ลากยาวอีก “อคส.” ทบทวนแผนพัฒนาคลังสินค้าธนบุรี เป็นศูนย์การช็อปปิ้งริมน้ำ “เอเชียทีค 2” หวั่นเข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนฉบับใหม่ ปี’62 ก่อนสรุปชง รมว.พาณิชย์อีกรอบ เดินหน้าปล่อยเช่าคลังมิกซ์ยูสเซอร์หวังดันรายได้ ปี’62 ถึงเป้า 500 ล้านบาท พร้อมเคลียร์สต๊อกสินค้าเกษตรเก่า
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ปัญหาความล่าช้าของโครงการพัฒนาพื้นที่คลังธนบุรี 1 ขององค์การคลังสินค้า (อคส.) เพื่อเป็นแหล่งช็อปปิ้งริมแม่น้ำเจ้าพระยา หรือที่เรียกว่าเอเชียทีค 2 ซึ่งเริ่มศึกษามานานถึง 2 ปี กำลังเข้าสู่ปีที่ 3 อาจแล้วเสร็จไม่ทันกำหนดเวลาที่วางไว้ในปีนี้ โดยหลังจาก พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ) มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนมีนาคม 2562 ทำให้ อคส.ต้องดึงโครงการดังกล่าวกลับมาพิจารณาทบทวนอีกครั้งว่าจะสามารถดำเนินการต่อเนื่องได้หรือไม่
แม้ว่าโครงการดังกล่าวจะรับฟังความเห็นประชาชนไปแล้ว 3 ครั้ง แต่ด้วยเหตุที่คาดว่าจะใช้งบประมาณลงทุน 1,000-5,000 ล้านบาท ซึ่งอาจเข้าเกณฑ์ภายใต้กฎหมายใหม่ ในมาตรา 7 (12) ประเภทกิจการอื่น ๆ ตามที่กําหนดในพระราชกฤษฎีกา และมาตรา 9 ซึ่งกำหนดว่าโครงการร่วมลงทุนที่มีมูลค่าต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท หรือต่ำกว่ามูลค่าที่กําหนด ต้องดําเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการประกาศกําหนด หากคณะกรรมการเห็นว่าโครงการร่วมลงทุนดังกล่าว มีความสําคัญหรือสอดคล้องกับแผนการจัดทําโครงการร่วมลงทุนตามมาตรา 12 คณะกรรมการจะกําหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการดําเนินการตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กําหนดไว้ก็เป็นได้
ล่าสุดนายไพศาล เตี๋ยวงษ์สุวรรณ์ รองผู้อำนวยการ อคส. รักษาการผู้อำนวยการ อคส. เปิดเผยว่า ขณะนี้ อคส.ต้องศึกษาทบทวนเพื่อเปรียบเทียบแผนการร่วมทุนพัฒนาพื้นที่คลังธนบุรี 1 ว่า มีสอดรับกับกฎหมายใหม่หรือไม่ หรือต้องปรับปรุงอย่างไร เพื่อป้องกันปัญหาการร่วมทุนในอนาคต สร้างความมั่นใจในการลงทุน ซึ่งหลังจากพิจารณาประเด็นข้อกฎหมายเรียบร้อยแล้วจะเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ก่อนที่จะเสนอให้กับนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ต่อไป
“พื้นที่คลังธนบุรี 1 ประมาณ 15-19 ไร่ เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ติดริมน้ำ นอกจากนี้ ยังมีคลังสินค้าประมาณ 9 หลังที่สามารถเปิดให้เอกชนมาเช่าเพื่อเก็บสินค้าได้ ซึ่งปัจจุบันให้เอกชนเข้ามาเช่าคลังหลายราย เพื่อเก็บสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป ขณะที่โครงการใหม่นั้นก็จะเปิดให้เช่าคลังแบบครบวงจรเพื่อขยายลูกค้าที่สนใจมาเช่าคลัง ซึ่งก็เป็นการสร้างรายได้ให้กับ อคส.เอง”
อย่างไรก็ตาม อคส.ยังมีแผนดำเนินโครงการปรับโครงสร้างเพื่อสร้างรายได้ ลดการขาดทุน และสร้างกำไรให้กับ อคส. โดยปีนี้มีเป้าหมายสร้างได้ 500 ล้านบาท จากการให้เช่าพื้นที่คลังธนบุรี 1 อีกทั้ง อคส.อยู่ระหว่างจัดทำโครงการมัลติยูสเซอร์ โดยนำพื้นที่บางส่วนประมาณ 1,000 ตารางเมตร ให้บริการเช่าคลังแบบครบวงจร เพื่อเป็นการสร้างรายได้ ระหว่างที่รอการพิจารณาโครงการเอเชียทีค 2
นอกจากนี้ อคส.อยู่ระหว่างศึกษาพิจารณาความเหมาะสมในการลงทุน อีก 2 โครงการ คือ พัฒนาพื้นที่คลังสินค้าบัวใหญ่ อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา มีเนื้อที่ 30.8 ไร่ เพื่อให้บริการเกษตรกรคาดว่าใช้เงินลงทุน 50 ล้านบาท และการพัฒนาที่ดินคลังสินค้าที่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น เนื้อที่ 18.25 ไร่ ให้เป็นคลังสินค้าในกลุ่ม AEC เชื่อมโยงกับ สปป.ลาว ซึ่งอาจเปิดให้เอกชนหรือเป็นการลงทุนแบบรัฐต่อรัฐก็ได้
อีกด้านหนึ่ง อคส.มุ่งบริหารจัดการสินค้าเกษตรจากโครงการรับจำนำที่ยังคงค้างอยู่ในคลังของ อคส. โดยเหลือข้าวสารในสต๊อกรัฐ 208,600 ตัน จากการไม่มารับมอบข้าวที่เคลียร์คดีและแถลงหลักเกณฑ์การประมูลข้าวไปมั่นใจว่า จะระบายได้หมด ทั้งนี้ยังเหลือข้าวอีก 80,000 ตันที่รอการระบาย
พร้อมกันนี้ อคส.ยังต้องสะสางคดีโครงการจำนำข้าวโดยส่งข้อมูลให้ศาลปกครองไปแล้ว ส่วนคดีข้าวถุงช่วยเหลือประชาชน อยู่ในขั้นตอนการหารือกับอัยการสูงสุด จากนี้รายงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์รับทราบ เช่นเดียวกับการพิจารณาสรรหา ผอ.อคส. ที่จะมารับหน้าที่แทนนางอินทิรา โภคปุณยารักษ์ ซึ่งได้ยกเลิกผลการรับสมัครครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากมีผู้มาสมัครเพียงแค่ 3 ราย
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/economy/news-351954
Person read: 2062
23 July 2019