“แอร์เอเชีย”เสียบอู่ตะเภา ปั้นฮับการบินเชื่อมทั่วโลก

แฟ้มภาพ

“ไทยแอร์เอเชีย” มั่นใจกลุ่ม “แกรนด์ คอนโซเตียม” คว้าโครงการพัฒนาเมืองการบิน “อู่ตะเภา” หลังกลุ่ม ซี.พี.วืด พร้อมปั้นเป็นฮับการบินใหม่เชื่อมทั่วโลก ชี้ “รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน-อีอีซี” ติดปีกอู่ตะเภาโตก้าวกระโดด พื้นที่ใหญ่กว่าดอนเมือง 3-4 เท่าตัว ขยายคาพาซิตี้รองรับผู้โดยสารไม่ต่ำกว่า 100 ล้านคนต่อปี

นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้เข้าร่วมประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกร่วมกับพันธมิตรในนามกลุ่มแกรนด์ คอนโซเตียม และมั่นใจว่าจะได้รับการพิจารณาคัดเลือก เพราะเชื่อว่าเป็นกลุ่มบริษัทที่มีศักยภาพในการทำการตลาดสูง ทั้งในด้านการเชิญชวนผู้ประกอบการสายการบินเข้ามาใช้บริการ การบริหารจัดการเส้นทางบิน รวมถึงการดึงให้คนเข้ามาใช้บริการให้เป็นไปตามเป้าหมายได้

ปั้นฮับการบินใหม่เชื่อมทั่วโลก

ทั้งนี้ ตามแผนการประมูลกลุ่มบริษัทมีแผนทำให้ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาเป็นศูนย์การบินแห่งใหม่ของประเทศไทยฝั่งตะวันออก ที่มีศักยภาพในการเชื่อมโยงเส้นทางการบินทั่วโลก ซึ่งตามแผนจะมีสายการบินให้บริการทั้งฟูลเซอร์วิสและโลว์คอสต์แอร์ไลน์

“ไทยแอร์เอเชียไม่ได้เข้าไปยึดสนามบินอู่ตะเภาเพื่อมาทำเป็นฐานปฏิบัติการบินของกลุ่มแอร์เอเชีย แต่การลงทุนในโครงการอู่ตะเภาเป็นการลงทุนที่เราไปเป็น 1 ในผู้ถือหุ้นของผู้ลงทุนพัฒนาสนามบิน ดังนั้น เป้าหมายในการพัฒนาโครงการอู่ตะเภาจึงอยู่ที่การสร้างฮับการบินแห่งใหม่ที่เติบโตได้ในอนาคต”

ย้ำต้องมีรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน

นายธรรศพลฐ์กล่าวว่า ที่ผ่านท่าอากาศยานหลักของไทยทั้ง 2 แห่ง คือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และดอนเมืองนั้นนับว่าแออัดอย่างมาก ศักยภาพในการรองรับจำนวนเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสารเต็มและเกินกว่าศักยภาพในการรองรับแล้ว ขณะที่พื้นที่ในการขยายการรองรับก็เริ่มมีข้อจำกัด การผลักดันให้ท่าอากาศยานอู่ตะเภาเจริญเติบโต จึงเป็นความจำเป็นอย่างมากของประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม มองว่าปัจจัยสำคัญที่จะทำให้อู่ตะเภาประสบความสำเร็จตามเป้าหมายได้นั้นจะต้องมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินด้วย

“ตามแผนที่บริษัทยื่นเสนอไปนั้นได้ระบุชัดเจนว่า การคาดการณ์จำนวนเที่ยวบิน จำนวนผู้โดยสารที่จะเข้ามาใช้บริการในจำนวนที่ระบุไว้นั้น ต้องมาจากผลของการมีรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน”

รองรับได้กว่า 100 ล้านคนต่อปี

นายธรรศพลฐ์กล่าวต่อไปอีกว่า อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กลุ่มบริษัทเชื่อมั่นในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา คือ สถานที่ของสนามบินที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจอีอีซี ซึ่งเป็นโครงการสำคัญที่ภาครัฐบาลพยายามผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงใกล้เมืองพัทยา ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่คนทั่วโลกรู้จักเป็นอย่างดีอีกด้วย

ไม่เพียงเท่านี้ ในจังหวัดใกล้เคียง ยังเป็นพื้นที่ที่มีแหล่งท่องเที่ยวที่วันนี้ยังไม่ได้รับการโปรโมตอีกจำนวนมาก หากโครงการต่าง ๆ ทั้งโครงการพัฒนาสนามบิน, รถไฟความเร็วสูง และอีอีซี เดินไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด เชื่อว่าจะเป็นพลังในการผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศเจริญเติบโตได้อีกมหาศาลทีเดียว

ที่สำคัญ ด้วยขนาดพื้นที่กว่า 6,500 ไร่ ทำให้สนามบินแห่งนี้ขยายศักยภาพการรองรับเที่ยวบินและผู้โดยสารได้จำนวนมากในอนาคต หรือรองรับผู้โดยสารได้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านคนต่อปี สูงกว่าท่าอากาศยานดอนเมือง 3-4 เท่าตัว

เตรียมเงินลงทุน 2.9 หมื่นล้าน

นายธรรศพลฐ์กล่าวว่า สำหรับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกนั้นถือเป็นโครงการการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าการลงทุนรวมราว 2.9 แสนล้านบาท กลุ่มไทยแอร์เอเชียถือหุ่น 10% หรือคิดเป็นมูลค่าลงทุนประมาณ 2.9 หมื่นล้านบาท โดยเงินลงทุนดังกล่าวนี้จะทยอยลงทุนเป็นเฟส ไม่ได้ลงทุนครั้งเดียว จึงไม่ใช่ปัญหาแต่อย่างใด

นายธรรศพลฐ์กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับความคืบหน้าในการประมูลโครงการดังกล่าวนั้น ขณะนี้ขั้นตอนยังอยู่ในขั้นตอนเรียกพรีเซนต์ในด้านเทคนิค อาทิ รูปแบบการก่อสร้างอาคาร คาดการณ์จำนวนเที่ยวบิน และจำนวนผู้โดยสารที่จะเข้ามาใช้บริการ ฯลฯ ขั้นตอนต่อไป คือ รอเรียกให้ข้อมูลเพิ่มเติม

“ที่ผ่านมามีบางขั้นตอนที่สุดไปบ้าง ในกรณีปัญหาของกลุ่ม ซี.พี. แต่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อแผนงานของกลุ่มเรา” นายธรรธพลฐ์กล่าว และย้ำว่า บริษัทและพันธมิตรมีความมั่นใจอย่างมากสำหรับโครงการนี้

เหลือแข่งขันแค่ 2 ราย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับการประมูลโครงการดังกล่าวนี้ โดยมีกลุ่มบริษัทเข้ายื่นข้อเสนอ 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (BBS Joint Venture) ประกอบด้วย การบินกรุงเทพ, บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ และซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น2.กลุ่ม Grand Consortium ประกอบด้วย พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค, คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) และ ไทยแอร์เอเชีย จำกัด และ 3.กลุ่มกิจการค้าร่วม บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (ซี.พี.) ประกอบด้วย ธนโฮลดิ้ง, Orient Success International Limited, อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์, ช.การช่าง และบบี.กริม จอยน์ เว็นเจอร์ โฮลดิ้ง

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางได้พิพากษายกฟ้องกลุ่ม ซี.พี. ที่ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกฯ เนื่องจากยื่นข้อเสนอเกินระยะเวลาตามที่คณะกรรมการคัดเลือกฯกำหนดไว้ไปเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น เท่ากับว่าผู้มีสิทธิได้รับพิจารณาและร่วมแข่งขันครั้งนี้เหลือเพียงแค่ 2 ราย คือ กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส และกลุ่ม Grand Consortium เท่านั้น

คลิกอ่านเพิ่มเติม.. ซีพี+พันธมิตร หมดสิทธิชิงอู่ตะเภา เมืองการบิน ศาลปกครองชี้เลท 9 นาทีมีผล

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/tourism/news-365594


จำนวนผู้อ่าน: 1964

30 สิงหาคม 2019