“กรมราง” เร่งทำผลงานชิ้นโบแดง เปิดสูตรลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า 4 สาย ชง 2 แนวทาง คลอดตั๋วเดือน 300-500 บาท หั่นราคาช่วง off peak เหลือ 20-25-30 บาท บีทีเอสขอดูรายละเอียด จ่อชง “ศักดิ์สยาม” ไฟเขียว ก.ย. คิกออฟ ธ.ค.นี้ คาดคนใช้เพิ่ม 1.5 แสนเที่ยวคนต่อวัน
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า วันที่ 6 ก.ย. 2562 เป็นครั้งแรกที่คณะกรรมการพิจารณาโครงสร้างอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าได้ประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน ตามที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มีคำสั่งแต่งตั้งเมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา
2 แนวทางลดค่ารถไฟฟ้าเริ่มปีนี้
โดยคณะกรรมการมีอธิบดีกรมรางเป็นประธาน มีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง กรมสรรพากร สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรุงเทพมหานคร (กทม.) กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC)
“มี 2 แนวทาง คือ ให้ส่งเสริมการใช้บัตรโดยสารแบบรายเดือน และลดราคาในช่วง off peak หรือนอกเวลาเร่งด่วน ให้ไปพิจารณาลดอัตราสูงสุด เหลือ 20-25-30 บาท เช่น สีม่วงจาก 14-42 บาท เหลือ 14-20 บาทเพื่อจูงใจคนเดินทางมากขึ้น ลดความแออัดช่วงเร่งด่วน คาดว่าจะทำให้ผู้โดยสารรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทุกระบบ 10% หรือประมาณ 1.5 แสนเที่ยวคนต่อวัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.33 ล้านเที่ยวคนต่อวัน คาดว่าภายในเดือน ก.ย.นี้จะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณาและเริ่มทดลองได้ภายในปีนี้”
สั่งจัดโปรโมชั่นบัตรรายเดือน
นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า เป็นความพยายามอย่างยิ่งของกรมการขนส่งทางรางที่จะทำให้สำเร็จ ซึ่งผลประชุมก็เป็นที่น่าพอใจ หลังได้ดูข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณผู้โดยสารในช่วงเร่งด่วนและไม่เร่งด่วน รายได้ การส่งเสริมการเดินทางในแต่ละระบบเพื่อลดรายจ่ายของประชาชน
ทั้งนี้ แนวทางระยะสั้นที่ทำได้ง่ายและจะดำเนินการให้ทันภายในปีนี้ คือ ให้รถไฟฟ้าแต่ละระบบมีการจัดโปรโมชั่นบัตรโดยสารแบบรายเดือนและจำกัดจำนวนเที่ยว เพื่อให้ค่าโดยสารถูกลง ซึ่งปัจจุบันบีทีเอสได้ดำเนินการอยู่แล้ว มีค่าโดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 26 บาทต่อเที่ยว โดยลดลงจากค่าโดยสารโดยเฉลี่ยต่อเที่ยว 29 บาท ลงมาที่ 12%
BEM-BTS พร้อมให้ความร่วมมือ
แต่รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง (เตาปูน-คลองบางไผ่) ได้ยกเลิกบัตรโดยสารรายเดือนไปแล้วเมื่อเดือน ส.ค. 2560 ทั้งนี้ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้กรุงเทพ (BEM) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่กำกับดูแลทั้ง 2 สายทางก็พร้อมที่จะสนับสนุนที่ทำบัตรโดยสารรายเดือน แต่ขอเสนอให้คณะกรรมการ (บอร์ด) อนุมัติก่อน ขณะที่แอร์พอร์ตลิงก์อยู่ระหว่างดำเนินการจะทำโปรโมชั่นนี้และรอเสนอให้บอร์ดการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) อนุมัติเร็ว ๆ นี้
โดยให้เวลา 2 สัปดาห์ให้รถไฟฟ้าแต่ละระบบ เพื่อให้บอร์ดแต่ละแห่งพิจารณาและปรับเวลาช่วงเร่งด่วน (peak hour) และไม่เร่งด่วน (off peak hour) ให้ตรงกันเพื่อไม่ให้ผู้โดยสารเกิดความสับสน และลดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมต่อไป
“แอร์พอร์ตลิงก์มีช่วงเร่งด่วน 3 ช่วง คือ 05.30-07.00 น. ช่วง 10.00-17.00 น. และช่วง 20.00-24.00 น. สายอื่น ๆ จะเป็นช่วงเช้า-เย็น สายสีน้ำเงิน ช่วง 06.00-09.00 น. และช่วง 16.00-19.30 น. สีม่วง ช่วง 06.30-08.30 น. และช่วง 17.00-19.30 น. บีทีเอส ช่วง 07.00-09.00 น. และ 16.00-20.00 น.”
ทั้งนี้ ช่วงเร่งด่วนจะมีรถไฟฟ้าให้บริการ 6 ชั่วโมง และมีคนใช้บริการ 60% ส่วนช่วงไม่เร่งด่วนจะให้บริการอยู่ที่ 13 ชั่วโมง และมีผู้ใช้บริการอยู่ที่ 40% ซึ่งเวลาการให้บริการยังเหลื่อมล้ำกันอยู่ให้ทำเป็นมาตรฐานเดียวกัน
นั่งสีม่วง-น้ำเงิน 48 บาท
“แอร์พอร์ตลิงก์จะลดราคาสูงสุดช่วงไม่เร่งด่วนให้ 40% จากปัจจุบันเก็บอยู่ที่ 15-45 บาท ส่วนบัตรรายเดือนอยากให้แต่ละระบบกำหนดราคาอยู่ที่ 300-500 บาท สายสีม่วงและสายสีน้ำเงินจะทำโปรโมชั่นร่วมกัน จากปัจจุบันราคาสูงสุดอยู่ที่ 70 บาทต่อเที่ยว ทาง BEM อยู่ระหว่างเสนอให้บอร์ดพิจารณาลดราคาอาจจะเป็น 48 บาทต่อเที่ยว ขณะที่บีทีเอสขอนำข้อมูลกลับไปพิจารณารายละเอียด ทั้งนี้ ในส่วนของบีทีเอสส่วนต่อขยายทางกรุงเทพมหานครจะคงราคา 15 บาทตลอดสายไว้”
แอร์พอร์ตลิงก์ลด 40%
นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ เปิดเผยว่า เพื่อช่วยลดค่าครองชีพให้ผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ และเป็นการจูงใจให้มาใช้บริการนอกชั่วโมงเร่งด่วน จะลดอัตราค่าโดยสารลงอีก 40%
แบ่งเป็น 3 ช่วงเวลา คือ ระหว่างเวลา 05.30-07.00 น. ช่วงที่ 2 ระหว่างเวลา 10.00-17.00 น. และช่วงที่ 3 ระหว่างเวลา 20.00-24.00 น. จากอัตราค่าโดยสารปกติ เริ่มต้นที่ 15-45 บาท เหลือ 15-25 ตามระยะทาง เป็นระยะเวลา 3 เดือน คาดว่าจะเสนอบอร์ด ร.ฟ.ท.พิจารณาอนุมัติภายในเดือนนี้
ปัจจุบันแอร์พอร์ตลิงก์มีปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ย 75,000 เที่ยวคนต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 14% และมีผู้ถือบัตรโดยสารประมาณ 300,000 ใบ ในช่วงวันจันทร์-พฤหัสบดีมีผู้โดยสารใช้บริการเฉลี่ย 80,000 เที่ยวคนต่อวัน วันศุกร์ใช้บริการ 90,000 เที่ยวคนต่อวัน
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) กล่าวว่า บริษัทมีความยินดีให้ความร่วมมือ แต่ต้องวิน-วินด้วย คือ ประชาชนได้ประโยชน์ และเอกชนอยู่ได้ ซึ่งขอดูรายละเอียดและข้อเสนอจากภาครัฐก่อน เช่น เก็บอัตราเท่าไหร่ ทั้งนี้ บีทีเอสมีการจัดทำบัตรโดยสารรายเดือนแบบจำกัดเที่ยวอยู่แล้ว
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/property/news-370827
Person read: 2188
13 September 2019