ยิ่งใกล้วันประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ในวันที่ 22 ตุลาคม เข้ามาเท่าไร ความเคลื่อนไหวของทั้งกลุ่มคัดค้าน และกลุ่มสนับสนุน การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง “พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส” ก็ยิ่งเพิ่มความเข้มข้นขึ้นเท่านั้น โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา
ทางด้านกลุ่มสนับสนุนการใช้สารเคมีเสี่ยงสูงทั้ง 3 สาร ก็ได้เปิดตัวละครใหม่ในนามสมาคมนวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย (Thai Agricultural Innovation Trade Association หรือ TAITA) ขึ้นมา เพื่อรณรงค์ร่วมกับกลุ่มเกษตรกรที่ต่อต้านการ “แบน” สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิด
ชัดเจนว่า TAITA ได้แจ้งจดวัตถุประสงค์ของสมาคมการค้าไว้ว่า “เพื่อส่งเสริมและปรับปรุงการประกอบวิสาหกิจประเภทที่เกี่ยวกับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและสารเคมีเพื่อใช้ในการเกษตรและสาธารณสุข” โดยสมาคมนี้เพิ่งตั้งขึ้นมาเมื่อเดือนเมษายน 2561 ซึ่งเป็นช่วงที่กระแสต่อต้านการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชพุ่งขึ้นสูงสุด
ในอีกฟากหนึ่งของฝ่ายสนับสนุนให้ “แบน” สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิดที่นำโดยเครือข่ายภาคประชาสังคมอย่าง มูลนิธิชีววิถี หรือ BIOTHAI ก็ออกแถลงการณ์และรณรงค์อย่างกว้างขวางผ่านทางเครือข่ายพันธมิตรภาคประชาสังคม เพื่อ “กดดัน” ให้รัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ให้ประกาศแบนพาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส ทันที โดยไม่ปล่อยให้เป็นการตัดสินใจของคณะกรรมการวัตถุอันตราย พร้อมกับแสดงข้อมูลสำคัญเปิดเผยว่า แท้ที่จริงแล้ว TAITA มีความเกี่ยวพันกันกับ Croplife ซึ่งมีสมาชิกเป็นบริษัทผู้ค้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชยักษ์ใหญ่ของโลก
ทั้งกลุ่มผู้สนับสนุนกับกลุ่มผู้คัดค้านการแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชต่างเปิดเวทีสาธารณะให้ข้อมูลเป็นวงกว้าง รวมไปถึงมีการ “เกณฑ์” หัวหน้าเกษตรกรรายสำคัญออกมาแสดงจุดยืน เสมือนหนึ่งเป็น “สงคราม” ครั้งสุดท้ายที่จะตัดสินแพ้ชนะ ด้วยการจับจ้องไปที่ผลการประชุมของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ในวันที่ 22 ตุลาคมนี้
ทว่า หลงลืมกับการพิจารณา “ท่าที” สำคัญของฟากการเมือง ไม่ว่าจะเป็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล, นางมนัญญา ไทยเศรษฐ์ และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ที่เคยประกาศต่อสาธารณชน “ไม่สนับสนุน” ให้มีการใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิดต่อไป แต่ “อำนาจ” ที่จะสั่งให้ “แบน” หรือ “ไม่แบน” ไม่ได้ขึ้นกับนักการเมืองทั้ง 3 ท่าน แต่เป็นอำนาจเต็มของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่เล่นบท “ซื้อเวลา” ในกรณีนี้ มาไม่ต่ำกว่า 3 ปี
โดยมีข้อน่าสังเกตว่า เป็น 3 ปีที่คาบเกี่ยวกับ คสช. ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล ได้แสดงท่าที โดยมี “บัญชา” ให้ศึกษาผลกระทบ ลดการใช้-ลดการนำเข้า ตรวจสอบข้อเท็จจริงในเดือนมิถุนายน 2561, การตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้สารกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ในเดือนกรกฎาคม 2561, การสร้างความรับรู้ ความเดือดร้อนของเกษตรกร ต้องมอง 2 ทาง ลองหาวิธี แต่ยังไม่ยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด (บัญชาในเดือนเมษายน 2562) และบัญชาครั้ง
ล่าสุดในเดือนกันยายน 2562 ให้จัดการหารือ 4 ส่วน (รัฐบาล-เกษตรกร-ผู้บริโภค-ผู้นำเข้า) เพื่อ “แสดงความคิดเห็นและสร้างความเข้าใจ” เกี่ยวกับการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด ทั้งหมดนี้สะท้อนข้อเท็จจริงที่ว่า นักการเมืองที่บอกให้ “แบน” แท้จริงแล้วไม่มีอำนาจที่จะสั่งให้ “แบน” ในขณะที่ตัวหัวหน้ารัฐบาลเองก็ยังไม่เคยมีบัญชาให้ “แบน” แม้แต่สักครั้งเดียว ส่งผลให้การตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตราย และความเสี่ยงสูง ตกอยู่ใน “กำมือ” ของคณะกรรมการวัตถุอันตราย แต่เพียงชุดเดียว
เป็นคณะกรรมการที่มีอำนาจ “เหนือ” กว่า มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ภายใต้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เหนือกว่า คณะกรรมการการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง เหนือกว่า ผู้ตรวจการแผ่นดิน และเหนือกว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่ล้วนแล้วแต่มีมติ-ข้อเสนอแนะ-ความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน นั่นก็คือ ให้ยกเลิกการใช้สารเคมี พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส โดยสิ้นเชิง จากหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ว่า สารเคมีทั้ง 3 ชนิดมีผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม มีความเสี่ยงและความเสียหายต่อชีวิตและร่างกายของผู้ได้รับและสัมผัสสารเคมี มีการถ่ายทอดพิษตกค้างจากมารดาไปสู่ทารกในครรภ์ได้
แต่จนแล้วจนรอด คณะกรรมการวัตถุอันตรายกลับพิจารณาผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ ด้วยการให้ “จำกัด” การใช้สารเคมี (มติเดือนพฤษภาคม 2561) ซึ่งแปลว่า ยังเปิดให้มีการนำเข้าและการใช้พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอสต่อไปได้ โดยให้มีการติดตามและประเมินผลอย่างใกล้ชิด และจะ “ทบทวน” การกำจัดการใช้ภายใน 2 ปี นับจากวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 หรือจนกว่าจะมีสารเคมีการเกษตรที่สามารถทดแทนได้ (ประสิทธิภาพในการกำจัดศัตรูพืชและราคาใกล้เคียงกับสารเคมีทั้ง 3 ชนิด) ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มี ตามเงื่อนไขดังกล่าว
กลับกลายเป็นว่า มติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ได้ “ปิดทาง” ที่จะ “แบน” พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส จากเหตุผลทางวิชาการและหลักฐานเชิงประจักษ์ จนแม้แต่ นายแพทย์ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ หน่วยงานเจ้าของมติ “คัดค้าน” การใช้ 3 สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ถึงกับกล่าวว่า การแบนหรือไม่แบน มีความเกี่ยวพันกับ 1) ผลประโยชน์ใหญ่ของการเป็นประเทศเกษตรกรรม 2) มีธุรกิจขนาดใหญ่เข้ามาเกี่ยวข้อง และ 3) เกิดการเคลื่อนไหวรวมตัวทั้งเครือข่ายประชาสังคม-วงวิชาการ กับผู้ค้าและผู้นำเข้าสารเคมีการเกษตร จนต้องเข้าสู่กระบวนการทางการเมืองและการเจรจา
“ประเด็นในตอนนี้จึงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาล เป็นเรื่องการตัดสินใจทางการเมือง” นพ.ประทีปกล่าว
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/politics/news-382548
Person read: 2069
21 October 2019