตอนในส่วนของการประชาพิจารณ์เงื่อนไขทั้งหมด แม้กระทั่งจะต้องเป็นที่ปรึกษาในการคัดเลือกคนที่ยื่นข้อเสนอ PPP มาทั้งหมดว่า ใครมีความเหมาะสมที่สุด”
กรอบเวลาการทำงานของที่ปรึกษาโครงการที่กำหนดไว้ คือ ให้เวลา 3 เดือน เพื่อเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อส่งรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ รวมถึงร่าง TOR เสนอต่อรัฐมนตรี แล้วส่งต่อให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณา ก่อนที่จะเสนอให้คณะกรรมการ PPP เห็นชอบในหลักการ และเสนอเข้า ครม.เพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการและวงเงินงบประมาณ ซึ่งส่วนนี้น่าจะใช้เวลาทั้งหมดราว 6 เดือนจากนั้นจะประกาศ TOR เพื่อเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการ มีการตั้งคณะกรรมการคัดเลือกและเจรจาผลประโยชน์ตอบแทน ส่งร่างสัญญา PPP ให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณา ก่อนเสนอเข้าที่ประชุม ครม. พิจารณาผลการคัดเลือกเอกชนเพื่อลงนามในสัญญา
ปลายปี”63 ลงนาม PPP
“กรอบเวลาการทำ PPP ตาม พ.ร.บ.จะอยู่ที่ 12 เดือน ก็หวังว่า มิ.ย. 2563 น่าจะได้เอกชนที่จะเข้ามา PPP ดาวเทียม ประเมินแล้วน่าจะได้ทำสัญญาก่อนปลายปี 2563”
เหตุที่เปิด PPP เฉพาะดาวเทียมไทยคม 4 ไทยคม 5 และไทยคม 6 นั้น เนื่องจากข้อพิพาทกับ บมจ.ไทยคม เกี่ยวกับสถานะของดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 ว่าเป็นดาวเทียมภายใต้สัมปทานหรือไม่นั้น กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ ซึ่งไม่สามารถระบุได้ว่าจะได้ข้อยุติเมื่อใด และหากได้ข้อยุติแล้วจะมีการพิจารณาเกี่ยวกับการบริหารดาวเทียมทั้ง 2 ดวงต่อไป
เปิดทาง “แคท” ทำดาวเทียม
ขณะที่การผลักดันให้รัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดของกระทรวงอย่าง บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) นั้น ปลัดดีอีเปิดเผยว่า การคัดเลือกเอกชนเข้ามาบริหารดาวเทียมไทยคมหลังสิ้นสุดสัมปทาน จะเปิดกว้างให้กับเอกชนที่มีคุณสมบัติเหมาะสม หากแคทจะเข้ามาทำธุรกิจดาวเทียมเต็มตัวก็เป็นสิ่งที่บอร์ดบริษัทจะต้องพิจารณา
“แคทจะมาเองหรือจะจับมือกับเอกชนมายื่นข้อเสนอ กระทรวงไม่ควรเข้าไปก้าวก่าย เพราะเป็นเรื่องของธุรกิจที่แต่ละองค์กรต้องตัดสินใจเอง ขณะเดียวกัน กระทรวงถือเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ดาวเทียมที่จะเปิดให้ PPP จึงมีฐานะที่ยิ่งไม่ควรเข้าไปก้าวก่าย”
แคทเปิดดีล “ไทยคม”
ตั้งแต่ บมจ.ไทยคมได้รับสัมปทานในปี 2534 ได้ส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรไปแล้ว 8 ดวง ได้แก่ ไทยคม 1 ไทยคม 2 และไทยคม 3 ซึ่งปลดระวางไปแล้ว คงเหลือดาวเทียมที่ยังให้บริการอยู่ คือ ไทยคม 4 ไทยคม 5 ไทยคม 6 ไทยคม 7 และไทยคม 8 ขณะที่การนำส่งส่วนแบ่งรายได้ตามสัมปทานตลอด 30 ปี บริษัทรับประกันรายได้ไว้ที่ 1,415 ล้านบาท แต่ที่ผ่านมา บมจ.ไทยคมได้จ่ายส่วนแบ่งรายได้ในจำนวนที่มากกว่าประกันขั้นต่ำกว่า 150%
ด้านแหล่งข่าวระดับสูงใน บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) เปิดเผยว่า แม้ปัจจุบันรายได้จากธุรกิจดาวเทียมของไทยคมจะมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง แต่การเข้าไปบริหารดาวเทียมในรูปแบบ PPP หลังสิ้นสุดสัมปทานยังมีโอกาสที่จะทำรายได้เพิ่ม ด้วยการต่อยอดจากธุรกิจให้บริการระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมที่แคทมีอยู่แล้ว โดยขณะนี้กำลังเจรจากับ บมจ.ไทยคม ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจดาวเทียม เพื่อจับมือเป็นพันธมิตรเข้ายื่นข้อเสนอ PPP
โดยจากรายงานของ Global Satellite Capacity Supply and Demand Study พบว่า ยังมีความต้องการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมเพื่อแพร่ภาพโทรทัศน์อย่างต่อเนื่อง ด้วยเทรนด์ของการรับชมการแพร่ภาพที่เปลี่ยนมาสู่ความคมชัดสูง (HD) ขณะที่กว่า 60% ของครัวเรือนในประเทศไทยยังรับชมทีวีผ่านดาวเทียมเป็นหลัก รวมถึงความต้องการใช้ดาวเทียมบรอดแบนด์ยังเติบโตต่อเนื่องในอีก 10 ปีข้างหน้า ทั้งยังมีการใช้ดาวเทียมเพื่อเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์ม OTT (over the top) เพื่อเผยแพร่คอนเทนต์ออนไลน์
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/ict/news-343847
จำนวนผู้อ่าน: 3483
28 มิถุนายน 2019