พิษเศรษฐกิจขาลง ทำ “ร้านของฝาก-ของที่ระลึก” ทั่วไทยหลายจังหวัดยอดขายวูบ 20-50% “เชียงใหม่” ชี้นักท่องเที่ยวลด ทำภาพรวมแย่สุดในรอบ 20 ปี ด้าน “เพชรบุรี-อุดรฯ-ตรัง” ยอดขายลด แถมคนประหยัดจ่ายน้อย ดิ้นอัดโปรโมชั่นทั้งลด-แถม พร้อมขายออนไลน์หารายได้หนุน “มหาสารคาม” หวังมาตรการ “ชิม ช็อป ใช้” ของรัฐบาลกระตุ้นการจับจ่าย
ยอดนักท่องเที่ยวชาวไทย และต่างชาติที่ลดลง จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และการใช้จ่ายต่อหัวต่อคนที่ลดลง ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว รวมถึงยอดขายสินค้าในร้านขายของฝาก ของที่ระลึกลดลงไปตามกัน เห็นได้จากการสำรวจของ “ประชาชาติธุรกิจ” ในหลายจังหวัด
“เชียงใหม่” ขายดิ่งรอบ 20 ปี
นายวีระพงษ์ ยารังษี เจ้าของร้านสายทอง ร้านขายของฝากในตลาดต้นพยอม จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมของตลาดขายของฝากในปีนี้ถือว่าแย่สุดในรอบกว่า 20 ปี ตั้งแต่เปิดร้านมา โดยจำนวนนักท่องเที่ยวคนไทย ซึ่งเป็นลูกค้ากลุ่มหลักลดลงถึง 50% ส่งผลให้ยอดขายของฝากลดลงอย่างมากราว 50% จากเดิมที่ยอดขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 20,000-30,000 บาท ปัจจุบันยอดขายหน้าร้านต่อวันเหลือเพียงราว 10,000 บาทเท่านั้น
ขณะที่วัตถุดิบทุกอย่างได้ปรับราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าหลายอย่างที่ทางร้านผลิตเองเพิ่มขึ้นราว 20-30% และส่งผลให้กำไรลดลง แต่ไม่สามารถปรับราคาขายสินค้าของฝากได้ เพราะจะทำให้ขายได้ยากขึ้น โดยยังคงขายราคาเดิม
“เศรษฐกิจของประเทศที่ชะลอตัวและปัญหาการเมืองน่าจะเป็นสาเหตุหลักที่กระทบต่อภาพรวมการขายของฝากจากเชียงใหม่ เพราะนักท่องเที่ยวคนไทยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวลดลง และต้องระมัดระวังเรื่องการใช้จ่าย ทั้งนี้ สถานการณ์ตลาดขายของฝากเชียงใหม่ย่ำแย่มาเรื่อย ๆ ในระยะ 2-3 ปี แต่ปีนี้นับว่าหนักที่สุด ซึ่งเกือบทุกร้านในตลาดต้นพยอมประสบปัญหาเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ทางร้านสายทองได้ปรับตัว โดยผลิตสินค้าที่ทำต่อวันลดลง 50% โดยเฉพาะไส้อั่ว แคบหมู และน้ำพริกหนุ่ม เพื่อให้พอขายในแต่ละวัน และทำโปรโมชั่นทั้งลด และแถมให้กับลูกค้าที่มาซื้อหน้าร้าน”
“เพชรบุรี-อุดรฯ” วูบ 50%
นางณัฏฐนันทน์ ผลากุลสันติกร เจ้าของร้านหมูยอนายเติม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ยอดขายของฝากที่ร้านมียอดขายตกมา 2-3 ปี แล้ว เพราะเศรษฐกิจไม่ดี ลูกค้ามีงบฯน้อยลง ทางร้านต้องการลูกค้าประจำจึงปรับตัวพยายามจัดโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดลูกค้า และพยายามออกโรดโชว์ตามงานต่าง ๆ ทั่วประเทศ ที่สำคัญได้เปิดขายออนไลน์ด้วย ทำให้ได้ลูกค้าจากร้านยำ ร้านส้มตำใหญ่ ๆ ในกรุงเทพฯ จึงมียอดขายจากออนไลน์เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน พยายามรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้ ตอบสนองความต้องการทั้งเรื่องราคาและบรรจุภัณฑ์ โดยทางร้านมีสินค้าหลากหลาย เช่น หมูยอ กุนเชียง ขนม และของฝากอื่น ๆ อีกมากมาย
นางศนันณ์ ธฉัตร ผู้จัดการร้านขายของฝาก บรูด้า จ.เพชรบุรี เปิดเผยว่า เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดี ส่งผลให้ลูกค้าไม่มีกำลังซื้อ รวมถึงสภาพอากาศที่แปรปรวน ทำให้ยอดขายลดลง 50% แต่เดิมมีรายได้ประมาณ 10,000-30,000 บาทต่อวัน แต่ขณะนี้ได้ประมาณ 5,000 ต่อวัน จึงปรับการจัดร้านใหม่จากเดิมเปิดขาย 2 ชั้น โดยชั้นแรกเป็นร้านขายของฝาก และร้านกาแฟ ส่วนชั้น 2 เป็นร้านอาหาร เหลือเปิดให้บริการเพียงชั้น 1 ส่วนชั้น 2 จะเปิดเฉพาะวันที่มีกรุ๊ปทัวร์มาลง
นายปกรณ์ ตั้งพาณิชย์ ผู้จัดการร้านข้าวตัง สุคันธา จ.เพชรบุรี เปิดเผยว่า ภาพรวมของร้านในปัจจุบันยอดขายลดลง 10-15% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ปัจจัยส่วนใหญ่มาจากเศรษฐกิจโดยรวมภายในประเทศ อีกทั้งลูกค้ามีกำลังซื้อลดลง ซึ่งทางร้านได้มีการปรับตัวโดยเน้นการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อดึงดูดลูกค้า และได้มีวางขายผ่านแอป Shopee Lazada รวมถึงการจัดโปรโมชั่นต่าง ๆ ภายในร้าน เช่น สินค้าราคาพิเศษ ฯลฯ ส่วนลูกค้าขายส่ง ทางร้านมีการจัดโปรโมชั่น ซื้อ 10 ลัง แถม 1 ลัง และหวังว่าในอนาคตสถานการณ์จะดีขึ้น โดยเฉพาะช่วงปลายปี 2562 หากลูกค้าเลือกซื้อของฝากมากขึ้น
สารคามชู “ชิม ช็อป ใช้” ช่วย
นางฉวีวรรณ วันดี ประธานกลุ่มสตรีทอเสื่อกกบ้านแพง ต.แพง อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม เปิดเผยผลประกอบการว่า ยอดขายเสื่อกกช่วงไตรมาส 3 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ลดลงเกินกว่า 5% แม้สินค้าจะยังขายได้แต่ค่อนข้างฝืดเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว กลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ประจำที่นิยมซื้อเป็นของฝากก็ลดน้อยลง สถานการณ์ปัจจุบันไม่สามารถทำอะไรได้ นอกจากรอเม็ดเงินจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล อย่างเช่น โครงการ “ชิม ช็อป ใช้” โดยทางกลุ่มเตรียมจะไปยื่นสมัครเป็นร้านค้าร่วม เพราะคาดหวังว่าจะได้รับอานิสงส์จากโครงการนี้มากพอสมควร นอกจากนั้น ยังหวังยอดขายจากงานโอท็อปซิตี้ในช่วงปลายปีต่อช่วงเข้าเทศกาลปีใหม่ ซึ่งคาดว่าในช่วงดังกล่าวจะมีกำลังซื้อสูง สามารถชดเชยยอดขายที่ลดลงในช่วงนี้ได้
ด้านนายกฤษฏากร ด้วงกระยอม นักธุรกิจจัดตลาดนัดในเมืองมหาสารคาม ให้ความเห็นกรณีนี้ว่า สินค้าพวกของที่ระลึก เครื่องประดับ ยอดขายลดลง เนื่องจากลูกค้าประหยัดค่าใช้จ่าย จ่ายเฉพาะสินค้าที่จำเป็นและอยู่ในช่วงหน้าฝนกำลังซื้อช่วงนี้ต่ำอยู่แล้ว ลูกค้าที่มาเดินตลาดนัดถึงจะคึกคัก แต่ไม่ค่อยใช้จ่าย ทั้งที่เงินโครงการรัฐบาลที่แจกออกมาช่วงนี้มีจำนวนไม่น้อยแต่ยังเงียบ ๆ ไม่รู้ชาวบ้านนำเงินที่ได้ไปใช้จ่ายอะไร
“ตรัง” รายได้สูญ 20%
นายณัฐวัตร ตัณศิริเสถียร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตรังโอท็อป อินเตอร์เทรดเดอร์ จำกัด และผู้จัดการร้านขนมจีบป้าพิณ ผู้ประกอบการธุรกิจจำหน่ายของฝากใน จ.ตรัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ร้านจำหน่ายของฝาก ของที่ระลึกเมืองตรังในช่วงนี้ยอดขายตกลงไปประมาณ 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากภาพรวมทางเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ภาคท่องเที่ยวที่เป็นกำลังซื้อหลักอยู่ในภาวะชะลอตัว ประกอบกับช่วงนี้เป็นช่วงโลว์ซีซั่น ทำให้มีนักท่องเที่ยวไม่มากนัก ขณะที่คนในจังหวัดตรังส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวนยาง สวนปาล์มน้ำมัน เมื่อราคาผลผลิตอยู่ในระดับต่ำ รายได้ลดลง ส่งผลให้กำลังซื้อลดลงไปด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น ประมาณเดือนตุลาคมคาดว่าจะช่วยให้ธุรกิจจำหน่ายของฝาก ของที่ระลึกดีขึ้น
ด้านนายภิญโญ เต็งรัง ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ โรงแรมธรรมรินทร์ ธนา อ.เมือง จ.ตรัง เปิดเผยว่า กลุ่มโรงแรมธรรมรินทร์ มีสินค้าของฝากของที่ระลึกหลายชนิดที่ขึ้นชื่อ เช่น ขนมเปี๊ยะ ขนมเต้าส้อ ผลิตภัณฑ์ปลากระป๋องปุ้มปุ้ย ฯลฯ ปีนี้ยอมรับว่ายอดขายลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ไม่มากนัก เนื่องจากทางโรงแรมยังมีกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยว และลูกค้าที่มางานสัมมนาอย่างต่อเนื่อง โดยทางโรงแรมจัดมุมสินค้าไว้บริการอย่างโดดเด่น และเปิดจำหน่ายภายในอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานตรัง ในภาพรวมจึงทรงตัว และคาดว่าช่วงไฮซีซั่นกำลังซื้อจากกลุ่มท่องเที่ยวน่าจะกลับมาเหมือนเดิม
กำลังซื้อ “ภูเก็ต” ดิ่ง กระทบห่วงโซ่ผลิต
นางสาวเสาวลักษณ์ แซ่เสี้ยว ประชาสัมพันธ์ บริษัท พรทิพย์ จำกัด ศูนย์รวมจำหน่ายสินค้าของฝากของที่ระลึก จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า เมื่อจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง ส่งผลกระทบต่อยอดขายค่อนข้างมาก โดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวจีนลดลง ที่ยังมีตลาดอินเดีย อินโดนีเซียเข้ามาบ้าง แต่กำลังซื้อไม่มาก ภาพรวมยอดขายปีนี้ลดลงประมาณ 30% เปรียบเทียบจากปีที่ผ่านมา ทางร้านจึงมีการปรับตัว เน้นไปขายทางออนไลน์มากขึ้น กระจายสินค้าไปยังห้างโมเดิร์นเทรด เดอะมอลล์ และห้างอื่น ๆ รวมทั้งเข้าร่วมรายการในกิจกรรมของห้างต่าง ๆ ที่จัดรายการเพื่อกระจายสินค้า และเมื่อรายได้ลดลง ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านที่ส่งสินค้าเป็นลูกโซ่ด้วย โดยมีการสั่งซื้อจากชาวบ้านลดลงหรือเว้นช่วงการสั่งซื้อ เช่น จากเดิมซื้อเดือนละครั้ง เว้นระยะห่างของการสั่งซื้อนานขึ้นกว่าเดิม
ด้าน นางสาวกัลยา ทองสมบูรณ์ รองผู้จัดการธุรกิจค้าปลีกและการตลาด บริษัท คุณแม่จู้ จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมการจำหน่ายสินค้าของฝากของที่ระลึกของทางร้านปีนี้ยอดขายลดลงจากปีที่แล้วประมาณเกือบ 20% มีการส่งสินค้าไปขายตามห้างโมเดิร์นเทรด เช่น ศูนย์การค้าจังซีลอน ป่าตอง ภูเก็ต เป็นต้น
นักท่องเที่ยวจีนลดลง ทำให้กระทบต่อยอดขายตามไปด้วย จึงมีการปรับตัวของสินค้าให้สามารถตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น มีการทำโปรโมชั่นให้ลูกค้า เช่น ลดเปอร์เซ็นต์ลงในการซื้อสินค้า เป็นต้น รวมทั้งปีนี้ทำตลาดออนไลน์เต็มรูปแบบเพื่อเพิ่มยอดขาย ผ่านทางเว็บเพจของร้าน ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากลุ่มลูกค้าของทางร้าน 90% เป็นคนไทยที่เหลือ 10% เป็นคนต่างชาติ เมื่อยอดขายลดลง ต้องลดปริมาณการสั่งซื้อสินค้าจากชาวบ้านที่ผลิตให้น้อยลงตามลำดับ
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/local-economy/news-369573
Person read: 2056
11 September 2019