นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เร่งเดินหน้าจัดเตรียมข้อมูลครอบคลุมรอบด้าน ทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้น และมาตรการทดแทนสารเคมีที่ยกเลิกใช้ ซึ่งต้องมีความปลอดภัย ส่วนกรณีทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่หมดอายุนั้น ขณะนี้ไม่มีการต่อทะเบียนให้แล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และยังได้สั่งการให้ยุติการนำเข้าสารที่มีความเสี่ยงสูงทั้ง 3 ชนิด
โดยล่าสุด มีข้อมูลสต็อกสารเคมีแต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ ซึ่งจากนี้จะเตรียมเดินหน้าตรวจเช็คสต็อกสารเคมีทั่วประเทศ ว่ามีจำนวนถูกต้องตามที่มีการแจ้งไว้หรือไม่ หากพบว่ามีการแจ้งเท็จจะดำเนินการตามกฎหมายจับกุมทันที ส่วนเรื่องการแบนสารดำเนินงานมาแล้ว 50% และมั่นใจว่าปี 2562 นี้จะสามารถยกเลิกได้
ทั้งนี้ ได้ส่งหนังสือจากกระทรวงเกษตรฯไปถึงกรรมการวัตถุอันตรายให้ยกเลิกการใช้สารดังกล่าวแล้ว ส่วนจะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับคณะกรรมการวัตถุอันตราย กระทรวงเกษตรฯไม่สามารถไปเร่งรัดได้
“เราจะทำให้เร็วและรอบคอบมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ยอมรับว่าได้รับแรงกดดันพอสมควร มีโทรศัพท์จากผู้ใหญ่หลายคน ที่เตือนว่าไม่อยากอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีหรือถึงได้ทำเรื่องนี้ แต่ตนเองคิดว่าในที่สุดแล้วเรื่องนี้จะอยู่ที่พลังประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจว่าตนจะทำสำเร็จได้หรือไม่”
สำหรับเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เครือข่ายวิชาการ องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมกับ เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง 686 องค์กร จำนวน 20 คนภายใต้การนำของ ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ นางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ นายสันติชัย ชายเกตุ นายสามารถ สะกะวี นายนพดล มั่นศักดิ์ นางสาวพลูเพ็ชร สีเหลืองอ่อน และนายสุนทร ร้กษ์รงค์ เป็นต้น
ได้เข้าพบเพื่อยื่นหนังสือสนับสนุนให้มีการแบนสารพิษที่มีความเสี่ยงสูง 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ต่อนางมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีข้อเสนอ 3 ข้อคือ
1. สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรซึ่งกำกับดูแลการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ยกเลิกการต่อทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง 3 ชนิด ได้แก่พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต โดยให้มีผลทันที
2.ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายเพื่อยกเลิกสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง 3 ชนิด โดยยกเลิกพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ภายในสิ้นปี 2562 ตามมติของกระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง
3. เครือข่ายฯสนับสนุนการตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ โดยไม่ต้องศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพอีก เนื่องจากได้มีการศึกษาโดยกระทรวงสาธารณสุขอย่างรอบคอบแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การยื่นหนังสือของเครือข่ายมีอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 3 คน ได้แก่ นายอรรถวิชช์ สุรรณภักดี นายวัชระ เพชรทอง และนายสามารถ มะลูลีม ได้เดินทางเข้ามาเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของนางมนัญญาอีกด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/economy/news-369914
จำนวนผู้อ่าน: 1859
11 กันยายน 2019