จี้รัฐบาลใหม่อัดแผนกระตุ้น เอกชนชงข้อเสนอถกทีมเศรษฐกิจ

เอกชนพาเหรดเรียกร้อง “รัฐบาลใหม่” เร่งอัดฉีดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทันทีหลังรับตำแหน่ง สะท้อนกำลังซื้อทรุดหนักทั่วไทย กกร.เตรียมเข้าหารือทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ ชงข้อมูล-แนวทางแก้ปัญหา “สหพัฒน์” จี้แก้ปมราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ แบงก์ชาติเผยสัญญาณ “เลิกจ้าง” กลุ่มส่งออก

เรียกร้องมาตรการกระตุ้น ศก.

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า รายชื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ออกมาขณะนี้ส่วนใหญ่มีทีมเศรษฐกิจชุดเดิม ถึงแม้จะมีมือใหม่ผสมบ้าง แต่เชื่อว่าจะสามารถสานต่อนโยบายด้านเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ ถือว่าเป็นข้อดีเนื่องจากจะสร้างความมั่นใจให้เอกชนที่เตรียมจะลงทุนสามารถตัดสินใจได้ ขณะเดียวกันต้องการให้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาโดยด่วน หลังจากที่เข้าทำงานตั้งแต่สัปดาห์แรก เพราะเชื่อว่าคนที่รู้ตัวว่าจะมีชื่ออยู่ใน ครม. โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจคงมีการหารือกันว่าจะทำอะไรหลังจากเข้ารับตำแหน่ง เพราะต้องยอมรับว่าตอนนี้เศรษฐกิจในประเทศค่อนข้างสะดุด และอาจถึงขั้นซบเซาในอนาคตอันใกล้ หากมีมาตรการช่วยเหลือออกมาโดยด่วนก็จะช่วยในส่วนนี้ได้บ้าง ซึ่ง ส.อ.ท.ก็พร้อมที่จะให้ข้อมูลและทำงานร่วมกับทีมเศรษฐกิจของคณะทำงานชุดใหม่อย่างเต็มที่

เตรียมหารือทีม ศก.ชุดใหม่

ด้านนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนยังคงมั่นใจและเชื่อมั่นในการเดินหน้าบริหารงานของรัฐบาลและทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ สิ่งที่ภาคเอกชนให้ความสำคัญมากสุดคือการเดินหน้าทำงานตามแผนงานเดิมที่รัฐบาลชุดเดิมได้ดำเนินการไว้เพื่อให้งานเดินหน้าไปได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีผลต่อความเชื่อมั่นกับทั้งนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

ในส่วนของสภาหอฯรวมถึงคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จะร่วมกันสรุปข้อมูลปัญหาและอุปสรรค รวมถึงประเด็นที่ต้องการให้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาดูแล โดยจะรวบรวมข้อมูลเพื่อที่จะเข้าไปนำเสนอให้กับรัฐบาลชุดใหม่ รวมไปถึงผู้บริหารกระทรวงเศรษฐกิจในการผลักดันแก้ไขต่อไป โดยเฉพาะเรื่องของการแก้ไขกฎระเบียบของภาครัฐในการประกอบธุรกิจ

อุตฯส่งออกดิ้นลดต้นทุน

นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย เปิดเผยว่า จากปัญหาเงินบาทแข็งค่า ยอมรับว่า ทุกอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบหมด ไม่เพียงแค่อุตฯเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งมีผลต่อต้นทุนเพิ่มขึ้น เช่น ส่งออกสินค้าราคา 200 บาท แต่จากบาทแข็งทำให้ได้เงินกลับมาเพียง 190 บาท โดยผู้ส่งออกมองว่าค่าเงินบาทที่เหมาะสมไม่ควรต่ำกว่า 31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ สิ่งที่ผู้ส่งออกทำได้ในตอนนี้คือการเจรจาต่อรองและทำความเข้าใจกับผู้นำเข้า

“เงินบาทที่แข็งค่าทำให้ราคาสินค้าไทยสูงขึ้น อย่างไรก็ตามช่วงนี้เป็นช่วงการส่งสินค้าเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งการเจรจาซื้อขายไปก่อนหน้านี้แล้ว ทำให้การส่งออกมีรายได้ที่กลับมาน้อยลงสำหรับคำสั่งซื้อจะเข้ามาอีกทีช่วงปลายปี 2562 ซึ่งมองว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้น ช่วงนี้ผู้ผลิตสินค้าส่งออกก็ต้องปรับตัวลดต้นทุน”

ธปท.เตือนสัญญาณ “เลิกจ้าง”

ขณะที่นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งปีแรก ธปท.ปรับลดคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปี 2562 ลงมาอยู่ที่ 3.3%โดยในช่วงครึ่งปีหลังมีสัญญาณที่ต้องจับตาหลายตัว โดยเฉพาะการบริโภคภาคครัวเรือนที่ยังไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัว โดยธปท.เริ่มเห็นสัญญาณการเลิกจ้างงานในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกซึ่งอาจกระทบถึงการจับจ่ายใช้สอยที่ลดลงไป

สหพัฒน์จี้แก้ราคาเกษตรตกต่ำ

นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภครายใหญ่ แสดงความเห็นกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังการจัดตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคมนี้ สิ่งที่รัฐบาลต้องทำเร่งด่วนคือการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ ทำอย่างไรให้เกษตรกรไม่ขาดทุน อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาคงต้องใช้เวลา เพราะกำลังซื้ออยู่ ๆ ไม่ใช่ว่าจะดีได้เลย ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างไร จะแก้ปัญหาราคาพืชผลอย่างไร เชื่อว่ารัฐบาลชุดนี้มีนโยบายดีก็จะสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้

“ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไร สหพัฒน์ก็ต้องประคับประคองธุรกิจให้เดินหน้าต่อไป กำลังซื้อรากหญ้าไม่ดี เราก็จะจัดแคมเปญขึ้นมากระตุ้นเป็นระยะ ๆ อย่างเดือน ก.ค.นี้ มาม่า คัพ ก็มีแคมเปญชิงโชครถยนต์ โทรศัพท์มือถือ ทำมาตลอดปีที่แล้วก็มีแจกรถยนต์ กิจกรรมต้องมีต่อเนื่อง”

ด้านนายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่งและค้าปลีกไทย กล่าวว่า การจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้าส่งผลกระทบถึงกำลังซื้อของผู้บริโภค ทำให้ไม่กล้าจับจ่ายและกระทบเป็นลูกโซ่ถึงธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง สิ่งที่น่าเป็นห่วงและรัฐบาลควรให้ความสำคัญก็คือ เรื่องราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ซึ่งจะส่งผลกระทบกับกำลังซื้อของเกษตรกรโดยตรง

ธุรกิจอัดงบฯกระตุ้นยอด

นายณรงค์ ตรีสุชน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดนท์สุ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทวางแผนสื่อโฆษณารายใหญ่ ระบุว่า ครึ่งปีหลังนี้ธุรกิจก็คงจะอัดงบโฆษณาและกิจกรรมแคมเปญการตลาดออกมาเป็นระลอก ๆ มากกว่าครึ่งปีแรก ขณะนี้หลาย ๆ ธุรกิจเริ่มมีความเคลื่อนไหว โดยเฉพาะกลุ่มค้าปลีก ร้านอาหาร ที่ทยอยออกแคมเปญต่อเนื่อง คาดว่าในช่วงไตรมาส 3 ก็จะเห็นภาพกลุ่มรถยนต์ที่จะกลับมาทำกิจกรรมจัดอีเวนต์มากขึ้น

“หลังจากช่วงหน้าฝนที่เป็นโลว์ซีซั่นคาดว่าธุรกิจคงปล่อยแคมเปญ ใส่งบการตลาดเต็มที่ เพราะต้องกระตุ้นยอดขาย”

CPF เดินหน้าลงทุนต่อ

สำหรับนายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าวว่า หากการจัดตั้งรัฐบาลเป็นที่เรียบร้อย ก็จะช่วยให้ภาคเอกชนเกิดความมั่นใจ และจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังให้มีขยายตัวดีขึ้น ขณะที่บริษัทยังคงมีแผนขยายการลงทุนปีละ 30,000 ล้านบาท ทั้งเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและการควบรวมกิจการ (M&A)

“กรณีผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่าเราก็ดูเรื่องการทำเฮดจิ้งโพซิชั่นอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามซีพีเอฟมีสัดส่วนส่งออกประมาณ 5% เท่านั้น ขณะที่มีการนำเข้าสินค้าจำนวนเยอะเหมือนกัน พอหักลบกันระหว่างที่ส่งออกและนำเข้า สุทธิแล้วเราเป็นนำเข้าประมาณ 100-200 ล้านเหรียญแต่แน่นอนว่าใครดูแลส่งออกจะแย่หน่อยรายได้เข้าน้อยลง แต่เราได้ประโยชน์ในฝั่งนำเข้าซึ่งเป็นไซด์ที่มากกว่าส่งออก”

ค้าปลีกอุดรดิ้นดึงกำลังซื้อ

นายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท ตั้งงี่สุนซูเปอร์สโตร์ จำกัด จ.อุดรธานี เปิดเผยว่า ผลการตั้งรัฐบาลล่าช้าทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าช้าลง การเมืองไม่มีความที่ชัดเจน ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจไม่ดี การท่องเที่ยวก็หดตัวและโครงการประชารัฐยังคงเป็นวิธีการที่พ่อหาเงินป้อนให้ลูกอย่างเดียว และบางคนได้ บางคนไม่ได้ อาจกระตุ้นกำลังได้แต่ไม่ยั่งยืน สิ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องทำเป็นอันดับแรกคือสร้างความเชื่อมั่นให้กลับมาเร็วที่สุด

“ผมในฐานะผู้ประกอบการต้องดิ้นรนทุกวิถีทาง ต้องคุยกับทุกฝ่ายอัดโปรโมชั่นหนัก ๆ เพื่อให้ไปต่อได้ ต้องแย่งลูกค้ากับเจ้าอื่น แม้ลูกค้าบางกลุ่มมีเงินน้อยแต่ก็ยังต้องการสินค้า โดยสถานการณ์ปัจจุบันทำรายได้หดไปประมาณ 10-15% ฉะนั้นถ้ามีการตั้งรัฐบาลได้เร็วเท่าไหร่ยิ่งดี แต่ก็ต้องดูกันต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร”

อสังหาฯชลบุรีชะลอหนัก

นายมีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดชลบุรี กล่าวว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจในจังหวัดชลบุรีค่อนข้างนิ่ง เนื่องจากการท่องเที่ยวในพื้นที่พัทยาชะลอตัว โดยภาคเอกชนทั้งในสภาอุตสาหกรรมและหอการค้าจังหวัดก็มีการหารือ แต่ยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจนว่าจะสามารถผลักดันนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่เป็นจุดขายของพื้นที่ ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นได้อย่างไร

ส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เดิมเป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจในพื้นที่ ปัจจุบันการซื้อขายชะลอตัวลงกว่า 30% ขณะที่ราคาที่ดินก็ไม่ได้ปรับลง ผู้ประกอบการต้องปรับตัวอย่างรุนแรง เนื่องจากราคาที่ดินปรับตัวขึ้นไปสูงมาก จนทำให้การนำที่ดินมาพัฒนาเป็นอสังหาริมทรัพย์ไม่ตอบสนองต่อกำลังซื้อของคนในพื้นที่ ประกอบกับผู้บริโภคส่วนใหญ่มีภาระหนี้ค่อนข้างสูง ทั้งบัตรเครดิต และรถยนต์ ส่งผลให้ยอดปฏิเสธการขอสินเชื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์สูง ปัจจุบันพบว่าผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในชลบุรีหลายรายมีการชะลอโครงการ และบางรายก็หันมาตัดขายที่ดินเปล่าแทนการพัฒนาโครงการ

ขณะที่นายวโรดม ปิฏกานนท์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า เนื่องจากการจัดตั้งรัฐบาลได้ใช้เวลาสืบเนื่องค่อนข้างนาน ทำให้ช่วงที่ผ่านมากระบวนการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีล่าช้า ไม่สามารถหมุนเวียนลงสู่ภาคเศรษฐกิจในเชียงใหม่ได้ตามเป้าหมาย

ในพื้นที่ไม่ได้เกิดการลงทุนหรือจัดกิจกรรมขึ้น โดยเฉพาะกำลังซื้อและการบริโภคของประชาชนได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตามหวังว่าหลังจากการจัดตั้งรัฐบาลเรียบร้อยแล้วจะมีมาตรการเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจตามมา ซึ่งคาดว่าไตรมาสสุดท้ายเศรษฐกิจจะกระเตื้องขึ้น

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/economy/news-347138


Person read: 2138

09 July 2019