พาณิชย์เตรียมยกร่างประกาศนำเข้าเหรียญตัวเปล่าโลหะสำหรับผลิตเหรียญกษาปณ์ป้องกันปลอมแปลง

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ในฐานะหน่วยงานหลักในการจัดระเบียบการนำเข้า-ส่งออกสินค้า และอำนวยความสะดวกทางการค้าของประเทศ กรมฯ ได้เดินหน้าปรับปรุงกฎหมายและมาตรการทางการค้าให้มีความความทันสมัยและทันสถานการณ์อยู่เสมอ โดยล่าสุดกรมฯ เตรียมยกร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์เพื่อกำหนดประเภทของเหรียญตัวเปล่าโลหะที่นำมาใช้ในการผลิตเหรียญกษาปณ์หมุนเวียน ให้ตรงตามชนิดราคาและชนิดโลหะของเหรียญกษาปณ์ในปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้การยกร่างประกาศดังกล่าวอยู่ระหว่างประสานกรมศุลกากรเพื่อกำหนดพิกัดศุลกากรและรหัสสถิติสินค้าเพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติก่อนดำเนินการตามขั้นตอนของการออกอนุบัญญัติต่อไป

การยกร่างประกาศดังกล่าว เป็นการทบทวนและปรับปรุงจากประกาศกระทรวงพาณิชย์เดิม ที่ว่าด้วยการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 93) พ.ศ. 2536 ให้เหรียญตัวเปล่าโลหะเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตนำเข้าภายใต้พระราชบัญญัติ การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 เพื่อป้องกันการปลอมแปลงเหรียญกษาปณ์ ซึ่งเหรียญตัวเปล่าโลหะเป็นวัตถุดิบสำคัญที่กรมธนารักษ์นำเข้ามาใช้ในการผลิตเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนเพื่อใช้แลกเปลี่ยนสินค้าในประเทศ โดยในประกาศฉบับเดิมกำหนดประเภทของเหรียญตัวเปล่าโลหะที่มีลักษณะ ขนาด น้ำหนักและส่วนผสมใกล้เคียงกับเหรียญกษาปณ์ 5 ชนิดราคา ได้แก่ 10 บาท 5 บาท 1 บาท 50 สตางค์ และ 25 สตางค์ และกำหนดอนุญาตให้นำเข้าเฉพาะกระทรวงการคลังและผู้ที่ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังเท่านั้น

แต่ปัจจุบันเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนที่ผลิตในประเทศไทยมีทั้งสิ้น 9 ชนิดราคา ได้แก่ 10 บาท 5 บาท 2 บาท 1 บาท 50 สตางค์ 25 สตางค์ 10 สตางค์ 5 สตางค์ และ 1 สตางค์ ซึ่งเหรียญกษาปณ์แต่ละชนิดราคาผลิตจากเหรียญตัวเปล่าที่มีชนิดโลหะและขนาดแตกต่างกัน เช่น เหรียญกษาปณ์ชนิดราคา 5 บาท ผลิตจากเหรียญตัวเปล่าโลหะทองแดงผสมนิกเกิลสอดไส้ทองแดง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 24 มิลลิเมตร และเหรียญกษาปณ์ชนิดราคา 1 บาท ผลิตจากเหรียญตัวเปล่าโลหะนิกเกิลชุบเคลือบไส้เหล็ก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 20 มิลลิเมตร เป็นต้น ดังนั้น กรมฯ จึงทบทวนประกาศฉบับเดิม โดยยกร่างประกาศฉบับใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี กรมฯ มุ่งมั่นในการส่งเสริมการค้า ปกป้องและรักษาผลประโยชน์ทางการค้าของไทย พร้อมนำนวัตกรรมดิจิทัลมาใช้เพื่อยกระดับการให้บริการในการอำนวยความสะดวกทางการค้า ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในระดับสากลได้อย่างยั่งยืนต่อไป

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/economy/news-360379


จำนวนผู้อ่าน: 2039

14 สิงหาคม 2019