ราคาน้ำมันดิบคาดจะทรงตัว หลังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังที่คาดจะปรับลดลง
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 48-53 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 52-57 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (18 – 22 ก.ย. 60)
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้คาดจะทรงตัวจากสัปดาห์ก่อนหน้า หลังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ ที่คาดว่าจะปรับลดลงจากโรงกลั่นน้ำมันดิบในสหรัฐ ที่คาดว่าจะเริ่มกลับมาดำเนินการผลิตอีกครั้งหลังผลกระทบของน้ำท่วมเริ่มเบาบางลง นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบส่วนเกินที่มีแนวโน้มปรับลดลง หลังความต้องการใช้น้ำมันยังคงเติบโตได้ดีต่อเนื่อง รวมถึงผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปคยังคงเดินหน้าปรับลดกำลังการผลิตต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่จะขยายระยะเวลาของการปรับลดออกไปจากเดิมที่สิ้นสุดในเดือน มี.ค. 61 อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น หลังผู้ผลิตทั้งบนบกและบริเวณอ่าวเม็กซิโกสามารถกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ มีแนวโน้มจะปรับลดลง หลังโรงกลั่นในสหรัฐ ที่ได้รับผลกระทบจากพายุ Harvey ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนส.ค. ที่ผ่านมา เริ่มกลับมาดำเนินการอีกครั้ง โดยล่าสุด โรงกลั่น Motiva กำลังการผลิต 603,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นโรงกลั่นขนาดใหญ่ที่สุดในสหรัฐ สามารถกลับมาดำเนินการกลั่นได้ อย่างไรก็ตาม ล่าสุด สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ ( EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังหรัฐ ปรับเพิ่มขึ้นราว 9 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 468.2 ล้านบาร์เรล เนื่องจากตัวเลขสะท้อนถึงความต้องการใช้น้ำมันที่ปรับลดลงในช่วงพายุ Harvey
- ปริมาณน้ำมันดิบส่วนเกินในตลาดโลกคาดจะปรับลดลง หลังความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นและผู้ผลิตน้ำมันดิบกลุ่มโอเปคและนอกโอเปคยังคงเดินหน้าปรับลดกำลังการผลิตต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (OECD commercial stocks) ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3,016 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าระดับค่าเฉลี่ย 5 ปีเพียง 190 ล้านบาร์เรล โดยในรายงานล่าสุดของสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ได้ทำการปรับเพิ่มความต้องการใช้น้ำมันในปีนี้เพิ่มขึ้น 1 ล้านบาร์เรลต่อวันมาอยู่ที่ 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ ผู้ผลิตในกลุ่มโอเปคเพิ่มความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตมากขึ้นจาก 75% ในเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 82% สำหรับผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปคความร่วมมือปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 119% ในเดือนเดียวกัน ซึ่งนับเป็นการปรับเพิ่มสูงกว่าระดับ 100% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการปรับลดกำลังการผลิตมา
- ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น หลังแท่นขุนเจาะน้ำมันดิบในพื้นที่อ่าวเม็กซิโกที่ได้รับผลกระทบจากพายุ Harvey ทยอยปรับเพิ่มกำลังการผลิต โดยล่าสุด EIA รายงานกำลังการผลิตน้ำมันดิบ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 ก.ย. 60 ปรับเพิ่มขึ้น 572,000 บาร์เรลต่อวัน มาสู่ระดับ 35 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ ยังต้องจับตาจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากแท่นขุดเจาะในแหล่งผลิต Eagle Ford เริ่มกลับมาดำเนินการอีกครั้ง หลังต้องหยุดดำเนินการเนื่องจากผลกระทบของพายุ Harvey
- จับตาการประชุมระหว่างผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปคในวันที่ 22 ก.ย. ว่าจะมีการออกมาตรการสำหรับการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมจากเดิมหรือไม่ โดยล่าสุดรัฐมนตรีของคูเวตกล่าวว่ากลุ่มผู้ผลิตอยู่ระหว่างการชักชวนผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปคเพิ่มเติมสำหรับการเข้าร่วมข้อตกลงในการปรับลดกำลังการผลิต อาทิเช่น ประเทศโคลัมเบีย ยูกันดา และซูดานใต้ นอกจากนี้ หากผู้ผลิตไม่สามารถตกลงที่จะขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตในการประชุมเดือน พ.ย. ได้ จะมีการจัดการประชุมฉุกเฉินขึ้นในช่วงกลางเดือน มี.ค. 61 เพื่อพูดคุยถึงประเด็นดังกล่าวต่อไป
- ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิตและภาคการบริโภคสหรัฐ ดัชนีภาคการผลิตและภาคการบริโภคยูโรโซน และดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (11 – 15 ก.ย. 60)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 2.41 ดอลลาร์ มาอยู่ที่ 49.89 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 1.84 ดอลลาร์ มาอยู่ที่ 55.62 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 53.50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังโรงกลั่นในสหรัฐ ที่ได้รับผลกระทบจากพายุ Harvey เริ่มทยอยกลับมาดำเนินการอีกครั้ง ส่งผลให้ความต้องการใช้ต้องการใช้น้ำมันในประเทศฟื้นตัว นอกจากนี้ ยังได้รับแรงหนุนจากความเป็นได้ที่ผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปคจะขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิต หลังผู้ผลิตรายใหญ่ทั้ง ซาอุดิระเบีย และรัสเซีย แสดงท่าทีสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้
ที่มา: www.bangkokbiznews.com