ฝรั่งซื้อหุ้นไทยต่ออีก 6 หมื่นล้าน
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ เปิดเผยว่า บริษัทคงเป้าเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ปีนี้ไหลเข้าซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยมากกว่า 1 แสนล้านบาท เนื่องจากมองว่าตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (YTD) นักลงทุนต่างชาติยังซื้อสุทธิตลาดหุ้นไทยต่ำกว่าตลาดหุ้นอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย (laggard) แม้ตัวเลขฟันด์โฟลว์ที่ซื้อสุทธิหุ้นไทยเดือน มิ.ย. 62 จะออกมาสูงที่สุดในภูมิภาค แต่นโยบายการเงินที่เปลี่ยน ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับขึ้น ต่างชาติจึงหันมาหาโอกาสลงทุนในตลาดหุ้นที่ยังขึ้นไม่มาก หรือตลาดหุ้นที่นักลงทุนต่างชาติยังลงทุนน้อยอย่างตลาดหุ้นไทยรวมทั้งการจัดตั้งรัฐบาลที่ใกล้เข้ามาซึ่งคาดว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเพื่อผลักดันเศรษฐกิจให้เดินต่อไปได้
โดยปัจจุบันมีฟันด์โฟลว์ไหลเข้ามาซื้อสุทธิแล้ว 5 หมื่นล้านบาท และคาดว่าครึ่งปีหลังจะเห็นฟันด์โฟลว์ไหลกลับเข้ามาซื้อสุทธิอีก 6 หมื่นล้านบาท หรือเข้ามาซื้อสุทธิเดือนละ 1 หมื่นล้านบาท หลังจากช่วง 6 ปีที่ผ่านมาฟันด์โฟลว์มีการขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยกว่า 6 แสนล้านบาท ดังนั้น การที่ฟันด์โฟลว์จะไหลกลับเข้ามาซื้อสุทธิถึงระดับ 1.1 แสนล้านบาทจึงเป็นไปได้ไม่ยาก
นายไพบูลย์กล่าวว่า เงินบาทที่แข็งค่าในปัจจุบันเชื่อว่าเป็นเพียงภาวะชั่วคราวหรือเป็นปัจจัยระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งเป็นผลจากการที่ฟันด์โฟลว์ไหลเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินในตลาดตราสารหนี้สูงกว่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็เริ่มตื่นตัวกับการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าแล้ว ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธุรกิจส่งออก เชื่อว่ารัฐบาลจะมีมาตรการออกมากระตุ้นเศรษฐกิจช่วยเหลือ
นอกจากนี้เชื่อว่าเงินบาทที่แข็งค่าจะไม่กดดันขีดความสามารถของตลาดหุ้น เนื่องจากภาคการส่งออกที่มีสัดส่วนสูงถึง 70% ต่อจีดีพีประเทศไทย ไม่ได้เป็นอุตสาหกรรมหลักที่มีผลกระทบต่อตลาดหุ้น
ลุ้นเฟดลดดอกเบี้ยดันดัชนี
นายวิวัฒน์ เตชะพูลผล รองกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ทางเทคนิค บล.ทิสโก้ มองว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET index) ในเดือน ก.ค. 62 จะปรับขึ้นไปทดสอบแนวต้านที่ 1,760 จุดได้ โดยได้รับแรงหนุนจากปัจจัยสงครามการค้าสหรัฐกับจีนสงบศึกกันชั่วคราว รวมถึงได้รับแรงหนุนจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายทั่วโลก โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่คาดว่าจะเห็นการปรับดอกเบี้ยลง 0.25% ในการประชุมวันที่ 31 ก.ค.นี้ หาก SET index สามารถเคลื่อนผ่านแนวต้าน 1,760 จุดได้ คาดว่าจะขึ้นไปทดสอบแนวต้านถัดไปที่ 1,810 จุด และ 1,850 จุด
บัวหลวงหั่นกำไร บจ.
นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานค้าหลักทรัพย์บุคคล บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง เปิดเผยว่า ฝ่ายวิจัยปรับลดกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ปี 2562 จากเดิมประเมินไว้ที่กำไรต่อหุ้น (EPS) 110 บาท/หุ้น ลดลงมาที่ 103 บาท/หุ้น เนื่องจากกำไร บจ.ไตรมาส 1/62 ออกมาต่ำกว่าที่บริษัทคาดการณ์ไว้ เป็นผลกระทบจากเศรษฐกิจไทยเติบโตไม่ดีนัก สงครามการค้ากดดันการส่งออก นักท่องเที่ยวฟื้นตัวช้า และการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาช้ากว่าที่คาดเอาไว้ ขณะที่เป้าหมายดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET index) ปีนี้ยังคงไว้ที่ 1,670 จุด ในกรณีปกติ และ 1,750 จุด ในกรณี best case
“เหตุที่เรายังไม่ปรับเป้า SET index ขึ้น เนื่องจากมองว่าทิศทางผลประกอบการ บจ.ไตรมาส 2/62 จะหดตัวลงเช่นกัน ทั้งเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2562 โดยเมื่อดูจากปัจจัยพื้นฐานของ บจ.ที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลง กำไร บจ.ครึ่งปีแรกต่ำกว่าที่ประมาณการ และตัวเลขเศรษฐกิจต่าง ๆ ยังไม่สดใส จึงยังคงเป้าดัชนีปีนี้ไว้ที่ระดับเดิม” นายชัยพรกล่าว
SCBS จับตา 2 ปัจจัยเสี่ยง
นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งปีหลัง ยังคงต้องติดตามประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนต่อเนื่อง แม้ว่าช่วงนี้จะเป็นสถานการณ์พักรบ แต่คาดว่าเงื่อนไขเจรจาการขึ้นภาษีคงจะเข้มขึ้น และยังคงมีความเสี่ยงที่จะเป็นตัวฉุดรั้ง ทั้งตลาดการเงินและภาวะเศรษฐกิจโลก ในขณะที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงปลายวัฏจักรขาขึ้นอยู่แล้ว โดยสงครามการค้าอาจจะส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย จึงเชื่อว่าสหรัฐกับจีนจะสามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้าบางอย่างร่วมกันได้บ้างในอนาคต
ส่วนทิศทางดอกเบี้ยของการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประเมินว่าจากการที่สหรัฐชะลอการขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้การประชุมเฟดในสิ้นเดือน ก.ค. 62 “น่าจะคงดอกเบี้ย” ซึ่งอาจจะต้องดูทิศทางเศรษฐกิจอีกทีหนึ่ง โดยเป็นไปได้เฟดอาจจะรอปรับลดดอกเบี้ยช่วงเดือน ก.ย. 62 ถ้าเฟดลดดอกเบี้ยคาดว่าทาง ธปท.ก็จะลดดอกเบี้ยด้วย เพราะค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี และแข็งสูงสุดในภูมิภาคด้วย แม้ว่าแบงก์ชาติจะออกมาตรการลดปริมาณการออกพันธบัตรเพื่อลดการเก็งกำไรค่าเงินบาท ซึ่งคงจะไม่ได้ผลมากนัก ฉะนั้นทิศทางดอกเบี้ยไทยคงเป็นไปตามในทิศทางดอกเบี้ยโลก ช่วงครึ่งปีหลังแนะนำการปรับพอร์ตการลงทุนเน้นหุ้น domestic play เพื่อเตรียมรับกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ที่คาดว่าจะออกช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4/62
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-345782
จำนวนผู้อ่าน: 2117
04 กรกฎาคม 2019