5 ปี ลุ้นอนาคตมหา’ลัยราชภัฏ จี้รัฐจัดระเบียบเป็น”สถาบันเพื่อท้องถิ่น”

กระทบถ้วนหน้า - มหาวิทยาลัยราชภัฏเริ่มขยับภายหลังปัญหาเด็กเข้าเรียนน้อยทำรายได้หด ปรับหลักสูตรแข่งสู้กับมหาวิทยาลัยดังก็ยาก คาดอนาคตต้องกลับมาสู่จุดเริ่มต้นที่เป็นจุดแข็งคือ การผลิตครูคุณภาพ

วงในวิเคราะห์ทิศทางราชภัฏในอีก 5 ปีข้างหน้า หากไม่ปรับตัวมีโอกาส “ควบรวม” สูง มองราชภัฏออกนอกระบบทำแก้ปัญหาใส้ในยาก แจงสังคมเข้าใจที่มาเด็กราชภัฏ ความเก่ง-ความต่างและโอกาสต่างกัน จี้รัฐแก้ปัญหา กำหนดเขตพื้นที่รับผิดชอบให้ชัดเจน

แหล่งข่าวในแวดวงธุรกิจการศึกษาเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงสถานการณ์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏที่ได้รับผลกระทบจากอัตราการเกิดน้อยลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาว่า ในปี 2562 นี้อาจจะยังไม่กระทบมากนัก หากพิจารณาจากตัวเลขของนักศึกษาใหม่ (เฉพาะระดับปริญญาตรี) ในช่วงปี 2561 ตัวเลขยังคงแตะระดับ 1,000 คนขึ้นไป แต่มีการคาดการณ์ว่าหากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในการแก้ไขสถานการณ์ในอีก 5 ปีข้างหน้า มีแนวโน้มสูงที่อาจจะต้อง “ควบรวม” มหาวิทยาลัยราชภัฏในบางพื้นที่ที่มีขนาดเล็ก

โดยปัจจุบันมหาวิทยาลัยราชภัฏเริ่มปรับตัวไปบ้าง ด้วยวิธีปิดหลักสูตรที่ไม่มีผู้สนใจเรียน และพัฒนาหลักสูตรเดิมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่จะต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น อันไปสอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของภาครัฐ ทำให้มหาวิทยาลัยราชภัฏยังประคองตัวเองภายใต้ปัญหาเหล่านี้ได้

ทั้งนี้ปัญหาของมหาวิทยาลัยราชภัฏไม่ได้มีเพียงแค่จำนวนนักศึกษาที่ลดลงเท่านั้น ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกคือ 1) การออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ในช่วงขาขึ้นของธุรกิจการศึกษา ทั้งนั้นเพราะมหาวิทยาลัยราชภัฏมีการขยายหลักสูตรใหม่เพิ่มเติมเพื่อแข่งขันกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ที่เข้ามาเปิดวิทยาเขตในพื้นที่ใกล้เคียงกัน เมื่อเปิดหลักสูตรเพิ่ม ทำให้ต้องสรรหาบุคลากรเพิ่มเติม โดยเฉพาะอาจารย์ และผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ แต่เมื่อนักศึกษาน้อยลงในขณะที่ยังมีอัตรากำลังยังอยู่เท่าเดิม จึงกลายเป็นต้นทุนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏต้องแบกภาระไว้ แม้ว่าส่วนหนึ่งจะได้รับงบประมาณจากภาครัฐก็ตาม

2) เมื่อมหาวิทยาลัยราชภัฏออกนอกระบบ การตัดสินใจในด้านต่าง ๆ เช่น การลงทุนขยายวิทยาเขตหรือการเพิ่มหลักสูตรใหม่ ไม่จำเป็นต้องนำเสนอกระทรวงศึกษาธิการหรือหน่วยงานที่กำกับดูแล เพราะอำนาจการตัดสินใจจะอยู่ที่ “สภามหาวิทยาลัย” ของมหาวิทยาลัยราชภัฏแต่ละแห่ง และ 3) วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อดูแลการศึกษาในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งจำนวนมหาวิทยาลัยราชภัฏควรอยู่ที่ 2 จังหวัดต่อหนึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏ แต่หากมองภาพรวมในปัจจุบันถือว่ามีจำนวนมหาวิทยาลัยราชภัฏมากกว่าความต้องการในบางพื้นที่ก็มี

“จริง ๆ แล้วการควบรวมสถาบันการศึกษาไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแต่ละสถาบันเองมีขนาดใหญ่ มีคนทำงาน รายละเอียดค่อนข้างเยอะ แถมราชภัฏในปัจจุบันมีสถานะเป็นนิติบุคคล และถือว่าเทียบเท่ากับกรม ระดับอธิการบดีก็เทียบเท่ากับอธิบดีกรม การเข้าไปแตะปัญหาก็จะยาก ทำให้ปัญหาภายในของมหาวิทยาลัยราชภัฏไม่มีการแก้ไข แต่การจัดตั้งกระทรวงใหม่อย่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับใหม่ที่เปิดทางให้หน่วยงานรัฐเข้ามากำกับดูแลและแก้ไขปัญหาได้ ถือว่าการศึกษาไทยยังมีความหวังอยู่บ้าง”

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมถึงประเด็นคุณภาพของนักศึกษาที่จบจากมหาวิทยาลัยราชภัฏว่า มักจะเป็นทางเลือกสุดท้ายในการพิจารณาเข้ารับทำงานของผู้ประกอบการ ว่าความแตกต่างและโอกาสของนักศึกษาแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ส่วนหนึ่งของนักศึกษาที่พลาดหวังจากการสอบเข้ามหาวิทยาลัยใหญ่ ฉะนั้น ถือเป็นนักเรียนอีกเกรดที่มหาวิทยาลัยราชภัฏต้องรับเข้าเรียน รวมถึงนักศึกษาที่มีฐานะยากจนจะต้องเข้าถึงการเรียนในมหาวิทยาลัยราชภัฏด้วยเช่นกัน เท่ากับว่าไม่สามารถเลือกเด็กเก่งเข้ามาเรียนได้ ในจำนวนนักศึกษา 100 คน จะมีนักศึกษาที่เก่งและผู้ประกอบการรับเข้าทำงานเพียง 10-20% เท่านั้น

นอกเหนือจากนี้คือแผนการขยายวิทยาเขตของแต่ละมหาวิทยาลัยราชภัฏค่อนข้างยาก ภายใต้การแข่งขันและปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จึงทำให้ต้องชะลอตัวลง ซึ่งในบางมหาวิทยาลัยราชภัฏเลือกใช้วิธีการเปิดเป็น “ศูนย์การศึกษา” แทน เนื่องจากกฎหมายกำหนดไว้ว่าการขยายวิทยาเขตของสถาบันการศึกษาจะต้องมีคณะอย่างน้อย 1 คณะ ในขณะที่การเปิดเป็นศูนย์การศึกษามีแค่อาจารย์ประจำวิชาก็สามารถเปิดดำเนินการได้

“ที่สังคมตั้งคำถามถึงคุณภาพของเด็กราชภัฏ เรามองว่าย้อนแย้งกับโอกาสทางการศึกษา เมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน เด็กก็ต่างกัน มหาวิทยาลัยดังรับเด็กเก่งเข้าไปปั้นนิดเดียวเขาก็เป็นดาวได้แล้ว แต่เด็กของเราไม่ใช่ สังคมต้องเข้าใจในประเด็นเหล่านี้ด้วย ไม่ต้องการให้มองในแง่ของคุณภาพเท่านั้น อยากให้มองในแง่ของการใช้ประโยชน์ของราชภัฏที่กระจายอยู่ทั่วประเทศด้วย โดยเฉพาะการเชื่อมโยงและพัฒนาท้องถิ่นที่เป็นภารกิจที่สำคัญของมหาวิทยาลัยราชภัฏ”

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ปัญหาจำนวนนักศึกษาที่น้อยลงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ไม่ได้มีปัญหาแค่เพียงมหาวิทยาลัยราชภัฏเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อภาพรวมของการศึกษาทั้งระบบ ซึ่งในกรณีมหาวิทยาลัยเอกชนนอกจากจะปรับตัวด้วยการปรับหลักสูตรให้ทันสมัย รองรับกับความต้องการของผู้ประกอบการแล้ว ยังสามารถดึงพันธมิตรใหม่อย่าง เช่น นักลงทุนจากประเทศจีนเข้ามาถือหุ้นได้ เนื่องจากการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในจีนการแข่งขันสูงมาก ส่งผลให้หันมาเรียนในมหาวิทยาลัยของไทยที่เป็นภาคอินเตอร์มากขึ้น โดยคาดว่าปัจจุบันมีนักศึกษาจีนในไทยอยู่ที่มากกว่า 30,000 คนแล้ว ในขณะที่มหาวิทยาลัยของภาครัฐไม่สามารถดำเนินการในแบบเดียวกันได้

……………………

ก.พ.อ.ไม่ประชุม 4 เดือน

นอกเหนือจากประเด็นปัญหาข้างต้นแล้ว ภายหลังจากที่คณะรัฐบาลใหม่ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมตรีเข้ามา จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการประชุมของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) มานาน รวมกว่า 4 เดือน ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวมีบทบาทหน้าที่ในการดูแลการบริหารงานบุคคลของข้าราชการในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ของภาครัฐ

ส่งผลให้มีเรื่องค้างเพื่อพิจารณาเป็นจำนวนมาก ทั้งในเรื่องการบรรจุข้าราชการ รวมถึงการพิจารณาอนุมัติตำแหน่งศาสตราจารย์ รวมถึงอัตราเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการต่าง ๆ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามปัญหาของบุคลากรในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ของรัฐ ถือเป็นอีกประเด็นที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อยไปกว่าประเด็นคุณภาพของทั้งครู อาจารย์ โดยเฉพาะจำนวนของบุคลากรในมหาวิทยาลัยราชภัฏมีมากกว่างานที่มีอยู่หรือไม่ ทั้งนี้โดยโครงสร้างอัตรากำลังของมหาวิทยาลัยราชภัฏแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ ข้าราชการ พนักงานมหาวิทยาลัย พนักงานจ้างเอง และอาจารย์ประจำตามสัญญา ซึ่งพนักงานส่วนใหญ่ในมหาวิทยาลัยราชภัฏคือ พนักงานมหาวิทยาลัย ซึ่งคาดว่าเร็ว ๆ นี้จะเริ่มดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการฯชุดดังกล่าวเพื่อพิจารณางานคงค้างต่อไป

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/education/news-369268


Person read: 2369

11 September 2019