มาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” แพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงโค้งสุดท้ายของรัฐบาล ที่ออกมาพร้อม ๆ มาตรการใส่เงินเพิ่มในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การช่วยเหลือค่าเลี้ยงดูบุตรผู้มีบัตรสวัสดิการ การช่วยเหลือค่าครองชีพผู้มีรายได้น้อย 14 ล้านคน ทุกรายการวงเงิน 30,000 ล้านบาทได้รับการตอบรับเกินคาด
ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา ยอดผู้ประกอบการ ร้านค้าลงทะเบียนมีกว่า 1.3 แสนราย ทั้งส่วนกลาง ต่างจังหวัด ในจำนวนนี้มีผู้ประกอบการ ร้านค้าทั้งรายใหญ่ รายเล็ก หลากหลายประเภทสินค้า ไม่ว่าจะเป็นยักษ์ค้าปลีก ร้านค้า ร้านอาหารชื่อดัง สวนสนุก สปา ร้านกาแฟ ร้านขายมือถือ สมาร์ทโฟน คาร์แคร์ ฯลฯ ต้องการมีส่วนร่วมแบ่งเม็ดเงิน 10,000 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากการตรวจสอบรายชื่อร้านค้าที่เข้าร่วมมาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” พบว่า ณ วันที่ 24 ก.ย. มีร้านเข้าร่วมแล้วทั้งสิ้น 136,781 ร้านค้า แบ่งเป็น ร้านประเภทชิม 33,048 ร้านค้า, ร้านประเภทช้อป 45,939 ร้านค้า, ร้านประเภทช้อปธงฟ้า 33,653 ร้านค้า, ร้านประเภทใช้ 3,457 ร้านค้า และร้านประเภททั่วไป 20,684 ร้านค้าในจำนวนนี้มีร้านขายสินค้าหลากหลาย
อาทิ ร้านเสริมสวย, ร้านเพ็ดช็อป, ร้านเสื้อผ้า แฟชั่น, ร้านขายยา, ร้านตัดแว่น, อู่ซ่อมรถ, ร้านซักรีด, คลินิกทำฟัน, ร้านเฟอร์นิเจอร์, ร้านเครื่องประดับ กิฟต์ช็อป, คาร์แคร์, รีสอร์ต เป็นต้น
และนอกจากร้านค้าขนาดเล็กแล้ว ห้างสรรพสินค้าใหญ่เกือบทุกรายสมัครลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการด้วย ได้แก่ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา, บจ.เซ็นทรัลพัฒนา พระราม 2, บจ.เซ็นทรัลพัฒนา พระราม 3, บจ.เซ็นทรัลพัฒนา รัตนาธิเบศร์, บจ.เซ็นทรัลเวิลด์ (สาขาอุดรธานี), โรบินสัน สาขาเชียงใหม่, โรบินสัน พระราม 9, บมจ.โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา, บจ.โรงแรมเซ็นทรัลเวิลด์, บจ.สรรพสินค้าเซ็นทรัล (สาขาชิดลม), บจ.บางนา เซ็นทรัล พร็อพเพอร์ตี้, บจ.เซ็นทรัลสมุยวิลเลจ, บมจ.บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ (สมุทรปราการ),
ยืดเวลาเพิ่มร้านค้า 2 หมื่นแห่ง
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า มีร้านค้าสมัครเข้าร่วมมาตรการมากขึ้น หลังภาครัฐยืนยันชัดเจนว่า มาตรการนี้ไม่เกี่ยวกับการเข้าสู่ฐานภาษี ถึง 20 ก.ย.ที่ปิดให้ร้านค้าลงทะเบียน ยังมีร้านค้าที่ธนาคารกรุงไทยทาบทามไว้อีกราว 2 หมื่นร้านค้า ยังลงทะเบียนไม่ทัน จึงได้ขยายเวลาลงทะเบียนออกไปอีกถึง 15 ต.ค.นี้ จะทำให้มีร้านค้าร่วมมาตรการรวมทั้งสิ้นกว่า 1.5 แสนร้านค้าทั่วประเทศ
“ตอนแรกร้านค้ากลัวเรื่องภาษี แต่ตอนนี้ได้ร้านค้าใหม่ ๆ เข้ามาร่วมกว่า 7 หมื่นร้านค้า เมื่อรวมกับร้านที่มีอยู่เดิมอีกกว่า 8 หมื่นร้านค้า ทำให้มีร้านค้าเข้าร่วมทั้งหมดกว่า 1.5 แสนร้านค้า มีทั้งร้านอาหารดัง ๆ ของแต่ละจังหวัด อย่างกุ้งเผาอยุธยา ร้านแดงสมุทรสงคราม ร้านที่ได้ 3 ดาว จากเว็บไซต์ “วงใน” ไม่ว่าจะร้านรายย่อย หรือร้านดัง หากสนใจเข้าร่วมเรายินดี อย่างร้านอาหารเราพยายามลงไปถึงร้านที่ไม่ดังด้วย เช่น ร้านตามตลาดต่าง ๆ อยากให้เศรษฐกิจลงไปถึงคนข้างล่างจริง ๆ”
คาดเงินหมุน 3 รอบครึ่ง
สำหรับกรณีร้านค้าที่มีสาขาจำนวนมาก หากจะสมัครเข้าร่วมก็ทำได้ เพียงแต่ทุกสาขาต้องลงทะเบียนเอง ไม่ใช่ลงในนามบริษัทเดียวแล้วจะได้ทุกสาขา เช่นเดียวกับห้างสรรพสินค้า ที่ต้องสมัครแบบ 1 ต่อ 1 หากร้านค้าใดไม่เข้าร่วมก็ถือว่าเสียโอกาส
“ถ้าลงทะเบียนครบ 10 ล้านคน แล้ว 10 ล้านคนนี้ แค่ใช้จ่ายเงิน 1,000 บาทที่ให้ไป ก็ปาเข้าไป 1 หมื่นล้านบาทแล้ว เราคาดว่าเงินจะหมุนต่อไปได้อีก 3 รอบครึ่ง”
ร่วม 1 tax ID ต่อ 1 จังหวัด
ขณะที่นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ยังมีร้านค้าติดต่อสอบถามและขอลงทะเบียนเพิ่มเติมอีกจำนวนมากกรณีห้างสรรพสินค้าที่สนใจสมัครเข้าร่วมมาตรการชิม ช้อป ใช้ เนื่องจากห้างมีหลายสาขาทั่วประเทศ ดังนั้น ห้างสรรพสินค้าเหล่านี้ (ที่มี tax ID เดียวกัน) จะต้องตัดสินใจเลือกลงทะเบียนในสาขาจังหวัดที่คิดว่าจะทำรายได้ให้กับห้างได้เพียงสาขาเดียวเท่านั้น อย่างเช่น ห้างเซ็นทรัล สมัครเข้าร่วมโครงการต้องเลือกว่าจะใช้สาขาในจังหวัดไหนเข้าร่วมโครงการ ซึ่งกรมบัญชีกลางจะให้จุดรับชำระเงิน หรือ “ถุงเงิน” ตามแคชเชียร์ไม่เกิน 20 จุด แก่ห้างนั้น ๆ เพื่ออำนวยความสะดวก
ดึงร้านค้าย่อยในห้างร่วม
“ส่วนร้านค้าย่อยต่าง ๆ ที่อยู่ในห้างสรรพสินค้า หากสนใจสมัครร่วมมาตรการก็สามารถทำได้ ซึ่งกรมบัญชีกลางจะให้ถุงเงินแก่ร้านค้านั้น ๆ ดังนั้น ต้องแยกระหว่างห้างสรรพสินค้า กับร้านค้าภายในห้าง ส่วน 7-Eleven หากสนใจเข้าร่วม คงต้องพิจารณาอีกที แต่ตอนนี้ยังไม่มีเข้าร่วม”
รายงานข่าวจากกรมบัญชีกลางแจ้งว่า กรณีห้างบิ๊กซีที่มีเข้าร่วม 3 จังหวัดนั้น เนื่องจากห้างแต่ละจังหวัดใช้ tax ID ต่างกัน จึงเข้าร่วมได้ แต่หากห้างใดมีหลายสาขาในหลายจังหวัด แต่ใช้ tax ID เดียวกัน ก็จะเลือกเข้าร่วมได้จังหวัดเดียว
ลงทะเบียน 1 ล้านราย/วัน
นางสาวสุทธิรัตน์กล่าวว่า ในส่วนของประชาชนซึ่งวันที่ 23 ก.ย. 2562 เป็นวันแรกที่เริ่มเปิดให้ลงทะเบียน “ชิม ช้อป ใช้” ทางเว็บไซต์ www.ชิมช้อปใช้.com มีผู้ลงทะเบียนครบ 1 ล้านราย ตั้งแต่เวลา 13.43 น. ส่วน 24 ก.ย.ที่เปิดลงทะเบียนวันที่ 2 มีผู้ลงทะเบียนครบ 1 ล้านราย ตั้งแต่เวลา 08.11 น. เมื่อลงทะเบียนครบ 1 ล้านราย ตามโควตาในแต่ละวัน ระบบจะปิดรับทันที โดยไม่มีการให้เข้าชื่อรอ (waitlist)
“ผู้ที่ประสงค์รับสิทธิตามมาตรการจะต้องกลับเข้ามาลงทะเบียนใหม่ในวันถัดไป จนถึงวันที่ 15 พ.ย. 2562 หรือจนกว่าสิทธิจะเต็ม 10 ล้านราย”
บิ๊กค้าปลีกโดดร่วมวง
ดร.ปิยะวรรณ ปิยะพงษ์ รองประธานฝ่ายธุรกิจบริการและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ บมจ.บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ระบุว่า บริษัทได้เข้าร่วมมาตรการดังกล่าวผ่าน 9 สาขา ใน 3 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ พิษณุโลก และขอนแก่น ประกอบไปด้วย สาขาสุขสวัสดิ์, สำโรง 1, เมกา บางนา, บางพลี, สมุทรปราการ, สำโรง 2, ศรีนครินทร์, พิษณุโลก และขอนแก่น 1 (ถนนมิตรภาพ)
นางวรวรรณ เพียรลิขิตวงศ์ ประธานกรรมการฝ่ายการตลาด เทสโก้ โลตัส กล่าวในทำนองเดียวกันว่า ได้ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงผู้บริโภคให้ครอบคลุมมากที่สุด เทสโก้ โลตัส ได้เข้าร่วมโครงการ 20 สาขาเฉพาะกรุงเทพมหานคร ได้แก่ ซีคอน พระราม 1 พระราม 2 พระราม 3 พระราม 4 มีนบุรี สุขาภิบาล 1 สุขาภิบาล 3 ฟอร์จูน รามอินทรา บางแค แจ้งวัฒนะ หลักสี่ ประชาชื่น บางปะกอก บางกะปิ ลาดพร้าว จรัญสนิทวงศ์ ปิ่นเกล้า และพัฒนาการ
แหล่งข่าวจาก บมจ.โรบินสัน ผู้บริหารศูนย์การค้าโรบินสันกล่าวว่า ผู้บริโภคสามารถนำเงิน 1,000 บาทที่ได้รับซื้อสินค้าภายในดีพาร์ตเมนต์สโตร์ได้ทั้งหมด 14 สาขา แบ่งเป็น กรุงเทพฯ 6 สาขา เช่น สุขุมวิท บางรัก บางแค พระราม 9 เป็นต้น ต่างจังหวัด 8 สาขา กระจายตามภูมิภาคต่าง ๆ เช่น อุดรธานี ภูเก็ต เชียงใหม่ จันทบุรี นครศรีธรรมราช เป็นต้น
นางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร บมจ.สยามแม็คโคร กล่าวว่า ได้ร่วมส่งเสริมนโยบายของภาครัฐ ชิม ช้อป ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ 4 สาขาของ จ.ชลบุรี ประกอบด้วย สาขาชลบุรี, พัทยาใต้, พัทยาเหนือ, แหลมฉบัง โดยจัดแคมเปญการตลาดรองรับ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “รัฐบาลให้ 1,000 บาท สำหรับสมาชิกแม็คโครให้เพิ่มส่วนลดมูลค่า 1,000 บาท”
ค้าปลีกไอที-มือถือร่วมวง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ฟากผู้ค้าปลีกสินค้าไอทีในต่างจังหวัดหลายรายได้เข้าร่วมโครงการ พร้อมเริ่มโปรโมตให้ลูกค้าทราบว่าเป็นร้านค้าในโครงการชิม ช้อป ใช้ ซึ่งมีทั้งที่เป็นตัวแทนจำหน่ายของแบรนด์ใหญ่อย่าง “เอไอเอส บัดดี้” (AIS BUD-DY) อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี และยะลา รวมถึง “ทรู พาร์ทเนอร์” อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ และดีแทคช็อป ที่ศูนย์การค้าเซ็นเตอร์วัน และเทสโก้ โลตัส วังหิน ในขณะที่ผู้ประกอบการค้าปลีกรายย่อยก็มี เช่น ร้านนัมเบอร์วัน ขายซิมการ์ดและโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในห้างบิ๊กซี พิษณุโลก เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีเครือข่ายร้านค้าสินค้าและอุปกรณ์ไอที คือ “แอดไวซ์” หลายแห่งในต่างจังหวัด เช่น สาขา อ.ขุนหาญ ศรีสะเกษ, อ.เบตง ยะลา, อ.เมือง ปัตตานี เป็นต้น
แหล่งข่าวจาก บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) เปิดเผยว่า การเข้าร่วมโครงการดังกล่าวจะเป็นส่วนที่ตัวแทนจำหน่ายดำเนินการเอง บริษัทไม่ได้มีนโยบายหรือแผนงานเฉพาะสำหรับโครงการนี้
เงินสะพัดท่องเที่ยว 3 พันล้าน
ด้านแวดวงท่องเที่ยว นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประเมินว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนของเงินครั้งใหญ่ หากผู้ที่ลงทะเบียนนำมาใช้เดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศจะทำให้เกิดการสะพัดของเงินเพิ่มขึ้น 3-4 เท่าตัว จากจำนวน 1,000 บาท ผู้ที่เดินทางท่องเที่ยว น่าจะใช้จ่ายที่เพิ่มเป็น 4,000-5,000 บาท/คน/ทริป
ประเมินร้านค้าที่เข้าร่วมลงทะเบียน มีกลุ่มผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยว อาทิ บริษัทนำเที่ยว ร้านอาหาร ร้านจำหน่ายสินค้าโอท็อป ฯลฯ สัดส่วน 40-50% คาดว่าตลาดทั้งโครงการนี้น่าจะมีเงินหมุนเวียนในภาคอุตฯท่องเที่ยวของประเทศไม่ต่ำกว่า 30% ของทั้งหมด หรือไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท
ไทมิ่งได้-ดึงความเชื่อมั่น
ด้านนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นของภาครัฐ จะช่วยสร้างบรรยากาศการซื้อ-ขายในระบบ และดึงความมั่นใจเศรษฐกิจไทย ถือเป็นการดำเนินการถูกจังหวะ ถูกเวลา เพราะต่อจากนี้จะเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว จะมีความต้องการซื้อ (demand) มากขึ้น ที่สำคัญ เป็นการสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม
8 จังหวัดเหนือร่วม 6 พันร้าน
สำหรับความเคลื่อนไหวในต่างจังหวัด นางลักษณา พงศ์ภิญโญโอภาส ผู้อำนวยการกลุ่มกำกับและบริหารการเงินการคลัง สำนักงานคลัง จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ยอดร้านค้าที่ให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมมาตรการเมื่อวันที่ 20 ก.ย. เป็นร้านค้าใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน 6,630 ร้านค้า ในส่วนของเชียงใหม่มีร้านค้าเข้าร่วม 2,328 ร้านค้า แบ่งเป็น ร้านค้าประเภทชิม หรือร้านอาหาร 1,187 ร้านค้า ร้านช้อป 1,063 ร้านค้า และประเภทใช้ 78 ร้านค้า ซึ่งจะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่จะลงทะเบียนใช้สิทธิตรวจสอบค้นหาพิกัดร้านค้าในแอปของธนาคารกรุงไทย
สำหรับร้านค้าที่มีชื่อเสียงในเชียงใหม่ที่เข้าร่วม อาทิ ร้านวีทีแหนมเนือง ร้านกาแล ร้านแกงร้อนบ้านสวน ร้านกู๊ดวิว ร้านสามเสนวิลล่า ร้านบ้านไร่สเต็กเฮ้าส์ ร้านอาหารท่าพระจันทร์คาเฟ่ ร้านคั่วไก่นิมมาน ร้านชีวิตชีวา ร้านเฮือนใจ๋ยอง ร้านอาหารทูนอิน ที่พัก อาทิ ภูโอบฟ้ารีสอร์ท บ้านอิงดอย บ้านต้นน้ำโฮมสเตย์ ริมดอยรีสอร์ท โรงแรมดวงตะวัน ร้านขายของที่ระลึกบริเวณจุดท่องเที่ยว เช่น บนพระธาตุดอยสุเทพ 30 ร้านค้า ถนนวัวลาย 20 ร้าน ถนนคนเดินวันอาทิตย์ 50 ร้าน เป็นต้น
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-375112
Person read: 2180
27 September 2019