หาก๊าซรับดีมานด์ - กฟผ.เตรียมเปิดประมูลหาผู้นำเข้าก๊าซ LNG เพื่อรองรับความต้องการใช้ในโรงไฟฟ้าของ กฟผ.ตามนโยบายเปิดเสรีธุรกิจก๊าซของกระทรวงพลังงาน
ผู้บริหาร กฟผ.ออกแถลงการณ์ข้ามประเทศถึงพนักงาน ขณะที่มีกลุ่มเคลื่อนไหว เป็นห่วงมติ กบง. 30 ส.ค. 62 ล้มประมูลแอลเอ็นจี กฟผ. ทำให้เกิดการผูกขาดประชาชนเสียประโยชน์
นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยืนยันว่า การผลิตไฟฟ้าทุกอย่างเป็นปกติ มั่นคง ไร้ปัญหา แม้วันนี้ (6 ก.ย.) สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) จะมีการนัดแต่งดำและไปยื่นหนังสือถึง รมว.พลังงานคัดค้านมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 62 เพื่อยกเลิกประมูลแอลเอ็นจีก็ตามผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ว่าการ กฟผ.ซึ่งอยู่ระหว่างการเดินทางดูงานที่ประเทศสเปน พร้อมผู้บริหารจำนวนหนึ่ง ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงเป็นการภายในกับพนักงาน กฟผ. เพื่อสร้างความเข้าใจลดข้อห่วงใยและข้อกังวลของผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. เพื่อให้เกิดขวัญและกำลังใจในการทำงาน
โดยระบุก่อนประชุม กบง.ที่มีมติดังกล่าว เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 62 ได้มีการประชุมระหว่างฝ่ายนโยบายของกระทรวงพลังงาน และคณะผู้บริหาร กฟผ. ฝ่ายนโยบายได้ให้คำมั่นยังคงยืนยันนโยบายการเปิดเสรีระบบก๊าซธรรมชาติอยู่ เพียงแต่ขอทบทวนปริมาณความต้องการใช้ภายในประเทศไห้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง และหากประเมินว่าเมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติม แล้วยังยืนยันหลักการเดิมที่มอบหมายให้ กฟผ.เป็นผู้นำเข้าเป็นรายแรก ต่อจากผู้นำเข้าที่มีอยู่เดิมรายเดียว
นอกจากนี้ยังได้เสนอให้มีการพิจารณาปริมาณการนำเข้าของ กฟผ. ว่าควรจะเป็นจำนวนกี่เปอร์เซ็นต์ของปริมาณตามต้องการใช้งานโดยรวม เพื่อเป็นกรอบหลักการดำเนินงานในอนาคต
ทั้งนี้ คณะผู้บริหาร กฟผ.คาคว่าการพิจารณาในประเด็นดังกล่าวเพิ่มเติมจะดำเนินการในขั้นตอนต่าง ๆ ของฝ่ายนโยบายกระทรวงพลังงานในอนาคตต่อไป ขอให้ผู้ปฏิบัติงานมีความมั่นใจและเชื่อใจต่อความตั้งใจจริงของฝ่ายนโยบายที่พิจารณาประโยชน์ในภาพรวมของประเทศชาติ และประโยชน์ในการพัฒนาและส่งเสริม กฟผ.ให้เจริญก้าวหน้า เป็นเสาหลักด้านพลังงานหน่วยงานหนึ่งของประเทศต่อไป
“กฟผ.ยืนยันมาตลอดว่าที่ผ่านมา กฟผ.ได้ดำเนินตามนโยบายรัฐบาลในการเปิดประมูลนำเข้าแอลเอ็นจีจนได้ราคานำเข้าที่ต่ำกว่าทุกสัญญานำเข้าของประเทศ โดยคำนวณแล้วหากนำเข้าได้ตามการประมูลไม่เกิน 1.5 ล้านตัน/ปี จะมีมูลค่านำเข้ากว่าแสนล้านบาท และประหยัดต้นทุนค่าไฟฟ้า เมื่อเปรียบเทียบกับราคาที่ซื้อจากในระบบการค้าก๊าซในปัจจุบันที่ บมจ.ปตท.เป็นผู้ดำเนินการได้ถึง 30,000 ล้านบาท”
ในขณะเดียวกันยังมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มพิทักษ์พลังงานไทย ซึ่งมีแกนนำคือนายพิเชษฐ์ ชูชื่น อดีตพนักงาน กฟผ.ได้ออกแถลงการณ์ 4 ก.ย. และยื่นหนังสือถึง รมว.พลังงาน ขอคัดค้านและต่อต้านการผูกขาดพลังงานไฟฟ้าและพลังงานอื่น ๆ และขอปกป้ององค์กรภาครัฐที่เป็นสาธารณูปโภคให้มีอิสระในการพัฒนากิจการขององค์กรนั้นอย่างมืออาชีพ
โดยระบุการเคลื่อนไหวครั้งนี้สืบเนื่องจากสถานการณ์การลงทุนการผลิตและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงที่จะถูกผูกขาดโดยกลุ่มทุนเพียงไม่กี่กลุ่ม ซึ่งในอนาคตจะทำให้ประเทศไทยตกเป็นเหยื่อผูกขาด
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/economy/news-368979
Person read: 1859
09 September 2019