พาณิชย์เปิดไต่สวนท่อเหล็ก ธุรกิจผวาเวียดนามทุ่มตลาด

พาณิชย์ไต่สวนเวียดนามทุ่มตลาดท่อเหล็ก 33% หลังยอดนำเข้าพุ่งกระฉูดกว่า 200,000 ตันต่อปี จนโรงงานผู้ผลิต 5 รายอยู่ไม่ได้ เผยเวียดนามใช้เหล็กม้วนราคาถูกจากจีนที่หนี AD ไทยผลิตเป็นท่อสำเร็จรูปส่งเข้ามาขายถล่มราคา ระบุหากรัฐไม่ขึ้นภาษีช่วย ท่อเหล็กไทยเดี้ยงแน่

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมการพิจารณาการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (ทตอ.) ได้เปิดไต่สวนเพื่อใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) สินค้าหลอดหรือท่อทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้ารวม 169 รายการที่ผลิตและนำเข้าจากประเทศเวียดนาม การเปิดไต่สวนครั้งนี้เป็นไปตามคำร้องของผู้ผลิตเหล็กในประเทศ 5 ราย ได้แก่ บจ.คอทโก้เมททอลเวอร์,บมจ.ค้าเหล็กไทย, บมจ.แปซิฟิกไพพ์,บมจ.เอเชีย เมทัล และ บจ.ไทยคูณการเหล็ก ซึ่งได้รับความเสียหายจากการถูกทุ่มตลาดจากเวียดนาม

“คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า เวียดนามทุ่มตลาดท่อเหล็กถึงร้อยละ 33.83 ของราคา CIF ซึ่งกระทบอุตสาหกรรมภายในประเทศ ปริมาณนำเข้าท่อเหล็กเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จนส่งผลต่อราคาขายท่อเหล็กในประเทศ”

ยอดนำเข้าท่อเหล็กในพิกัด 7306 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 5 ปี (2014-2019) ปี 2014 มีปริมาณนำเข้า 16,599 ตัน มูลค่า 478 ล้านบาท, ปี 2015 ปริมาณ 31,735 ตัน มูลค่า 685 ล้านบาท, ปี 2016 ปริมาณ 148,441 ตัน มูลค่า 2,602 ล้านบาท, ปี 2017 ปริมาณ 178,539 ตัน มูลค่า 3,885 ล้านบาท, ปี 2018 ปริมาณ 201,553 ตัน มูลค่า 4,934 ล้านบาท และการนำเข้า 7 เดือนแรกของปี 2019 อยู่ที่ 116,284 ตัน มูลค่า 2,486 ล้านบาท หรือเท่ากับในช่วง 5 ปีมีปริมาณนำเข้าเพิ่มกว่า 1,000%

นายไพศาล ธรสารสมบัติ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ทีเอ็มที สตีล หรือ TMT (บริษัทค้าเหล็กไทย) กล่าวว่า การถูกทุ่มตลาดท่อเหล็กจากเวียดนามเป็นผลมาจากประเทศไทยใช้มาตรการ ADเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนจากจีน เป็นเหตุให้จีนส่งเหล็กม้วนเข้ามาเป็นวัตถุดิบในการผลิตท่อเหล็กในเวียดนาม และส่งท่อเหล็กสำเร็จรูปเข้ามาทุ่มตลาดในไทย สังเกตได้ว่า ปริมาณนำเข้าท่อเหล็กจากเวียดนามเพิ่มขึ้นผิดปกติ ประกอบกับราคานำเข้าต่ำกว่าราคาที่จำหน่ายในเวียดนามด้วย

“เวียดนามได้เหล็กม้วนจากจีนที่มีต้นทุนต่ำแล้วนำมาผลิตท่อเหล็กสำเร็จรูปส่งเข้ามาขายในไทย ยังได้ลดภาษีนำเข้าจากกรอบของอาเซียนด้วย จนผู้ผลิตทั้ง 5 รายไม่สามารถแข่งขันได้ จึงจำเป็นต้องฟ้องทุ่มตลาดกับกรมการค้าต่างประเทศ”

ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สำรวจราคาจำหน่ายท่อเหล็กที่ผลิตในประเทศ กับราคาท่อเหล็กนำเข้าจากเวียดนาม พบว่าราคาเฉลี่ยต่างกันอยู่ 3-4 บาท จากการสอบถามโรงงานผู้ผลิตแจ้งว่า “ต้นทุน” เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน (hot rolled coil) ที่นำมาผลิตเป็นท่อเหล็กระหว่างไทยกับเวียดนามแตกต่างกันมาก กล่าวคือ ราคาเหล็กม้วนที่จีนขายให้กับโรงงานผลิตท่อเหล็กเวียดนามตก กก.ละ 15 บาท (ราคาส่งออกได้รับการอุดหนุนจากรัฐ-ไม่มีการเก็บภาษีนำเข้าเหล็กม้วน) ขณะที่ราคาเหล็กที่โรงงานผู้ผลิตท่อเหล็กไทยซื้อจากโรงงานผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนตก กก.ละ 17-19 บาท

“ต้นทุนราคาเหล็กม้วนก็ต่างกันมาก เรียกว่ามันทุ่มตลาดกันมาตั้งแต่วัตถุดิบในการผลิตเลย พอส่งออกท่อเหล็กสำเร็จรูปมาขายในประเทศไทยยังสามารถทำราคาต่ำกว่าท่อเหล็กที่ผลิตในประเทศได้ 3-4 บาท ทั้ง ๆ ที่มีต้นทุนค่าขนส่ง แสดงให้เห็นว่า ท่อเหล็กเวียดนามถูกมาก ๆ จนผู้ผลิตท่อเหล็กในประเทศสู้ไม่ได้ แต่จริง ๆ แล้วการทุ่มตลาดท่อเหล็กจากเวียดนามก็เกิดขึ้นมานานแล้ว เห็นทางโรงงานผู้ผลิตท่อเหล็กยื่นเรื่องไปที่กระทรวงพาณิชย์เป็นปี ๆ แล้วเพิ่งจะมาประกาศไต่สวนสมัย รมต.จุรินทร์” ผู้จำหน่ายท่อเหล็กกล่าว

นายวรพจน์ เพียรอภิธรรม นายกสมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น กล่าวถึงสถานการณ์การนำเข้าท่อเหล็กจากเวียดนามมีแนวโน้มสูงขึ้นตั้งแต่กลางปี 2016 หลังกรมการค้าต่างประเทศ ประกาศใช้มาตรการ AD ท่อเหล็กจากจีนและเกาหลี ส่งผลให้มีการนำเข้าจากท่อเหล็กเวียดนามทดแทน โดยผลิตภัณฑ์ท่อเหล็กนำเข้าจากเวียดนามกว่า 95% เป็นท่อเหล็กที่ผลิตจากเหล็กแผ่นรีดเย็นเคลือบสังกะสี โดยมีชั้นเคลือบสังกะสีที่หลากหลาย และความหนาของชั้นเคลือบค่อนข้างบาง เหมาะสำหรับงานโครงสร้างเหล็กที่รับน้ำหนักไม่มาก และไม่สามารถทนการกัดกร่อนของสนิมเมื่อใช้เป็นโครงสร้างภายนอกเมื่อเทียบกับการชุบสังกะสีโดยวิธีจุ่มร้อน

“ผลิตภัณฑ์ท่อเหล็กที่มีการนำเข้าเกือบทั้งหมดไม่มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) รองรับ อาจทำให้เกิดปัญหาการผลิตสินค้าที่ไม่มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์ รวมถึงการนำไปใช้งานอย่างไม่เหมาะสม ส่งผลกระทบด้านความปลอดภัยต่อผู้บริโภคอย่างเห็นได้ชัด เช่น ท่อเหล็กที่ผลิตจากเหล็กแผ่นรีดเย็นเคลือบสังกะสีมาทำเกลียวที่ปลายท่อทั้ง 2 ด้านเพื่อใช้ในงานระบบท่อส่งน้ำในอาคารหรือภายนอกอาคาร โดยการพิมพ์ตราผลิตภัณฑ์เป็นสินค้าท่อเหล็กอาบสังกะสี (มอก.277) หรือท่อเหล็กกล้าคาร์บอนสำหรับงานโครงสร้างทั่วไป (มอก.107) เพื่อผลิตเป็นงานโครงสร้างหลัก ดังนั้นจำเป็นต้องมีการกำหนดสัดส่วนสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่สามารถผลิตได้ภายในประเทศ (local contents) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการภายในประเทศและได้สินค้าที่มีมาตรฐาน” นายวรพจน์กล่าว

อนึ่ง ผลกระทบจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐจะเป็นตัวผลักดันให้มีการนำเข้าเหล็กและผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นทั้งจากเวียดนามและจีน ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น ประกอบด้วย ผู้ผลิตท่อเหล็กทั้งประเภทเชื่อมตะเข็บตรง (ERW), ตะเข็บเกลียว (SSAW), ท่อชุบสังกะสี, ท่อสเตนเลส และงานแปรรูปเหล็กแผ่นมีผู้ผลิต 50 ราย เป็นสมาชิกสมาคม 33 รายหรือประมาณ 70% ปัจจุบันมีการใช้กำลังการผลิตรวมกันเพียง 30-40% หรือประมาณ 1.4 ล้านตันต่อปี มีมูลค่าตลาดประมาณ 40,000 ล้านบาท

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/economy/news-368951


จำนวนผู้อ่าน: 1951

09 กันยายน 2019