ธุรกิจร้านอาหารแข่งเดือด จับกระแสค่ายยักษ์สบช่องกินรวบซื้อกิจการรายเล็กหวังต่อยอด เพิ่มพอร์ต-รายได้ จับตาเศรษฐกิจขาลง-กำลังซื้อฝืด ธุรกิจร้านอาหารกระทบหนักยอดขายร่วงระนาว โดยเฉพาะสาขาต่างจังหวัด ด้าน “เอ็มเคสุกี้” กำเงินลุยซื้อเพิ่มกิจการ “ร้านอาหารเพื่อสุขภาพ” หลังปิดดีลแหลมเจริญซีฟู้ด
ยังคงเป็นปรากฏการณ์ที่สวนกระแสเศรษฐกิจและการลงทุนที่หลาย ๆ คนจับตา สำหรับธุรกิจร้านอาหาร นอกจากจะยังคงมีแบรนด์ร้านอาหารใหม่ ๆ ที่ยังดาหน้าเข้ามาเปิดอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ที่นิยมรับประทานอาหารนอกบ้าน อีกด้านหนึ่งก็มีความเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่รุกคืบเข้าไปซื้อกิจการรายเล็ก ที่มีให้เห็นเป็นระยะ ๆ ล่าสุด มีดีลใหญ่ที่สร้างความฮือฮาให้กับวงการร้านอาหาร กรณีเอ็มเคสุกี้ ทุ่มงบฯ 2,060 ล้านบาท ซื้อกิจการแหลมเจริญ ซีฟู้ด เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้มีดีลการซื้อขายกิจการร้านอาหารขนาดเล็กตามมาอีกเมื่อช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา เช่น กรณีของบริษัท วีรันดา รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) ที่ได้ทุ่มงบฯกว่า 110 ล้านบาท เข้าถือหุ้น10%ของบริษัท พีดีเอส โฮลดิ้ง ในเครือ “ใบหยก” เจ้าของสัญญาแฟรนไชส์หลัก ร้านคาเฟ่และขนมหวาน GRAM และ PABLO จากประเทศญี่ปุ่น คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปีนี้
ปัจจุบันวีรันดา มีแบรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่ม อาทิ “Skoop” และ “KOF” หลังจากการซื้อกิจการดังกล่าว จะช่วยให้บริษัทมีอำนาจการต่อรองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านการหาพื้นที่ขยายสาขา การทำโปรโมชั่นควบคู่กับแบรนด์อื่น ตลอดจนการขายในช่องทางออนไลน์ และดีลิเวอรี่ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการบริหารจัดการ และเข้าถึงลูกค้าได้กว้างขึ้น พร้อมเตรียมขยายสาขา GRAM เป็น 7-8 สาขา ในปี 2563 จากปัจจุบันมี 4 สาขา อาทิ เซ็นทรัลเวิลด์ สยามพารากอน สามเสน และเซ็นทรัลลาดพร้าว ส่วน PABLO มีสาขาที่สยามพารากอน และล่าสุดที่สนามบินนานาชาติดอนเมือง
ดีลร้านเกาหลีคึก
ส่วนอีกดีลหนึ่งปิดดีลกันไปตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา คือ กรณีของฟู้ดแพสชั่น เจ้าของร้านอาหาร บาร์บีคิว พลาซ่า, สเปรด คิว, จุ่ม แซ่บ ฮัท ที่เข้าซื้อกิจการ “เรดซัน” ร้านอาหารสไตล์เกาหลี เพื่อเพิ่มพอร์ตโฟลิโอ ล่าสุด เรดซัน ได้เริ่มปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การตลาด ด้วยการรีแบรนด์ใหม่ทั้งหมด เริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนโลโก้ อุปกรณ์ภายในร้าน และเมนูใหม่ ในคอนเซ็ปต์ “Korean with a Twist” เพื่อรองรับธุรกิจร้านอาหารเกาหลีที่มีแนวโน้มการเติบโต 4-5% ต่อปี หรือมีมูลค่า 2,000 ล้านบาท
จากนี้ไป เรดซัน มีแผนจะเปิดสาขาเพิ่ม 2 สาขา ได้แก่ เดอะมอลล์งามวงศ์วาน และเซ็นทรัลลาดพร้าว พร้อมกับรีโนเวตสาขาเดิมที่มีอยู่ 13 สาขา ให้ทันสมัย เพื่อให้สอดรับความต้องการของผู้บริโภค โดยตั้งเป้าจะเพิ่มส่วนแบ่งตลาดร้านอาหารเกาหลีเป็น 10 % จากปัจจุบันมี 5%และเมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา “ซีพีเอฟ” หรือบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ก็ได้ใช้บริษัทในเครือ ใช้เงิน 55 ล้านบาท เข้าซื้อหุ้นบริษัท ดัคกาลบี้ กรุ๊ป จำกัด เจ้าของร้านอาหาร Dak Galbi ร้านอาหารเกาหลีแบบผัดร้อน (Real Time Cooking) ซึ่งเข้ามาทำตลาดในไทย 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยมีสาขาอยู่ 10 แห่ง
แม็กเนตสำคัญค้าปลีก
แหล่งข่าวในวงการค้าปลีก กล่าวว่า ที่ผ่านมาเทรนด์การกินอาหารนอกบ้าน (eat-out) ได้รับความนิยมในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ร้านอาหารกลายเป็นแม่เหล็กสำคัญในศูนย์การค้า และค้าปลีกในรูปแบบต่าง ๆ ขณะที่ตัวดีพาร์ตเมนต์สโตร์ สินค้าแฟชั่น และร้านค้า ที่เคยเป็นแม่เหล็กสำคัญถูก “ดิสรัปต์” จากช็อปปิ้งออนไลน์ นอกจากนี้กระแสฟู้ดดีลิเวอรี่ที่ได้รับแรงหนุนจากยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ อาทิ แกร็บ ไลน์แมน ฟู้ดแพนด้า ฯลฯ ทำให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตขึ้นอย่างมาก
“ในบ้านเรายักษ์ใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับธุรกิจร้านอาหารเป็นพิเศษมีหลายกลุ่ม แต่ที่มีเงินทุนมาก ๆ และพร้อมจะซื้อกิจการที่มีอนาคต อาทิ ไมเนอร์ เซ็นทรัล รวมถึงกลุ่มไทยเบฟฯ ที่ขยายธุรกิจผ่านบริษัทในเครือต่าง ๆ ล่าสุดคือ การซื้อสิทธิ์การดำเนินธุรกิจร้านกาแฟสตาร์บัคส์”
นักพัฒนาพื้นที่ค้าปลีกรายหนึ่ง กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันการแข่งขันของร้านอาหาร โดยเฉพาะที่เปิดสาขาในศูนย์การค้าใหญ่ ๆ รวมทั้งรีเทลต่าง ๆ มีการแข่งขันที่สูงมาก บางแห่งมีร้านญี่ปุ่น หรือเกาหลีชนกันเป็นสิบ ๆ ร้าน ทำให้โซนร้านอาหารมีพื้นที่มากที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น ๆ ทำให้คนที่สายป่านไม่ยาวจริงอยู่ได้ยาก จะเห็นว่าร้านต่าง ๆ จะเปลี่ยนหน้าเปลี่ยนตากันบ่อยมาก
“ศูนย์การค้าหลาย ๆ แห่งยอดขายจะดีเฉพาะช่วงเย็น และวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ส่วนตอนกลางวันของวันทำงานบรรยากาศจะไม่ค่อยคึกคัก”
ขณะที่แมคโดนัลด์ ฟาสต์ฟู้ดชื่อดัง รายงานข่าวระบุว่า ที่ผ่านมาผู้บริหารให้ความสำคัญกับการขยายสาขาเป็นพิเศษ รวมถึงมอนิเตอร์ผลกำไรเป็นรายสาขา ถ้าเป็นพื้นที่เช่า หากไม่เป็นไปตามเป้าจะปิดสาขานั้น เช่นเดียวกับการขยายสาขาแบบไดรฟ์ทรูจะถี่ถ้วนเป็นพิเศษ หลังจากพบว่าบางเส้นทาง เปิดสาขาใกล้กันเกินไป
เปิดสาขาใหม่ดันยอด
รายงานข่าวจากบริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า ยุทธศาสตร์ของเอ็มเคฯ นอกจากการเดินหน้าในการขยายสาขาใหม่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะเอ็มเคสุกี้ ร้านอาหารญี่ปุ่นยาโยอิแล้ว บริษัทยังมีแผนจะลงทุนร้านอาหารและเครื่องดื่มอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างการเติบโตของบริษัท นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าซื้อกิจการที่ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ ที่มีขนาดรายได้ไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท มีอัตรากำไรสุทธิไม่ต่ำกว่า 10% โดยใช้งบฯลงทุนไม่เกิน 5 พันล้านบาท จากปัจจุบันที่มีเงินอยู่ในมือเกือบ ๆ 1 หมื่นล้านบาท
ล่าสุด ในช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา เอ็มเคฯ ได้ทุ่มเงินกว่า 2 พันล้านบาท เข้าซื้อกิจการของแหลมเจริญ ซีฟู้ด เพื่อเข้ามาเสริมพอร์ต และยังมีกระแสเงินสดเหลือในมืออีก 7 พันกว่าล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันแหลมเจริญ ซีฟู้ด มี 27 สาขา ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด หลังจบดีลนี้ แหลมเจริญ ซีฟู้ด จะมีฐานะเป็นแบรนด์ที่ 10 ภายใต้ร่มธงของเอ็มเคสุกี้ จากปัจจุบันมี 9 แบรนด์ 688 สาขา ประกอบด้วย ร้านสุกี้เอ็มเค, ร้านอาหารญี่ปุ่นยาโยอิ, มิยาซากิ, ฮากาตะ, ร้านอาหารไทย เลอสยาม, ณ สยาม, ร้านข้าวกล่อง บิซซี่บ็อกซ์ ร้านกาแฟ/เบเกอรี่ เลอเพอทิท และร้านขนมหวานเอ็มเค ฮาร์เวสต์
แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการร้านอาหารรายใหญ่ แสดงความเห็นเรื่องนี้กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีนี้น่าจะวิน-วิน ทั้ง 2 ฝ่าย โดยเฉพาะในแง่ของการทำตลาด และการบริหารจัดการ สำหรับเอ็มเคฯ จะได้แบรนด์ใหม่และจำนวนสาขาที่เข้ามาเพิ่มในพอร์ตฯ ส่วนแหลมเจริญ ซีฟู้ด ก็จะสามารถลดต้นทุน เพิ่มอัตรากำไร และขีดความสามารถในการแข่งขันได้ ตลอดจนอำนาจการต่อรองการซื้อวัตถุดิบ ค่าเช่าพื้นที่ในห้างสรรพสินค้า ที่สำคัญ สิ่งที่แหลมเจริญ ซีฟู้ด จะได้จากเอ็มเคฯ คือ โนว์ฮาวในการบริหารการจัดการ
ศก.ไม่ดีร้านอาหารโตน้อย
แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการร้านอาหาร กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ สถานการณ์ร้านอาหารยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อค่อนข้างมาก หากสังเกตจะเห็นได้ผลการดำเนินงานของร้านอาหารที่เป็นบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่วนใหญ่มีปัญหารายได้เติบโตน้อยมาก และด้วยเศรษฐกิจและการบริโภคที่ชะลอตัวส่งผลให้ธุรกิจร้านอาหารแทบทุกประเภทมียอดขายต่อร้านที่ลดลง โดยเฉพาะสาขาในต่างจังหวัด ส่วนรายได้ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จะมาจากการเปิดใหม่ และจากการที่ตลาดร้านอาหารมีการแข่งขันที่สูงจึงทำให้ทุกค่ายต้องหาโปรโมชั่นราคาในรูปแบบต่าง ๆ ออกมาจูงใจกันเป็นระยะ ๆ
“ที่เป็นปัญหาอย่างหนึ่งของร้านอาหารที่เปิดในห้างหรือศูนย์การค้าก็คือ ค่าเช่าพื้นที่ ที่เป็นฟิกซ์คอสต์ ดังนั้น หากเป็นรายเล็กก็อาจจะเหนื่อยหน่อย”
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/economy/news-373867
จำนวนผู้อ่าน: 2059
24 กันยายน 2019