“หอการค้า-ส.อ.ท.-สภาผู้ส่งออก” ประสานเสียงค้าน “ขึ้นค่าแรง” หวั่นซ้ำเติมเศรษฐกิจ ขอ 6 เดือนค่อยนำกลับมาทบทวนใหม่ ด้าน ส.เครื่องนุ่งห่มฯมองต่างมุม ชี้ช่วยหนุนกำลังซื้อ ปรับขึ้น 2% รับได้ ฝ่ายลูกจ้างทวงสัญญานโยบายหาเสียงค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท/วัน
การประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง วันที่ 20 พ.ย. 2562 ซึ่งจะมีการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่ให้ทันประกาศใช้ภายในปีนี้ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงาน หลังถูกชะลอปรับขึ้นตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา กำลังถูกจับตามองว่า ที่ประชุมบอร์ดไตรภาคีจะมีมติให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองหรือไม่ ขณะที่ตัวแทนผู้ประกอบการ นายจ้างเริ่มเคลื่อนไหวคัดค้าน
หอการค้าฯชี้อีก 6 เดือนค่อยขึ้น
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ยังไม่ใช่จังหวะเวลาเหมาะสมที่จะพิจารณาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอ การส่งออกหดตัวจากเงินบาทที่แข็งค่า กระทบขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน หากรัฐบาลขึ้นค่าแรงงานไม่ว่าจะอัตราเท่าใด จะกระทบผู้ประกอบการซึ่งปัจจุบันขาดทุนอยู่แล้ว หากเป็นไปได้ควรชะลอขึ้นค่าแรงงานออกไปอย่างน้อย 6 เดือน แล้วค่อยกลับมาทบทวนปัจจัยต่าง ๆ อีกครั้ง ทั้งนี้จะหยิบยกประเด็นนี้หารือในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันครั้งต่อไปด้วย
“รัฐบาลจะปรับขึ้นค่าแรงได้อย่างไร ตอนนี้จะเจ๊งกันหมดอยู่แล้ว เพราะเศรษฐกิจไม่ดี หากปรับขึ้นจะกระทบต้นทุนผู้ประกอบการ ผมว่าปัญหาค่าแรงงานน่าห่วงน้อยกว่า ห่วงว่าจะไม่มีงานให้ทำดีกว่า อีก 6 เดือนค่อยมาคุยกันอีกที”
สภาอุตฯชี้ขึ้นไม่เท่ากันทั่ว ปท.
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ให้เป็นหน้าที่ไตรภาคีพิจารณาว่าการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำในระดับ 2-10 บาทเหมาะสมหรือไม่ แต่หากปรับขึ้นระดับนี้มองว่าไม่ต่ำไม่สูงเกินไป และต้องไม่ปรับขึ้นในอัตราเท่ากันทั้งประเทศ พิจารณาตามศักยภาพแต่ละจังหวัด อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เศรษฐกิจไม่ดี เอกชนมีต้นทุนหลายด้านต้องรับภาระ ต้องลดต้นทุน แต่ไม่ใช่การปลดคน จึงขอให้เอกชนคิดตรงนี้ให้มาก และหันไปปรับปรุงเทคโนโลยีให้สามารถผลิตได้มากขึ้น คุณภาพดีขึ้น หาตลาดใหม่ ๆ ถือเป็นทางรอดที่ดีตอนนี้
ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และรองประธานสภาผู้ส่งออกแห่งประเทศไทย มองว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการมีปัญหาเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขัน จากที่เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง 2 ปี หลายอุตสาหกรรมส่งออกไม่ได้ ต้องลดกำลังการผลิต รวมถึงอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งมีการใช้แรงงานเข้มข้น ตั้งแต่ต้นน้ำในภาคเกษตรจนถึงปลายน้ำในอุตฯอาหารสำเร็จรูป หากขึ้นค่าแรงในภาวะเศรษฐกิจอย่างนี้จะยิ่งซ้ำเติม ทำให้แข่งขันไม่ได้ เพราะปัจจุบันต้นทุนค่าแรงงานของไทยสูงสุดในอาเซียนอยู่แล้ว 325 บาท อันดับ 2 คือ ฟิลิปปินส์ 197-341 บาท เวียดนาม 156-173 บาท อินโดนีเซีย 99-271 บาท เป็นต้น
“แต่หากรัฐจะปรับค่าแรงงานก็ต้องคำนึงเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตคู่ขนานไปด้วย เพราะขึ้นค่าแรงแล้วผลิตได้เท่าเดิม ต้นทุนต่อหน่วยจะสูง และหากส่งออกไม่ได้ แม้จะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตก็ไม่รู้จะขายให้ใคร จึงต้องสร้างสมดุลทุกฝ่ายรัฐอาจเสริมมาตรการการเงิน มาตรการการคลัง ช่วยผู้ประกอบการเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง ด้วยสินเชื่อปลอดดอกเบี้ยหรือดอกเบี้ยต่ำ เพราะหากผู้ประกอบการแข่งขันไม่ได้จะย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นในอาเซียนที่ต้นทุนแรงงานและวัตถุดิบได้เปรียบกว่า หรือลงทุนนำเครื่องจักรมาใช้ทดแทนแรงงานคน ประเด็นที่เอกชนกังวลมากที่สุดขณะนี้คือ ภาวะเศรษฐกิจที่มีโอกาสจะซึมยาว จึงประคองอุตสาหกรรมเดิมให้อยู่รอดก่อน”
อุตฯเครื่องนุ่งห่มรับได้ 2%
ขณะที่อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มซึ่งเป็นกลุ่มที่ใช้แรงงานเข้มข้น นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย เปิดเผยว่า “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หากจะขึ้นค่าแรงงานควรอยู่ในระดับที่อุตสาหกรรมรับได้ประมาณ 2% หรือ 6-7 บาท หรือจากปัจจุบัน 320 บาท เป็น 326-327 บาท/วัน ถ้าขึ้นเกินกว่า 3% จะทำให้
ผู้ประกอบการมีความเสี่ยง โดยเฉพาะผู้ผลิตเพื่อส่งออกในอุตสาหกรรมนี้ซึ่งมีสัดส่วน 40% จะกระทบ เพราะไม่เพียงต้นทุนค่าแรงสูงที่สุดในอาเซียน และมีปัญหาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน อย่างไรก็ตาม หากไม่ปรับขึ้นค่าแรงเลยก็อาจกระทบเศรษฐกิจเช่นกัน เพราะปัจจุบันการผลิตเครื่องนุ่มเพื่อจำหน่ายตลาดในประเทศมีสัดส่วน 60% ซึ่งพบว่าตลาดในประเทศไม่ขยายตัวเลย เพราะแรงงานไทยไม่มีการปรับค่าแรงมา 2 ปีแล้ว เทียบกับกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม ค่าแรงต่ำกว่าแต่ปรับขึ้นทุกปี ทำให้ความแตกต่างค่าแรงของไทยและ CLMV เริ่มลดลง
สำหรับต้นทุนการใช้แรงงานคิดเป็นสัดส่วน 50% ของการผลิต เช่น เสื้อตัวละ 500 บาท เป็นต้นทุนค่าแรง 250 บาท หากขึ้นค่าแรงงาน 2% จะส่งผลต่อต้นทุนการผลิต 1% แต่สามารถปรับราคาจำหน่ายเสื้อเพียง 0.5% หรือเฉลี่ยตัวละไม่เกิน 5 บาท ซึ่งไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคมากนัก
ทั้งนี้ ปัจจุบันอุตฯเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอรวมกันใช้แรงงาน 3 แสนคน เป็นต่างด้าว 40% และคนไทย 60% แต่ได้รับสัญญาณว่าจะปรับขึ้นค่าแรงเมื่อ 2 ปีก่อน ประกอบกับเข้าสู่สังคมสูงวัย ทำให้แรงงานเย็บผ้าที่มีอายุมาก ลาออกปีละ 5,000-10,000 คน ไม่สามารถหาแรงงานมาทดแทนได้ ผู้ประกอบการจึงได้ปรับตัวหันไปใช้เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมากขึ้น นอกจากนี้ โรงงานเครื่องนุ่งห่ม 50 โรง ขยายฐานการผลิตไปในประเทศกลุ่ม CLMV เพื่อผลิตเพื่อส่งออกแทน
ลูกจ้างทวงรัฐค่าแรง 400 บาท
ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงแรงงงานเปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลาง ชุดที่ 20 (บอร์ดค่าจ้าง) ที่มีนายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน 20 พ.ย.นี้ บัญชีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวันที่จะถูกนำเข้าพิจารณา อยู่ที่ตัวเลข 2-10 บาท ซึ่งเป็นอัตราที่ทุกฝ่ายรับได้ แม้นายจ้างยังไม่อยากให้ปรับขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัว เพราะไม่ได้ปรับขึ้นก้าวกระโดด ขณะที่ลูกจ้างก็น่าจะเห็นชอบแม้สภาพเศรษฐกิจขณะนี้ค่าครองชีพพุ่งขึ้นมากกว่า
ด้าน น.ส.ธนพร วิจันทร์ รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มลูกจ้างได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ค่าครองชีพที่พุ่งขึ้นสูงมาก ทำให้รายได้ไม่พอดำรงชีวิตแต่ละวัน จึงอยากให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ และค่าครองชีพที่เป็นจริง
“ไม่ใช่ว่าเราไม่เห็นใจนายจ้าง แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ ทำให้รายรับ รายจ่ายไม่สมดุลกัน จึงอยากให้ค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น อีกทั้งเป็นไปตามนโยบายหาเสียงของฝ่ายการเมือง ทำให้ลูกจ้างคาดหวัง เพราะที่ผ่านมาแม้รัฐจะมีมาตรการต่าง ๆ แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าถึงกลุ่มลูกจ้างที่หาเช้ากินค่ำ และหากไม่ขึ้นค่าแรง รัฐก็ต้องมีมาตรการช่วยเหลือลูกจ้างรูปแบบอื่น อาจเป็นสวัสดิการด้านแรงงาน อุดหนุนการจ่ายประกันสังคม ที่สำคัญนโยบายหาเสียงที่ให้คำมั่น ค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บาท ต้องตอบสังคมให้ได้” น.ส.ธนพรกล่าว
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/economy/news-392398
Person read: 2046
19 November 2019