“สนธิรัตน์” มอบโจทย์ปตท.3ข้อ มั่นคงพลังงาน-ช่วยชุมชนฐานราก-แข็งแกร่งตปท. ส่อขยับโออาร์เข้าตลท.ปี’63

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการหารือร่วมกับนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง ต่อกรณีการที่ ปตท.เตรียมนำบริษัท ปตท.น้ำมัน และการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ เข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ปีนี้ ว่าได้ตั้งโจทย์กับ ปตท. 3 ข้อ และให้ทำแผนกลับมาให้กระทรวงพลังงานพิจารณาเดือนกันยายนนี้ เพราะการที่โออาร์จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ต้องตอบคำถามสังคมไทยข้อแรกจะสามารถสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานได้อย่างไร โดยเฉพาะประเด็นการดูแล สนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลชุดนี้ ขณะเดียวกันเป้าหมายการเข้าตลาดฯของโออาร์ควรเน้นการสร้างความแข็งแกร่งในตลาดต่างประเทศ พาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ไทยไปเติบโต

“นโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้มอบหมายให้พลังงานสร้างความแข็งแกร่งให้ชุมชนฐานราก จะพบว่าภารกิจล้วนเกี่ยวข้องกับโออาร์ทั้งหมด ดังนั้นหากโออาร์จะเข้าตลาดฯก็ควรเน้นการสนับสนุนชุมชน ส่วนความต้องการสร้างรายได้ กำไรนั้น หัวใจควรไปเน้นต่างประเทศ ไม่ใช่ในประเทศไทย โดยแผนการเข้าตลาดฯจะขยับเป็นปี 2563 แทน” นายสนธิรัตน์กล่าว

นายสนธิรัตน์กล่าวว่า ในอดีตภาพธุรกิจของ ปตท.อาจไม่ได้ลงลึกถึงชุมชนขนาดนี้ แต่ภายในรัฐบาลปัจจุบัน ธุรกิจของ ปตท. โดยเฉพาะโออาร์จะต้องทำหน้าที่ในสนับสนุนสังคม ภายใต้โครงการต่างๆ อาทิ ไทยเด็ดที่ปตท.สนับสนุนสินค้าชุมชนไปจำหน่ายภายในสถานีบริการ (ปั๊ม) ทั่วประเทศ การศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตปุ๋ยสั่งตัดเพื่อจำหน่ายให้เกษตรกรในราคาถูกกว่าท้องตลาด หรืออาจสนับสนุนเงินทุน หรือสินเชื่อให้เกษตร ผ่านความร่วมมือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ส่วนการทำตลาดต่างประเทศก็สร้างความเข้มแข็งเป็นผู้นำในเอเชีย เจาะตลาดประเทศต่างๆ อาทิ เมียนมา กัมพูชา ลาว

สำหรับกรณีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดประมูลนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) 1.5 ล้านตัน แต่ ปตท.แสดงความกังวลว่าจะภาระไม่ใช้ก็ต้องจ่าย (Take or Pay) สัปดาห์นี้จะเชิญ กฟผ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม เพราะประเด็นสำคัญตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) นำเข้าแอลเอ็นจีเป็นรายที่ 2 ต่อจาก กฟผ.นั้น ไม่ใช่เน้นเรื่องนำเข้าหรือไม่นำเข้า แต่เป้าหมายคือต้องการให้ไทยเป็นผู้นำแอลเอ็นจีของภูมิภาค ดังนั้นในการหารือทุกหน่วยงานต้องลดความเป็นองค์กร ต้องดูจัดแข็งจุดอ่อน ไม่ควรยึดว่าตนคือ ปตท. ตนคือ กฟผ. ส่วนเงื่อนเวลาการนำเข้าแม้เดิมกำหนดปีนี้ก็สามารถขยับได้ เพราะไม่ต้องการให้กระดุมเม็ดแรกของไทยต้องผิด และต้องตามแก้ไขภายหลัง

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/economy/news-362034


จำนวนผู้อ่าน: 2017

20 สิงหาคม 2019