สต๊อกล้น - สถานการณ์ตลาดส่งออกยางพาราครึ่งปี 2562 ยังไม่ดีขึ้นส..ำหรับเกษตรกร โรงงานแปรรูปยางพาราขนาดเล็กในพื้นที่เนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นมาก และจีนผู้ซื้อหลักยังชะลอการซื้อต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคายังปรับขึ้นได้ไม่มากนัก
โรงงานแปรรูปยางส่งออกภาคใต้อ่วม ปิดกิจการหลายแห่ง เหตุไตรมาส 2 ออร์เดอร์วูบ บาทแข็ง ตลาดโลกซบ พิษสงครามการค้าจีน-สหรัฐ แบงก์งดปล่อยสินเชื่อเพิ่ม แถมสถาบันเกษตรกรถูก กยท.มีนโยบายชี้นำให้ช่วยซื้อราคาสูง ขาดทุน 5 บาท/กก. เสนอ “บียู” เข้าชี้นำราคาทุกตลาด
นายกัมปนาท วงศ์ชูวรรณ ผู้จัดการกลุ่มเกษตรกรทำสวนธารน้ำทิพย์ ผู้แปรรูปส่งออกยางรายใหญ่ทางภาคใต้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้มีโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปยางส่งออกหลายแห่งต้องปิดตัวลง และอีกหลายแห่งขายกิจการเปลี่ยนมือหรือให้เทกโอเวอร์ไป เพราะธนาคารพาณิชย์งดปล่อยสินเชื่อ ป้องกันความเสี่ยง เนื่องจากสถานการณ์ยางพาราไตรมาส 2 ภาพรวมการค้าส่งออกขาดทุนเกือบประมาณ 5 บาท/กก. หรือประมาณ 5,000 บาท/วัน จากปริมาณรับซื้อประมาณ 1 ตัน/วัน สาเหตุหลักมาจากหลายปัจจัยทั้งค่าเงินบาทแข็งขึ้นมาก ตลาดโลกซื้อขายล่วงหน้าราคาลดลง จีนผู้ซื้อรายใหญ่ชะลอการรับซื้อเหลือประมาณ 20% เนื่องจากผลพวงของสงครามการค้าที่สหรัฐตั้งกำแพงภาษี 25% ส่งผลให้โรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตในจีน ทั้งขนาดเล็กขนาดกลางยังไม่เปิดการผลิตเต็ม
รวมถึงการที่รัฐบาลโดยการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) มีนโยบายชี้นำราคาให้สถาบันเกษตรกรช่วยเหลือสมาชิกด้วยการซื้อยางราคาสูง แต่ขายออกได้ราคาต่ำ ยกตัวอย่างกลุ่มตนขายได้ประมาณ 1,460 เหรียญ/ตัน ขณะที่ต้นทุนประมาณ 1,500 เหรียญสหรัฐ/ตัน ส่งผลกระทบต่อสถาบันเกษตรกรหลายแห่งหากขายก็ขาดทุน หากไม่ขายก็เต็มสต๊อก
“ค่าเงินบาทแข็งขึ้นมากส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกยางเม็ด เงินจะหายไปประมาณ 100 บาท/กก. บริษัทอุตสาหกรรมแปรรูปยางส่งออกทั้งขนาดกลางขนาดเล็กต่างประสบปัญหาจนถึง 5 บริษัทส่งออกขนาดใหญ่ก็ยังมีสต๊อกเหลือจำนวนมาก ส่งผลให้ตลาดยางแปรรูป ยางแท่ง เอสทีอาร์ ยางรมควันเงียบมาก เพราะแต่ละแห่งมีปริมาณยางในสต๊อก แต่ไม่มีผู้ซื้อ แต่ถ้าจะซื้อก็ราคาต่ำ ไตรมาส 2 ปี 2562 จนถึงตอนนี้บางบริษัทขนาดใหญ่ในจังหวัดสงขลา แต่ละแห่งมีปริมาณยางอยู่เต็มสต๊อก ก็ไม่รับซื้อเพิ่ม หรือบางแห่งรับซื้อจะดึงราคาต่ำลง” นายกัมปนาทกล่าวและว่า
นอกจากนี้ มีสิ่งที่น่าวิตกคือการที่ กยท.ได้สรุปจำนวนโควตาส่งออกยางจำนวน 1.2 แสนตัน และขอความร่วมมือลดการส่งออกในช่วงเดือนพฤษภาคม-กันยายน หรือเท่ากับลดโควตาการส่งออกไปประมาณ 40% โดยเฉพาะยางรมควัน ยางแท่ง ยางก้อนถ้วย โดยเฉพาะในกลุ่มตนประสบปัญหาต้องซื้อยางเก็บไว้ในสต๊อก มีค่าบริหารจัดการ ดอกเบี้ย ความเสี่ยงต่อราคาว่าจะลงอีก และคาดว่ายางจะเต็มสต๊อกในเร็ว ๆ นี้หากยังไม่มีออร์เดอร์เข้ามา ที่สำคัญลูกค้าหลักอย่างประเทศจีนก็ยังมีปริมาณสต๊อกยางในเมืองชิงเต่าสามารถซื้อไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์
“ปริมาณยางที่เต็มสต๊อกจะสังเกตเห็นว่า โรงงานอุตสาหกรรมมีการผลิตไม่เต็มกำลัง จากทำงาน 2 กะ เหลือ 1 กะ จากที่ต้องจ้างแรงงานทำล่วงเวลา (OT) ตอนนี้ไม่มี จะเหมือนกันหลายแห่ง และบางแห่งปิดรับซื้อแล้วโดยเฉพาะยางแผ่น ส่วนน้ำยางสดยังไม่ส่งผลกระทบเพราะนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์การแพทย์ ถุงมือยาง ถุงยางอนามัยได้”
นายกัมปนาทกล่าวต่อไปว่า ทิศทางผู้ซื้อยางจะต้องมีการป้องกันความเสี่ยง จะมีการปรับปรุงราคาทุกตัว ตั้งแต่น้ำยางสด ยางแผ่น ยางรมควัน ยางแท่ง คาดการณ์ว่าราคาจะมาอยู่ที่ 40-45 บาท/กก. ซึ่งขณะนี้น้ำยางอยู่ที่ 49-50 บาท/กก. และยางรมควัน 50-55 บาท/กก.
“ส่วนราคาชี้นำของ กยท. 65 บาท/กก. เชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ จะเป็นไปได้เมื่อรัฐบาลต้องใช้เงินเข้ามาบริหารจัดการซื้อเข้าเก็บในสต๊อก”
แหล่งข่าวจากเจ้าของสวนยางขนาดเล็ก อ.ตะโหมด จ.พัทลุง เปิดเผยว่า ภาวะราคายางโดยเฉพาะน้ำยางสด ราคาเคลื่อนไหวระหว่าง 48-49-50 บาท/กก.มานานพอสมควร และได้ขยับขึ้นมา 52 บาท/กก. ราคาได้ขยับลงมาตั้งแต่สัปดาห์ปลายเดือนมิถุนายน 2562 มาจนถึงขณะนี้ประมาณวันละ 1 บาท/กก. และ ณ วันที่ 4 ก.ค. 62 มาอยู่ที่ 49 บาท/กก. สำหรับบางพื้นที่ และบ่อรับซื้อน้ำยางบางราย
นายไพรัช เจ้ยชุม ประธานกรรมการ ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดพัทลุง จำกัด เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ ผู้ว่าการกยท.ได้มาประชุมร่วมกับผู้นำชาวสวนยางภาคใต้ ที่ จ.สงขลา กยท.มีนโยบายให้หน่วยธุรกิจ หรือบียู ตั้งราคาชี้นำเป็นราคากลางเพื่อประมูลในตลาดกลาง จึงมีการเสนอให้บียูตั้งราคากลาง และเข้าประมูลทุกตลาดหรือไม่ต้องประมูล หากรายใดประมูลราคาสูงกว่าราคากลางก็ได้ยางไป และหากราคาต่ำกว่า บียู ก็เอายางไป แต่บียูจะต้องเข้าทุกตลาด
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/local-economy/news-347171
Person read: 2174
09 July 2019