บอร์ดไฮสปีดไฟเขียว ซี.พี.เซ็นสัญญาก่อนเคลียร์เวนคืน 2 ปี ย้ายผู้บุกรุก รื้อสาธารณูปโภค เลื่อนลงนามพ.ย. อัยการสูงสุดชี้เป็นผลดีทั้งรัฐ-เอกชน หมดปัญหาค่าโง่ “ศุภชัย เจียรวนนท์” ลั่นพร้อมเซ็นสัญญา แค่รอหารือพันธมิตร
นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. เงินลงทุน 224,544 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มกิจการร่วมค้า บจ.เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ได้รับคัดเลือกลงทุนโครงการนาน 50 ปี มีมติอนุมัติแผนส่งมอบพื้นที่ตามที่คณะทำงานร่วมระหว่าง ร.ฟ.ท.และ ซี.พี. เสนอและกำหนดเครื่องมือชี้วัด (KPI) โครงการ หลังเปิดให้บริการที่จะแนบท้ายในสัญญา โดยให้เซ็นสัญญาก่อนออกหนังสือให้เริ่มงาน (NTP) โดยให้ 2 ฝ่ายเคลียร์การส่งมอบพื้นที่ให้เสร็จ ถึงจะเริ่มก่อสร้างได้ เพื่อให้เสร็จใน 5 ปี
รอตอกเข็มอีก 1 ปี
อย่างไรก็ตาม สามารถรอได้ 1 ปีนับจากวันเซ็นสัญญา เช่น สมมุติลงนาม ต.ค.นี้ มีเวลาเคลียร์ปัญหาต่าง ๆ 1 ปี โดยสิ้นสุด ต.ค. 2563 หากใช้เวลาเกิน 1 ปี สามารถหารือร่วมกันขอขยายเวลาได้ เพราะ ซี.พี.ต้องการให้ส่งมอบพื้นที่ทั้งหมด 100% เพื่อให้ทัน 5 ปี ถือเป็นการลดความเสี่ยงทั้ง 2 ฝ่ายได้ระดับหนึ่ง ยังมีสิ่งที่มองไม่เห็นอีกมากที่อยู่ใต้ดิน เช่น ระบบสาธารณูปโภค ตามแผน ร.ฟ.ท.คาดจะส่งมอบพื้นที่ได้ทั้งหมดใน 2 ปี ซึ่งเป็นโมเดลเดียวกับสัญญารถไฟฟ้าสีชมพูและสีเหลือง
“จะส่งรายละเอียดสัญญาแนบท้ายทั้งหมดให้ ซี.พี.พิจารณา และส่งคำตอบกำหนดวันเซ็นสัญญาใน 7 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือ และจะเป็นครั้งสุดท้าย ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ แต่ได้แจ้ง ซี.พี.แล้วว่า รัฐมีนโยบายให้เซ็นสัญญาในเดือน ก.ย.นี้ หากมีเหตุต้องเลื่อนก็ขอให้แจ้งมา”
เอกชนจ่ายค่ารื้อซากโฮปเวลล์
นายวรวุฒิ กล่าวอีกว่า การเคลียร์พื้นที่ ทาง ร.ฟ.ท.จะเวนคืนที่ดิน ย้ายผู้บุกรุก คืนพื้นที่ 300 สัญญาเช่า และประสาน 6 หน่วยระบบสาธารณูโภค โดยเจ้าของระบบสาธารณูปโภคนั้น ๆ เป็นผู้รื้อย้าย ซี.พี.จะรับผิดชอบรื้อสิ่งกีดขวางในแนวเส้นทาง เช่น ตอม่อโฮปเวลล์ สร้างโครงสร้างส่วนเป็นพื้นที่ทับซ้อนช่วงบางซื่อ-ดอนเมืองกับรถไฟไทย-จีน และสายสีแดงช่วงจิตรลดา ค่าใช้จ่ายรวมอยู่ในวงเงินที่รัฐอุดหนุน 117,227 ล้านบาทแล้ว หลังเซ็นสัญญา ซี.พี.จะจ่ายค่ารับมอบสิทธิ์บริหารโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ใน 2 ปี วงเงิน 10,671 ล้านบาท
นางพฤฒิพร เนติโพธิ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย สำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า คณะกรรมการคัดเลือกประชุมแผนส่งมอบพื้นที่ให้ ซี.พี. ถ้าตกลงตามนี้ก็เซ็นสัญญาได้ ซึ่งสัญญาร่วมทุนในปัจจุบันเมื่อพร้อมก็เซ็นได้เพื่อปฏิบัติตามสัญญา แต่พื้นที่ยังไม่พร้อมจะต้องกำหนดว่าใครมีอำนาจหน้าที่ตรงไหน ตามที่สัญญาและทีโออาร์กำหนด เช่น บุกรุกกี่คน จะให้ออกไปกี่วัน รื้อท่อต่าง ๆ จะใช้เวลาเคลียร์กี่ปี เพื่อให้พื้นที่เอกชนสร้าง ต้องกำหนดเป็นแผนให้ชัดเจน ถ้ายอมรับแผนและค่าใช้จ่ายที่ต้องรับผิดชอบได้ก็เซ็นสัญญาได้
“ทั้งหมดเพื่อไม่ให้การรถไฟเสี่ยงถูกเรียกค่าเสียหาย เราสามารถลงนามกันได้ แต่บ้านถูกบุกรุกอยู่ สิ่งที่จะทำคือเมื่อรถไฟรื้อแล้วค่อยสร้าง แต่ต้องกำหนดระยะเวลาว่า แต่ละพื้นที่ใช้เวลาเท่าไหร่ ให้มาตกลงร่วมกัน เรากำหนดแบบนี้ ยังไม่ต้องสร้างทันที แต่ผูกมัดสัญญาก่อน เป็นการทำสัญญาสมัยใหม่ ไม่ได้อยากให้เกิดปรากฏการณ์ว่าอุ้ม ซี.พี. เราประสงค์จะให้โปรเจ็กต์เกิดเพราะเป็นพันธมิตรกันแล้ว ถ้า ซี.พี.ตกลง ก็นำเข้าคณะรัฐมนตรีอนุมัติเดินหน้าโครงการ”
ยืดเวลาไปถึง พ.ย.
รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมได้หารือถึงระยะเวลาที่ ซี.พี.ต้องดำเนินการก่อนเซ็นสัญญา คาดว่าไม่ทันเดือนกันยายนนี้แล้ว เพราะเอกชนเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องมีกระบวนการขออนุมัติจากบอร์ด พันธมิตร และต้องหาแบงก์การันตีอีก คาดใช้เวลา 3-4 สัปดาห์ในเบื้องต้นขอให้เสร็จในเดือนพฤศจิกายนนี้
“แนวทางเซ็นสัญญาก่อนแล้วให้เวลาเคลียร์พื้นที่ ก่อนเริ่มนับหนึ่งสัญญา จะเป็นผลดีต่อการรถไฟฯ เพราะไม่รู้ว่าพื้นที่ที่จะสร้างจะไปเจออะไรอีก โดย ซี.พี.มีเวลาเคลียร์เรื่องเงินลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาทด้วย เพราะหากเริ่มนับสัญญาจะต้องจ่ายค่าเช่าที่ดินเชิงพาณิชย์ที่มักกะสันและศรีราชาทันที ล่าสุดแบงก์ขอปรับเงื่อนไขให้จ่ายค่าก่อสร้างโดยตรงกับแบงก์ ไม่ต้องผ่าน ร.ฟ.ท. หากพื้นที่พร้อมสร้างต่อเนื่อง 5 ปี จะเป็นผลดี ไม่ต้องเสียค่าปรับหากช้า”
บิ๊ก ซี.พี.พร้อมเซ็นสัญญา
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บมจ.เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) เปิดเผยว่า กลุ่ม ซี.พี.กับพันธมิตรมีความพร้อมลงทุนโครงการดังกล่าว และตั้งใจเต็มที่ในการก่อสร้าง พร้อมลงนามกับภาครัฐภายในระยะเวลาที่กำหนด หลัง ร.ฟ.ท.ทำหนังสือแจ้งรายละเอียดข้อสัญญาที่จะลงนามร่วมกัน และขอทราบคำตอบภายใน 7 วัน แต่โครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ใช้เม็ดเงินลงทุนค่อนข้างสูง จึงต้องหารือกับพันธมิตรให้ชัดเจนก่อน
ทั้งนี้ กลุ่ม ซี.พี.กับพันธมิตรจะยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองกลางที่ยกคำร้องในคดีที่ บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด ในเครือ ซี.พี.กับพันธมิตร ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่ไม่รับข้อเสนอซองเทคนิค และซองราคา หวังว่าจะได้รับความเมตตาจากศาลปกครองสูงสุด เพราะน่าจะได้ไปถึงขั้นตอนเปิดซองประมูลก่อน ไม่ว่าแพ้ หรือชนะก็ไม่เป็นไร เพื่อให้การแข่งขันเป็นไปอย่างเสรีสมบูรณ์
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/property/news-371510
จำนวนผู้อ่าน: 2120
16 กันยายน 2019