ชง กมธ.ดัน “สนามบินพัทลุง” “บรูไน-อังกฤษ-จีน” เสนอลงทุนครบวงจร

สร้างรายได้ - องค์กรภาครัฐและเอกชนใน จ.พัทลุงพยายามผลักดันโครงการก่อสร้างสนามบินพัทลุง มูลค่า 2,000 ล้านบาทอีกครั้ง หลังจากที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยยังไม่มีแผนแม่บทในการสร้างสนามบินแห่งใหม่

บรูไน-อังกฤษ-จีนเสนอลงทุน “สนามบินพัทลุง” ครบวงจร ทั้งโครงสร้าง-ศูนย์ซ่อมเครื่องบิน-ศูนย์ฝึกอบรม-โรงแรม-สนามกอล์ฟ บนพื้นที่ 1,500 ไร่ของกรมธนารักษ์ บริเวณถนนเลียบทะเลสาบสงขลา

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานจากจังหวัดพัทลุงว่า หลังจากที่นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ได้มีหนังสือไปยังกรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม เพื่อให้ศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้โครงการก่อสร้างสนามบินพัทลุง และทางกรมท่าอากาศยานได้แจ้งให้ทางจังหวัดทราบว่า ทางสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยยังไม่มีแผนแม่บทในการสร้างสนามบินแห่งใหม่ พร้อมทั้งระบุว่า จังหวัดพัทลุงอยู่ภายในรัศมีวงรอบของสนามบินหาดใหญ่ และสนามบินตรัง โดยการเดินทางไม่เกิน 100 กิโลเมตรนั้น

ล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัดพัทลุง (กรอ.จังหวัด) ซึ่งมีนายกู้เกียรติเป็นประธาน ได้มีการนำวาระเรื่องการประชุมติดตามความคืบหน้าแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสนามบินพัทลุงมาพิจารณา และที่ประชุมได้มีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาขับเคลื่อนการก่อสร้างสนามบินพัทลุงอย่างจริงจังและต่อเนื่อง หลังจากมีนักลงทุนชาวต่างประเทศหลายประเทศสนใจมาลงทุนก่อสร้างสนามบินพัทลุง

นายสิทธิชัย ลาภานุพัฒนกุล เจ้าของโรงแรมชัยคณาธานี จ.พัทลุง ในฐานะนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดพัทลุง และคณะกรรมการขับเคลื่อนการก่อสร้างสนามบินจังหวัดพัทลุง กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้มี 3 บริษัทจากต่างประเทศ ทั้งบรูไน อังกฤษ และจีน เสนอตัวเข้ามาลงทุนโครงการก่อสร้างสนามบินพัทลุงอย่างครบวงจร ทั้งโครงสร้างสนามบิน สถานที่อบรมฝึกสอนการบิน ศูนย์ซ่อมเครื่องบิน ศูนย์ฝึกอบรมแอร์โฮสเตส พร้อมโรงแรม สนามกอล์ฟ เป็นต้น โดยการก่อสร้างจะดำเนินการบนที่ดินของกรมธนารักษ์ ต.ควนมะพร้าว อ.เมือง จ.พัทลุง มีพื้นที่ประมาณเกือบ 1,500 ไร่ บริเวณถนนเลียบทะเลสาบสงขลา

“ทางคณะกรรมการขับเคลื่อนฯจะทำการผลักดันโครงการก่อสร้างสนามบินพัทลุงในทุกช่องทางต่อไป โดยเฉพาะการผลักดันผ่านนายนริศ ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้นำเสนอต่อคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป สิ่งที่กรมท่าอากาศยานตีกลับมาถือเป็นข้ออ้างที่ระบุว่า จังหวัดพัทลุงอยู่ภายในรัศมีวงรอบของสนามบินหาดใหญ่ และสนามบินตรัง โดยการเดินทางไม่เกิน 100 กิโลเมตร จึงไม่ได้พิจารณาโครงการสนามบินไว้ในแผนแม่บทนั้น หากเปรียบเทียบสนามบินลำปาง เชียงใหม่ สกลนคร นครพนม กระบี่-ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี-เกาะสมุย และสนามบินดอนเมือง-นครปฐม ระยะทางไม่เกิน 100 กิโลเมตร โดยเฉพาะสนามบินกระบี่-ภูเก็ต และสนามบินสุราษฎร์ธานี-เกาะสมุย มีระยะทางห่างกันประมาณ 50 กิโลเมตร แต่กลับสร้างสนามบินได้”

นายสิทธิชัยกล่าวต่อไปว่า หากมีการก่อสร้างสนามบินพัทลุงจะเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจ เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับจังหวัดพัทลุง และประเทศไทย เช่น มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจฐานรากดีขึ้น

“ส่วนการตั้งศูนย์ซ่อมเครื่องบินมีความจำเป็น เพราะปัจจุบันสายการบินมีการเติบโตมาก ขณะที่นักบินก็ขาดแคลน จึงจำเป็นต้องสร้างศูนย์ฝึกนักบิน”

ผศ.ดร.กุณทล ทองศรี ผู้ประสานงานกลุ่มคณะทำงานการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสนามบินพัทลุง เปิดเผยว่า ทางกลุ่มคณะทำงานได้ทำการผลักดันโครงการสร้างสนามบินพัทลุง ซึ่งขณะนี้มีพื้นที่ประมาณ 1,500 ไร่ ของกรมธนารักษ์ ตั้งอยู่ ต.ควนมะพร้าว อ.เมือง จ.พัทลุง บริเวณถนนเลียบทะเลสาบสงขลา โดยนายวิสุทธิ์ ธรรมเพชร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง (อบจ.) พร้อมจะโอนมอบที่ดินแปลงนี้ให้สำหรับดำเนินโครงการก่อสร้างสนามบินพัทลุง เป็นสนามบินพาณิชย์ และต้องมีปัจจัยสนับสนุนเพื่อให้สนามบินคุ้มทุน คือ การลงทุนสร้างสนามศูนย์ฝึกอบรมนักบิน ศูนย์ซ่อมบำรุงเครื่องบิน และการเปิดสอนสาขาซ่อมบำรุงอากาศยาน หรือสาขาที่เกี่ยวข้องที่วิทยาลัยเทคนิคพัทลุงด้วย

อนึ่ง ทางจังหวัดพัทลุงได้เคยสำรวจข้อมูลการเดินทางพบว่าชาวพัทลุงเดินทางด้วยเครื่องบินเฉลี่ยปีละ 98,697 คน หรือเดือนละ 8,223 คน หรือวันละ 273 คน โดยใช้บริการสนามบิน 3 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานตรัง รองลงมาเป็นท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่ และท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/local-economy/news-370830


จำนวนผู้อ่าน: 2108

13 กันยายน 2019