เศรษฐกิจขาลงทุบธุรกิจกระอัก บริษัทจดทะเบียนโชว์ผลประกอบการไตรมาส 3/62 กำไรทรุดยกแผงต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 18% เผย 4 กลุ่มเจ็บหนักคือ “ปิโตรเคมี-ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์-พลังงาน-วัสดุก่อสร้าง” ขณะที่กลุ่มธุรกิจเชนร้านอาหาร-ค้าปลีกโดนหางเลข “ยอดขายต่อสาขา” ร่วง เหตุกำลังซื้อผู้บริโภคอ่อนแอ สงครามการค้าลาม-ปัญหาแรงงานเริ่มปะทุ รองนายกฯสมคิดสั่งคลังจัดมาตรการรับมือเศรษฐกิจปีหน้า
4 กลุ่มกำไรทรุดหนัก
นายภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กำไรบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) งวดไตรมาส 3/2562 ที่ทยอยประกาศออกมาแล้วทั้งหมด 569 บริษัท (ข้อมูล ณ 15 พ.ย. 62) คิดเป็นสัดส่วน 90% ของมูลค่าตลาด พบว่ามีกำไรสุทธิรวม 2.11 แสนล้านบาท ลดลง 18% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) ที่ทำได้ 2.57 แสนล้านบาท และเพิ่มขึ้น 1% เทียบช่วงไตรมาส 2/2562 (QOQ) จากกำไร 2.09 แสนล้านบาท
โดยกลุ่มหุ้นที่ถูกกดดันมากที่สุด คือ 1.หุ้นปิโตรเคมี ที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 4,984 ล้านบาท ลดลง 79.3% YOY และหดตัว 7.9% QOQ โดยพบว่า บจม.พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ PTTGC มีกำไรไตรมาส 3 เหลือแค่ 2,663 ล้านบาท ลดลง 79.2% YOY เช่นเดียวกับ บมจ. อินโดรามา เวนเจอร์ส หรือ IVL ที่มีกำไร 793 ล้านบาท ลดลง 92.1% YOY
2.หุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีกำไรรวมทั้งกลุ่ม 1,709 ล้านบาท ลดลง 53.8% YOY และหดตัว 12.8% QOQ หุ้นที่กำไรลงหนัก ๆ คือ บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) หรือ DELTA กำไรสุทธิ 618 ล้านบาท ลดลง 63% YOY และลดลง 29.1% QOQ อันดับ
3.หุ้นกลุ่มพลังงาน กำไรทั้งกลุ่มอยู่ที่ 45,530 ล้านบาท ลดลง 39.6% YOY และหดตัว 24.3% QOQ ซึ่งหุ้นใหญ่ที่ลดลงหนัก คือ บมจ.ปตท. หรือ PTT ที่ประกาศกำไรออกมาอยู่ที่ 20,254 ล้านบาท ลดลง 33.2% YOY และลดลง 21.9% QOQ รวมทั้ง บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ PTTEP กำไรไตรมาส 3 อยู่ที่ 11,019 ล้านบาท ลดลง 19.5% QOQ แต่เพิ่มขึ้น 5.9% YOY
4.หุ้นวัสดุก่อสร้าง กำไรของกลุ่มอยู่ที่ 9,507 ล้านบาท ลดลง 17.3% YOY และหดตัว 3.5% QOQ โดยหุ้นใหญ่อย่าง บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย หรือ SCC กำไรไตรมาส 3 อยู่ที่ 6,204 ล้านบาท ลดลง 34.5% YOY และลดลง 11.9% QOQ
ปรับลดเป้ากำไรทั้งปี
นายภราดร กล่าวว่า แรงกดดันจากทั้ง 4 เซ็กเตอร์หลักที่ทำให้ภาพรวมกำไรสุทธิไตรมาส 3 ปีนี้ลดลงมากเป็นพิเศษ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน รวมทั้งขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันดิบ อย่างไรก็ดี แนวโน้มกำไรไตรมาส 4/62 น่าจะดีกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากไตรมาส 4/61 กำไร บจ.อยู่เพียง 1.52 แสนล้านบาท จากฐานปีที่แล้วที่ต่ำ ไม่น่าจะรุนแรง
สำหรับกลุ่มธุรกิจที่จะมีกำไรหนุนตลาดในไตรมาส 4/62 คือ กลุ่มค้าปลีก เพราะเป็นช่วงไฮซีซั่น รวมถึงมีมาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” ที่เข้ามาช่วยกระตุ้นทั้งเฟส 1-เฟส 3 นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซึ่งในช่วงไตรมาส 3 ผลประกอบการลดลงถ้วนหน้า เนื่องจากได้รับผลกระทบจากมาตรการ LTV ก็มีโอกาสที่ไตรมาส 4 จะมีกำไรเติบโตดีขึ้น เพราะเป็นช่วงการขายที่ปกติจะเป็นไตรมาสที่มีกำไรมากที่สุดของปี รวมทั้งที่ผ่านมารัฐบาลมีมาตรการลดค่าโอน-จดจำนองสำหรับบ้านราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ออกมาสนับสนุน ประกอบกับภาวะดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ หลังจากที่ กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ 1.25% ซึ่งถือเป็นระดับต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ น่าจะช่วยหนุนรายได้กลุ่มอสังหาฯได้
โดยปีนี้บริษัทคาดการณ์กำไรทั้งปีไว้ 9.99 แสนล้านบาท ซึ่งครึ่งปีแรกทำไว้ประมาณ 4.8 แสนล้านบาท รวมกับไตรมาส 3 จะมาอยู่ที่ใกล้ ๆ 7 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนที่เหลือราว 2.9 แสนล้านบาท ก็ยากมากที่งวดไตรมาส 4 จะทำได้ อาจจะต้องปรับประมาณการลงมา
“เอ็มเค-ZEN” รายได้สาขาร่วง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ ในกลุ่มหุ้นอื่น ๆ ที่เป็นกำลังซื้อในประเทศอย่างกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร และค้าปลีกต่าง ๆ ก็ได้รับผลกระทบ อาทิ บมจ.เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป รายงานว่า รายได้จากการขายและบริการในไตรมาส 3/62 เท่ากับ 4,102 ล้านบาท ลดลง 75 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 1.8 จากปีก่อนหน้า ขณะที่กําไรสุทธิอยู่ที่ 549 ล้านบาท ลดลง 19% YOY สาเหตุหลักเกิดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ส่งผลให้ยอดขายสาขาเดิมปรับตัวลดลง ทั้งในส่วนร้านเอ็มเค สุกี้ และร้านอาหารญี่ปุ่น ยาโยอิ โดยฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส ประเมินว่า สถานการณ์จะต่อเนื่องไปถึง Q4/62
สำหรับ บมจ.เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป ซึ่งมีแบรนด์ร้านอาหารจำนวนมาก อาทิ ร้านอาหารญี่ปุ่น ZEN, On the Table, ตำมั่ว, แจ่วฮ้อน เป็นต้น แจ้งรายได้จากการขายและบริการไตรมาส 3/62 อยู่ที่ 759.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.2% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ผลจากการเปิดสาขาใหม่และยอดขายจากบริการดีลิเวอรี่ที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม งวด 9 เดือนแรกปีนี้ เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้รายได้ร้านอาหารสาขาเดิมลดลง -5.3% ส่งผลให้กำไรสุทธิของบริษัทในไตรมาส 3/2562 อยู่ที่ 22.1 ล้านบาท ลดลง 41.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่งวด 9 เดือน กำไรสุทธิอยู่ที่ 87.4 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกัน 19.6%
ค้าปลีก-บิ๊กซีโดนหางเลข
ขณะที่บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเจซี ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯว่า รายได้รวมไตรมาส 3/62 อยู่ที่ 42,722 ล้านบาท ลดลง 24 ล้านบาท -0.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน สาเหตุหลักเนื่องจากยอดขายกลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ (บิ๊กซี) ต่อสาขาลดลง -4.9% อย่างไรก็ตาม ไตรมาส 3 บริษัทมีกำไรสุทธิ 1,774 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.4%
จากการเติบโตของกลุ่มสินค้าและบริการทางอุปโภคบริโภค และกลุ่มสินค้าและบริการทางเวชภัณฑ์และเทคนิค รวมถึงความสามารถในการทำกำไรที่เพิ่มขึ้น บริษัทแจ้งว่า กลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ยังคงขยายสาขาอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 3/62 โดยได้เปิดไฮเปอร์มาร์เก็ต 1 สาขา ที่จังหวัดขอนแก่น, บิ๊กซีฟู้ดเพลส 1 สาขา ที่สามย่าน มิตรทาวน์, มินิบิ๊กซี 61 สาขา ขณะเดียวกันก็ได้มีการปิด 9 สาขา
“โฮมโปร” รายได้สะดุด
ด้านบริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) รายงานว่า ไตรมาส 3/62 รายได้รวม 16,375.47 ล้านบาท ลดลง 118.48 ล้านบาท หรือ 0.72% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นผลจากยอดขายสาขาเดิมที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องจากความกังวลต่อเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลงจากสงครามทางการค้าและเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลง โดยเฉพาะภาคส่งออกที่เริ่มส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากรายได้และการจ้างงานที่ปรับลดลง
อย่างไรก็ตาม ไตรมาส 3/62 บริษัทยังมีผลกำไรสุทธิ 1,482.25 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.52% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการปรับลดต้นทุนส่วนต่าง ๆ ทั้งในส่วนของต้นทุนค่าเช่า และค่าบริการในศูนย์การค้ามาร์เก็ต วิลเลจ รวมถึงลดค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร รวมถึงการลดต้นทุนทางการเงิน จากการออกหุ้นกู้ใหม่
เซเว่นฯไม่กระทบกำไรโต
ในส่วนของ บมจ.ซีพี ออลล์ แจ้งว่า ในงวดไตรมาส 3/62 บริษัทมีกําไรสุทธิ 5,612 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยรายได้รวมอยู่ที่ 141,072 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน 8.2% ปัจจัยหลักมาจากรายได้จากการสินค้าและบริการที่เพิ่มสูงขึ้นจากธุรกิจร้านสะดวกซื้อ รวมถึงจากธุรกิจศูนย์จำหน่ายสินค้าระบบสมาชิก “สยามแม็คโคร” สำหรับ 9 เดือนแรก มีรายได้รวม 423,184 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.1% กําไรสุทธิ 16,176 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
กำลังซื้ออ่อนแรงกด ศก.ปีหน้า
นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะที่ “การบริโภค” ซึ่งเป็นพระเอก ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตในช่วงที่ผ่าน ๆ โดยเฉพาะสินค้าคงทน เช่น รถยนต์ ซึ่งปีนี้ยอดขายติดลบ การบริโภคเริ่มชะลอตัว และส่งผลไปยังยอดขายตามร้านอาหารต่าง ๆ สิ่งที่ห่วงคือเมื่อบริษัทเหล่านี้ลดกำลังการผลิต จะเริ่มเห็นผลกระทบไปยังแรงงาน ซึ่งเริ่มตั้งแต่ลดค่าล่วงเวลา (โอที) ระยะหลังก็ได้ยินข่าวการปรับลดกำลังคน เช่น ให้หยุดงานมากขึ้น ส่งผลต่อเนื่องทำให้กำลังซื้ออ่อนแอลง ซึ่งจะเป็นแรงกดดันต่อโมเมนตัมเศรษฐกิจจากปลายปีนี้เข้าไปสู่ต้นปีหน้า
ขายรถร่วงติดต่อ 5 เดือน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถิติการขายรถยนต์ในประเทศ 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) ของปี 2562 อยู่ที่ 838,847 คัน โดยเป็นการลดลงอย่างต่อเนื่องติดต่อกัน 5 เดือน โดยเฉพาะเดือนตุลาคมปีนี้ เทียบช่วงเดียวกันปีแล้วลดลงมากถึง 11.4% ทั้งนี้ เป็นผลมาจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลงจากผลกระทบจากสงครามการค้าที่ทำให้ภาคส่งออกแย่ลง รวมทั้งการแข็งค่าของเงินบาท ประกอบกับความเข้มงวดมากขึ้นในการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์ของสถาบันการเงิน นอกจากนี้ ยอดส่งออกรถยนต์ก็ประสบปัญหาจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศไทยส่วนใหญ่ต้องปรับลดกำลังการผลิต ทำให้กระทบต่อการจ้างงานของผู้ผลิตรถยนต์ และผู้ผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่ต้องมีการปรับลดเวลาทำงานของพนักงานลง ส่งผลต่อรายได้ของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมจำนวนมาก
“สมคิด” สั่งรับมือ ศก.ปีหน้า
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวหลังมอบนโยบายผู้บริหารกระทรวงการคลังว่า ได้สั่งให้กระทรวงการคลังเตรียมพร้อมหามาตรการรับมือภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในปีหน้า
“ในภาวะเศรษฐกิจที่มีความเปราะบาง ต้องช่วยกันระมัดระวังเรื่องการนำเสนอข่าวในเชิงลบ เพื่อไม่ให้กระทบต่อความเชื่อมั่นการบริโภคและการลงทุน”
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า รองนายกฯสั่งให้สถาบันการเงินของรัฐไปดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่ช่วยเศรษฐกิจฐานราก และกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ส่วนกรมภาษีก็ให้มีมาตรการจัดเก็บรายได้ให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยเฉพาะกรมสรรพากรต้องผลักดันการเก็บภาษีจากผู้ประกอบการต่างชาติที่เข้ามามีรายได้ในประเทศ หรือภาษีอีบิสซิเนส
“อุตตม” ดูแลปิดโรงงาน
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า อยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และธนาคารพาณิชย์ เพื่อออกมาตรการมาดูแลผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม เนื่องจากขณะนี้โรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งได้รับผลกระทบจากภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว จนโรงงานหลายแห่งมีการปิดกิจการ ต้องเข้าไปพิจารณาในรายละเอียดถึงสาเหตุการปิดกิจการของโรงงานอุตสาหกรรมด้วยว่าสาเหตุมาจากส่วนใดบ้าง จะได้ดูแลได้อย่างครอบคลุม
ส่วนมาตรการที่จะเตรียมออกมาใช้รับมือกับภาวะเศรษฐกิจปี 2563 นั้น นายอุตตมกล่าวว่า จะเตรียมมาตรการที่ดูแลครอบคลุมทุกภาคส่วน เช่น การบริโภค การลงทุน รวมถึงดูแลผู้ประกอบการด้วย ซึ่งชุดมาตรการที่จะออกมาจะต้องทำให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงเวลานั้น ๆ ด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-392404
Person read: 2167
19 November 2019