มิตรผลเบรกลงทุน3หมื่นล้าน ชุมชนรุมค้าน”ไบโอชีวภาพ”

แฟ้มภาพ

“มิตรผล” เบรกโครงการนิคม “อุตสาหกรรมชีวภาพ” 4,000 ไร่ที่ขอนแก่น มูลค่าเกือบ 3 หมื่นล้าน ขอเวลาเคลียร์ปัญหาทำความเข้าใจกับชุมชนก่อน แจงขอเน้นลงทุนโรงงานน้ำตาลเป็นหลัก ทั้งยอมรับตลาดยังไม่พร้อมเพราะ “ไบโอพลาสติก” ต้นทุนสูง ด้าน GGC เดินหน้าคุยผู้ร่วมทุนขยาย “ไบโอคอมเพล็กซ์” เฟส 2 ปตท.ขีดแผนลงทุนปี”63 ตั้งงบฯธุรกิจสีเขียวลุยนวัตกรรมไบโอพลาสติก ด้านกระทรวงอุตฯ อ้อมแอ้มยันยุทธศาสตร์ “ไบโออีโคโนมี” ไม่สะดุด

หลังจากรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เดินหน้านโยบายโครงการเขตเศรษฐกิจชีวภาพ หรือ bioeconomy ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยได้จัดทำแผนพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ (2561-2570) วางแผนการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และในพื้นที่ส่วนต่อขยายในบริเวณจังหวัดภาคหนือตอนล่างกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ครอบคลุม 3 จังหวัด จังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชร ขอนแก่น รวมมูลค่าโครงการ 5 ปี 133,000 ล้านบาท

นอกจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ศึกษาความเป็นไปได้ที่จะ “ขยาย” พื้นที่ที่มีความเหมาะสมจะพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชีวภาพอีก 7 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี, ยโสธร, อำนาจเจริญ, ศรีสะเกษ, ฉะเชิงเทรา, อุบลราชธานี และลพบุรี

พร้อมเตรียมเสนอให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ขยายสิทธิประโยชน์เพิ่มลดหย่อนภาษีเงินใต้นิติบุคคล 50% อีก 5 ปีไปทั่วประเทศจากเดิมแค่ 3 จังหวัด แต่ก็ติดช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลเสียก่อน

มิตรผลเบรก “ไบโออีโคโนมี” 

ล่าสุด นายคมกริช นาคะลักษณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานองค์กรสัมพันธ์และบริหารองค์กรเพื่อความยั่งยืน บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทจำเป็นต้องชะลอแผนการลงทุนโครงการนิคมอุตสาหกรรมชีวภาพ พื้นที่ 4,000 ไร่ มูลค่า 29,705 ล้านบาท ที่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ภายใต้อุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพ ตามนโยบายรัฐบาลออกไป แม้ว่าบริษัทได้ประกาศเป็นหนึ่งในแผนการลงทุนแล้ว เนื่องจากยังต้องใช้เวลาสร้างความเข้าใจกับชุมชนก่อนว่าอุตสาหกรรมนี้ไม่ใช่อุตสาหกรรมหนักที่จะสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งยังเป็นการช่วยเกษตรกร นำวัตถุดิบในพื้นที่มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงนอกจากการผลิตน้ำตาล ทั้งในรูปพลาสติก เอทานอล ซึ่งจะช่วยยกระดับราคาอ้อยให้สูงขึ้น และมีเสถียรภาพในระยะยาว เช่นเดียวกับนโยบายที่บราซิลใช้ดังนั้น ระหว่างนี้บริษัทจะเดินหน้าลงทุนเฉพาะส่วนโรงงานน้ำตาลไปก่อน

“เรื่องผังเมืองไม่ใช่ปัญหาหลัก แต่ปัญหาคือความเข้าใจกับคนในพื้นที่ มาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมไบโอที่รัฐบาลประกาศออกมานั้น สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ก็สนับสนุนเต็มที่ ส่วนเราเองหนุนให้เกิด เพราะจะทำให้ใช้อ้อยไปแปรรูปเป็นอย่างอื่นได้นอกจากน้ำตาล ขณะที่บริษัทก็ต้องศึกษาว่าผลิตภัณฑ์ตัวไหนที่ลงทุนทำแล้วคุ้มค่า เช่น ไบโอพลาสติก น้ำตาลแคลอรีต่ำ”

อย่างไรก็ตาม การลงทุนก็อยู่ที่เทคโนโลยีและความพร้อมของตลาดด้วย เพราะไบโอพลาสติก ต้นทุนสูงกว่าพลาสติกจากปิโตรเลียมเบส โดยรัฐบาลจะต้องส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ไบโอพลาสติกเติบโตได้ ซึ่งในช่วงแรกจะยังไม่ใช่ไบโอพลาสติกเพียว 100% เพราะยังคงต้องมีการใช้พลาสติกผสม 10-20% จึงจะกระทบต้นทุนไม่มาก

GGC ลุยขยายเฟส 2

ด้านนายวิทูร ซื่อวัฒนากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC บริษัทลูก PTTGC กล่าวว่า นโยบาย bioeconomy ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือผู้ร่วมทุนขยายลงทุนเฟส 2 ต่อจากโครงการ “นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์” ซึ่งต่อยอดอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ 2 กลุ่ม คือไบโอพลาสติกและไบโอเคมิคอล

โดยอยู่ระหว่างการคัดเลือกผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพซึ่งมีอยู่หลายประเภท รวมถึง polylactic acid (PLA) ที่เป็นการนำเอาเทคโนโลยีขั้นสูงปิโตรเคมีในการย่อยสลายได้ทางชีวภาพ

“ทิศทางตลาดผลิตภัณฑ์ไบโอพลาสติกเพิ่มขึ้น ทำให้ตลาด PLA ทั่วโลกเติบโต 10% ต่อปี ทั้งนี้ คาดว่าจะสรุปแผนลงทุนทั้งหมดได้ในปี 2563 และพร้อมดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาส 1 ปี 2566”

สำหรับความคืบหน้านครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์นั้น อยู่ระหว่างคัดเลือกผู้รับเหมาเพื่อดำเนินโครงการระยะที่ 1 มูลค่าลงทุน 7,500 ล้านบาท ประกอบด้วย การก่อสร้างโรงหีบอ้อย กำลังผลิต 24,000 ตันต่อวัน การก่อสร้างโรงงานผลิตเอทานอล 600,000 ลิตรต่อวัน

และโรงผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ กำลังการผลิตไฟฟ้า 85 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 475 ตันต่อชั่วโมง คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ ก.ย.-ต.ค.นี้ และจะดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาส 1 ปี 2564

ปตท.ตั้งงบฯรุกธุรกิจสีเขียว

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้กลุ่ม ปตท. อยู่ระหว่างแยกบัญชีเพื่อทำแผนการลงทุนเกี่ยวกับอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นสัดส่วนเฉพาะ เป้าหมายเพื่อผลักดันการพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ กระตุ้นการเติบโตของตลาดผลิตภัณฑ์สีเขียวในประเทศ

โดยล่าสุด สถาบันนวัตกรรม ปตท. และบริษัทในเครืออย่าง PTTOR และ GC ร่วมกับพัฒนานำเยื่อกาแฟ (coffee chaff) ซึ่งเป็นของเหลือหลักจากโรงคั่วกาแฟ นำมาบดและอบเพื่อไล่ความชื้น และขึ้นรูปเป็นวัสดุคอมโพสิต ร่วมกับน้ำยา อีพอกซี เรซิน (biobased epoxy) ใช้เป็นวัสดุตั้งต้นในการทำโต๊ะ ตู้ เคาน์เตอร์ ชั้นวางของ และเฟอร์นิเจอร์

เบื้องต้นจะเปลี่ยนอุปกรณ์ของใช้ภายในร้านคาเฟ่อเมซอน ให้เป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้โดยธรรมชาติ อาทิ แก้วร้อน (bio PBS) ที่เป็นแก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพย่อยสลายสู่ธรรมชาติได้ 100% แก้วเย็น (bio PLA) ที่ทำจากพืช 100% หลอด (bio PBS+PLA) รวมถึงการใช้ถุงกระดาษแทนถุงพลาสติกใส่เบเกอรี่ ซึ่งจะลดปริมาณขยะพลาสติกของร้านได้ถึง 645 ตันต่อปี เป็นไปตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน

นายอดิทัต วะสีนนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แม้เอกชนบางรายจะเบรกลงทุนไบโออีโคโนมี และบางรายก็ยังพร้อมลงทุน ในส่วนของภาครัฐยังคงเดินหน้าส่งเสริมต่อเพราะเป็นมติ ครม. ซึ่งขณะนี้ความคืบหน้าเป็นไปตามแผน และยังไม่มีแผนการปรับมาตรการในช่วงระยะเวลาใกล้ ๆ นี้ มีแต่จะเร่งขับเคลื่อนตามแผน

ทั้งนี้ bioeconomy ถือเป็นต้นน้ำที่จะนำไปสู่ผลิตอย่างพลาสติกชีวภาพ ล่าสุดได้ร่วมกับสถาบันพลาสติก นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมพลาสติก โดยกระทรวงการคลัง ออกมาตรการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อส่งเสริมบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยผู้ซื้อ เช่น ห้างสรรพสินค้า ซื้อบรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพชนิดที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ จะได้รับลดหย่อนภาษี 1.25 เท่า เป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2562-31 ธ.ค. 2564

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/economy/news-351443


Person read: 2242

20 July 2019