เปิดแผนล้างหนี้แสนล้าน ขสมก. ทุ่มซื้อรถใหม่-โละคน-ที่ดินปั๊มรายได้

เป็นรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนตั้งแต่เริ่มก่อตั้งปี 2519 สำหรับ “ขสมก.-องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ”ณ สิ้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา มียอดหนี้สะสมกว่า 118,000 ล้านบาท

แม้ปัจจุบันจะได้รับงบฯสนับสนุนจากรัฐบาลทุกปี และล่าสุดรัฐบาลเพิ่งอนุมัติให้กระทรวงการคลังปล่อยกู้เงินเสริมสภาพคล่องให้วงเงิน 11,319 ล้านบาท ใช้หมุนเวียนการชำระค่าเชื้อเพลิง ค่าเหมาซ่อม และเสริมสภาพคล่องทางการเงิน แต่ก็ยังไม่เพียงพอ

ยังลุ้นต่อแผนฟื้นฟูที่รัฐบาล คสช.ไฟเขียว จะพลิกฟื้น ขสมก.ให้หลุดพ้นจากพันธนาการหนี้สินล้นพ้นตัวได้แค่ไหน

เปิดรายละเอียดแผนฟื้นฟูจะประกอบด้วย 1.ปรับปรุงและจัดหารถใหม่ 3,000 คัน มีจัดหารถแบบใช้เชื้อเพลิงธรรมชาติ (NGV) 489 คัน ซึ่งซื้อไปแล้ว ปรับปรุงสภาพรถเดิม 323 คัน วงเงิน 138 ล้านบาท จัดหารถเมล์ไฟฟ้า (EV) 35 คัน รถแบบไฮบริด 1,453 คัน และเช่าอีก 700 คัน รวม 5,423 ล้านบาท แยกเป็นรถ NGV 300 คัน 1,855 ล้านบาท และ ไฮบริด 400 คัน 3,568 ล้านบาท

ซึ่งแผนจัดซื้อทั้งหมด เป็นการทบทวนมติ ครม.เดิมที่อนุมัติไว้วันที่ 9 เม.ย. 2556 ให้จัดหารถใหม่ 3,183 คัน 13,162 ล้านบาท

2.นำเทคโนโลยีใหม่ยกระดับการบริการ เช่น ติดตั้งระบบ e-Ticket, GPS, WiFi, ป้ายอัจฉริยะ, ระบบ QR code

3.ปรับปรุงเส้นทางเดินรถตามแผนการปฏิรูปรถเมล์ 137 เส้นทางที่ทับซ้อนกับรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯและปริมณฑลจะเปิดใช้อีก 4-5 ปี ขณะนี้กรมการขนส่งทางบกในฐานะหน่วยงานดูแลกำลังทำข้อมูลเพื่อเสนอสภาพัฒน์ฯ

4.ปรับโครงสร้างองค์กรให้กระชับขึ้น จากปัจจุบันมีพนักงาน 13,599 คน จะเปิดเออร์ลี่รีไทร์ 5,051 คน ใช้งบฯ 6,000 ล้านบาท ปีแรก 655 คน ปีที่ 2-3 ปีละ 2,198 คน และต้องปรับทักษะพนักงานให้รับกับงาน เช่น ให้พนักงานหญิงมาขับรถ

5.พัฒนาพื้นที่อู่รถเมล์ในรูปแบบ TOD หรือการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน เหมือนสถานีีรถไฟฟ้า ที่บริเวณอู่บางเขน 11 ไร่ และอู่มีนบุรี 14 ไร่

ทั้งนี้แผนฟื้นฟูจะสำเร็จได้ ทางรัฐจะต้องรับภาระหนี้เก่าไป จากนี้คมนาคมจะหารือกับคลังเรื่องหนี้สิน 118,000 ล้านบาท ส่วนหนี้ใหม่ขสมก.จะรับภาระเอง

นายประยูร ช่วยแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถ ขสมก.กล่าวว่า แผนงานทั้งหมดได้กำหนดไทม์ไลน์ไว้แล้ว (ดูกราฟฟิก) ในเดือนต.ค.นี้เริ่มจากปรับปรุงสภาพรถ 323 คันจะเสร็จในเดือนมิ.ย.2563 ขอใบอนุญาตการปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ 137 เส้นทางจากคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง เนื่องจากมี 20 เส้นทางที่ทับซ้อนกับรถไฟฟ้า และติดตั้งอินเทอร์เน็ต WiFi

ในเดือน มิ.ย.2563 ซื้อรถไฟฟ้า 35 คัน จัดหารถเช่า 700 คัน เปิดเออร์ลี่รีไทร์ 655 คน ประมูล PPP TOD ให้เอกชนลงทุนพัฒนา 30 ปี เพราะแต่ละแห่งมีมูลค่าที่ดินเกิน 1,000 ล้านบาท

ที่ “อู่บางเขน” เสนอพัฒนาเป็นศูนย์การค้าหรือคอมมิวนิตี้มอลล์ อยู่ใกล้รถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อขยายหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต

ส่วน “อู่มีนบุรี” เป็นตลาดจะก่อสร้างเป็นอาคารพาณิชย์ ชั้นล่างเป็นอู่รถเมล์ ชั้นบนเป็นตลาดขายสินค้า ใกล้รถไฟฟ้าสายสีชมพูแคราย-มีนบุรี คาดว่าจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 600 ล้านบาท

ปี 2564 จัดหารถไฮบริด 700 คันเปิดเออร์ลี่รีไทร์ 2,198 คน ปี 2565 ซื้อรถไฮบริด 753 คัน เปิดเออร์ลี่รีไทร์ 2,198 คน และปี 2567 จะขึ้นค่ารถเมล์ 1 บาท

หากทุกอย่างเดินหน้าตามแผน จะทำให้ ขสมก.หารายได้เลี้ยงตัวเองและกลับมามีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักภาษีและค่าเสื่อม ในปี 2566 จากนั้นปี 2567 จะเลี้ยงตัวเองได้ และปี 2588 จะชำระหนี้เงินกู้ได้หมด มาจากหนี้ก้อนใหม่กู้ซื้อรถ NGV กว่า 1.8 พันล้าน รถไฮบริด 1,453 คัน 12,000 ล้านบาท และกู้มาใช้จ่ายในการเออร์ลี่พนักงาน 6,000 ล้านบาท

อยู่ที่คลังจะรับ-ไม่รับหนี้แสนล้าน เพราะถึงปลดแอกหนี้เก่า ก็สร้างหนี้ใหม่เพิ่มเรื่อย ๆ ฉะนั้นการเข็นให้ ขสมก.ให้มีกำไร น่าจะยังอีกห่างไกล !

 

“รถทันสมัย-บริการดี” สิ่งที่ประชาชนคาดหวังจากรัฐบาล

หากว่ากันที่ตัวแผนฟื้นฟูล้วน ๆ อาจจะดูไม่เกี่ยวข้องกับประชาชนที่ใช้บริการ แต่เมื่อส่องถึงรายละเอียดมีหลายองค์ประกอบส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนคนใช้บริการขนส่งสาธารณะอย่างมาก โดยเฉพาะการซื้อ-เช่ารถใหม่ 2,511 คัน ทดแทนรถเก่ามีอายุการใช้งาน 16-26 ปี

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นคนใช้บริการรถเมล์ หลังจากที่ ครม.มีมติเห็นชอบแผนฟื้นฟู ขสมก.

“คุณพสุ” อาชีพค้าขาย ให้ความเห็นว่า เคยได้ยินเรื่องการจัดหารถเมล์ครั้งสุดท้ายคือ ในสมัยนายโสภณ ซารัมย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ก็งงเพราะจู่ ๆ เรื่องก็เงียบหายไป

“รู้สึกดีใจ อยากให้รัฐเร่งผลักดัน ผมเองก็นั่งรถเมล์สาย 134 (หมอชิต-บัวทองเคหะ) เป็นประจำ เป็นรถแอร์ครีม-น้ำเงิน แต่ถ้ามีรถใหม่น่าจะสะดวกสบายขึ้น”

ด้าน “คุณพร” อาชีพแม่บ้านกล่าวว่า ส่วนตัวนั่งรถเมล์สาย 516 (เทเวศร์-บัวทองเคหะ) ไปตลาดตอนเช้า ไม่มีอะไรวิจารณ์เพราะรู้สึกว่ารถเมล์ที่ขึ้นประจำให้บริการดีอยู่แล้ว แต่การจัดหารถใหม่ อยากให้รถสูงน้อยกว่านี้ เพราะผู้สูงอายุก็ใช้บริการกันเยอะ ทำให้ใช้บริการลำบาก

“คุณปอ” อาชีพนักศึกษากล่าวว่า นั่งรถเมล์สาย 134 เป็นประจำ ก็ให้บริการโอเคอยู่แล้ว และรู้สึกชอบจอแสดงผลในรถเพราะบอกตำแหน่งป้ายรถเมล์ที่จะจอดถัดไป แต่อยากให้เพิ่มความแม่นยำมากกว่านี้ เพราะมีบางครั้งบอกตำแหน่งคลาดเคลื่อน

เรื่องรถเมล์ใหม่ต้องดูสเป็กของรถที่ซื้อก่อนเป็นแบบไหน ตอนนี้รู้แต่ว่าจะซื้อรถใหม่แต่ยังไม่เห็นแบบรถจะซื้อแบบไหน กี่ที่นั่ง กว้างกว่าเดิมไหม สิ่งอำนวยความสะดวกเป็นยังไง เช่น ราวจับหรือที่นั่งสำหรับผู้โดยสารพิการ

เป็นเสียงสะท้อนของประชาชนผู้ใช้บริการรถเมล์ ขสมก. เส้นเลือดใหญ่ของบริการขนส่งสาธารณะในปัจจุบัน

น่าจะถึงเวลาที่รัฐบาลใหม่ต้องหันมาใส่ใจมากขึ้น

แม้จะปูพรมสร้างรถไฟฟ้าให้ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ แต่ท้ายที่สุด “รถเมล์” ก็เป็นหมวดการเดินทางที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ได้มากกว่านั่นเอง

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/property/news-351304


Person read: 2231

20 July 2019