ไซยะบุรี สู่ หลวงพระบาง เขื่อนใหม่บนความกังวล 2 ฝั่งโขง

น้ำโขงจัดเป็นแม่น้ำนานาชาติที่ 6 ประเทศ จีน-เมียนมา-ไทย-ลาว-กัมพูชา-เวียดนาม ใช้ประโยชน์ร่วมกันมาเนิ่นนาน จนมาเมื่อประมาณ 10-15 ปีที่ผ่านมา ประเทศที่ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงโดยเฉพาะอย่างยิ่ง จีน ได้เริ่มพัฒนาโครงการก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ส่งผลให้แม่น้ำโขงเกิดการเปลี่ยนแปลง การขึ้นลงของระดับน้ำ “ผิดปกติ” ตามการปล่อยน้ำจากเขื่อนใหญ่ของจีน ตามมาด้วยโครงการก่อสร้างเขื่อนยกระดับน้ำโขงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าใน สปป.ลาว ที่เพิ่งเปิดดำเนินการอย่าง เขื่อนไซยะบุรี ของบริษัท CK Power ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ช.การช่าง

โดยเขื่อนนี้เป็นเขื่อนแบบฝายน้ำล้น(Run-of-River) ขนาดกำลังผลิตไฟฟ้า 1,285 เมกกะวัตต์(MW) หรือ 7(125 MW)+1(60 MW) ระยะเวลาสัมปทานกับรัฐบาลลาว 31 ปี และจะขายไฟให้กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต(กฟผ.) 95% GdL 5%

และล่าสุด สปป.ลาวกำลังพัฒนาโครงการเขื่อนหลวงพระบาง เขื่อนยกระดับแม่น้ำโขงที่กลุ่ม ช.การช่าง เข้าร่วมลงทุนด้วยเช่นกัน

ช.การช่างเอี่ยวเขื่อนหลวงพระบาง

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวในระหว่างการสัมมนาเพื่อให้ข้อมูลโครงการเขื่อนหลวงพระบางที่ จ.นครพนม เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า สปป.ลาวมีแผนก่อสร้างเขื่อนทั้ง 5 แห่งในแม่น้ำโขง โดยเขื่อนแรกจะเป็น เขื่อนปากแบง ด้านเหนือน้ำ กับเขื่อนไซยะบุรี ด้านท้ายน้ำ ซึ่งจะเห็นว่าทุกเขื่อนเชื่อมโยงกัน (ตามกราฟิก)

ปัจจุบันเขื่อนไซยะบุรีก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการผลิตกระแสไฟฟ้าแล้ว แน่นอนว่าเขื่อนนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากชุมชน และภาคประชาสังคมทั้งในไทยและ สปป.ลาว ในเรื่องของระบบนิเวศ การทำประมง การขึ้นลงของน้ำ นำมาซึ่งการปรับแผนแบบร่าง การจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำร่วมกันเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบด้วยการทำแผนร่วมกันจึงมีความจำเป็นอย่างมาก เพราะในอนาคตจะมีเขื่อนเกิดขึ้นบนแม่น้ำโขงอีกหลายเขื่อน

ล่าสุด สปป.ล่าวได้เริ่มดำเนินโครงการเขื่อนหลวงพระบาง จัดเป็นโครงการไฟฟ้าพลังน้ำที่ “ถอดแบบ” มาจากเขื่อนไซยะบุรี มีมูลค่าการก่อสร้างประมาณ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จัดป็นโครงการพัฒนาในลำน้ำโขงสายประธานลำดับที่ 5 ต่อจากโครงการไซยะบุรี-ดอนสะโฮง-ปากแบงและปากลาย ตามลำดับ เขื่อนหลวงพระบางจะเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าแบบน้ำไหลผ่าน (run-of-river dam) ตัวสันเขื่อนมีความยาว 275 เมตร สูง 79 เมตร กว้าง 97 เมตร ขนาดกำลังผลิต 1,460 เมกะวัตต์ (MW) อยู่ในแม่น้ำโขงตอนบนเหนือนครหลวงพระบาง ประมาณ 25 กิโลเมตร

ก่อนการก่อสร้างได้จัดให้มีกระบวนการรับฟังความเห็นจากภาคประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขง โดยมีระยะเวลาดำเนินงาน 6 เดือน ตั้งแต่ 8 ตุลาคม 2562 และสิ้นสุดกระบวนการในวันที่ 7เมษายน 2563 ซึ่งแผนการดำเนินงานจะให้ความสำคัญในการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งในระดับภูมิภาคและภายในประเทศเพื่อเป็นการสร้างการรับรู้ ให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเป็นประโยชน์ต่อไป

โดยโครงการนี้มีผู้ร่วมทุน 3 ประเทศ ประกอบด้วย PetroVietnam Power Corporation รัฐวิสาหกิจเวียดนาม ทำหน้าที่หลักในการสร้างเขื่อนหลวงพระบาง ร่วมกับ สปป.ลาว ในนามบริษัท ไฟฟ้าหลวงพระบาง จำกัด (The Lu-ang PrabangPower Limited : LPCL) และบริษัทเอกชนจากฝั่งไทยร่วมทุนด้วย คือ บริษัท CK Power บริษัทลูกของ ช.การช่าง การก่อสร้างตามแผนจะเริ่มขึ้นในปี 2563 และคาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2570 หรือใช้เวลาก่อสร้างทั้งหมด 7 ปี กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จะขายให้กับประเทศไทยและเวียดนาม

“ที่ผ่านมาจะพบว่า ท้ายเขื่อนไซยะบุรีส่งผลกระทบค่อนข้างมาก อาจต้องปรับรูปแบบให้น้อยลง ดังนั้น เมื่อเขื่อนหลวงพระบางอยู่เหนือเขื่อนไซยะบุรี ลาวเองก็จะต้องปรับรูปแบบ ระยะเวลา การก่อสร้าง เราเคารพสิทธิ์ซึ่งกันและกัน แต่เมื่อเป็นแม่น้ำสายเดียวกัน มีทางเดียวก็คือ การบริหารน้ำภายใต้กฎกติกาเดียวกัน เพราะนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนริมแม่น้ำโขง 8 จังหวัด (เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลฯ) แต่ในอีกด้านหนึ่งจังหวัดเหล่านี้ก็จะได้รับผลกระทบด้วย ดังนั้นในฐานะชาติสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงจะแสดงความคิดเห็นเพื่อส่งผ่านไปยังเจ้าของโครงการ คือ สปป.ลาว” ดร.สมเกียรติกล่าว

จี้จีนแจ้งข้อมูลระดับน้ำโขง

อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่ร่วมกับอธิบดีกรมนโยบายแผนพลังงาน สปป.ลาว ดร.จันสะแหวง บุนยง ชาวบ้านส่วนใหญ่ต่างกังวลกับโครงการก่อสร้างเขื่อนไม่ต่างกับเขื่อนแห่งอื่น ๆ ทั้งในแง่ของวิถีชีวิต-การประมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงกับหลวงพระบาง-ปากแบงจะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นอีก 3 เวที เพื่อแจ้งให้ สปป.ลาวทราบ โดยมีเจ้าของโครงการเขื่อนหลวงพระบางมาหารือเอง ประกอบกับ สทนช.จะขับเคลื่อนแผนงานในปีหน้า 2563 ได้รับการพัฒนาจากไจก้า ให้เข้ามาศึกษารองรับ “ภัยแล้ง” ในลุ่มน้ำโขงทั้งหมด โดยมีประเทศจีนเข้าร่วมศึกษาด้วย

“มีการกล่าวกันว่า น้ำในแม่น้ำโขงลดต่ำลง เป็นเพราะจีนไม่ปล่อยน้ำจากเขื่อน หรือเกิดประเด็นอ่อนไหวต้องศึกษาให้รอบด้านว่า เพราะอะไร เพื่อทำข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งจีนเองได้เปิดเผยข้อมูลปริมาณน้ำเฉพาะในช่วงฤดูฝน จากนี้ไปจะต้องขอข้อมูลว่า ช่วงฤดูเเล้ง จะศึกษาร่วมกันได้หรือไม่อย่างไร บนพื้นฐานความไว้เนื้อเชื่อใจเพราะที่ผ่านมาการแจ้งเตือนน้ำโขง เราได้รับข้อมูลจากจีน 2 สัปดาห์ล่วงหน้า เราต้องขอเพิ่มมากกว่านี้ และ MOU จะเพิ่มความเข้มข้น

โดยที่รัฐบาลไทยจะเป็นประธานเพื่อติดตามใกล้ชิดดังนั้นจะเห็นว่า ‘ข้อมูล’ สำคัญที่สุด การหารือ ผลกระทบ วางมาตรการ ทั้งหมดเพื่อหากเกิดผลพิสูจน์ต้องมีกฎหมายเพื่อรองรับการเรียกร้องค่าชดเชย และประเทศเพื่อนบ้านต้องมีมาตรการท้ายน้ำจะกระทบเท่าไร ใครจะดูเเล ซึ่งควรมีราคาโครงการลงทุน ผ่านการศึกษาวิจัยร่วมกัน” นายสมเกียรติกล่าว

โขงเปลี่ยนสี-ปลาหายไป

ล่าสุดได้เกิดปรากฏการณ์แม่น้ำโขงเปลี่ยนสีเป็นสีฟ้าใสขึ้นบริเวณจังหวัดหนองคาย-นครพนม สร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้คนริมฝั่งโขง เนื่องจากไม่เคยเห็นเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน

ประเด็นแม่น้ำโขงเปลี่ยนสีเป็นสีฟ้านี้ต้องเข้าใจก่อนว่า น้ำโขงในหน้าแล้งจะน้อยลง นิ่ง ตะกอนหาย เมื่อน้ำใสเกิดการสะท้อนสเปกตัมเกิดการชะล้าง น้ำโขงจึงเปลี่ยนสี แน่นอนว่า ในอดีตน้ำโขงมีปริมาณมาก ส่งผลให้กระแสน้ำทำให้ตะกอนลดลงไป ต่อจากนี้จึงต้องคำนึงถึงแผนเพิ่มตะกอน ผู้สร้างเขื่อนต้องเสนอแนวทางแก้ปัญหานี้ ถือเป็นความร่วมมือ

“ปรากฏการณ์น้ำโขงเปลี่ยนสีต้องเข้าใจก่อนว่า ช่วงปี 2535 มีปริมาณน้ำต่ำที่สุดแล้ว ส่วนปีนี้ปริมาณน้ำโขงยิ่งต่ำกว่าปี 2535 ลงไปอีก แต่ข้อตกลงปี 2538 ระบุจะต้องไม่ต่ำสุดไปกว่านี้ แต่กระทั่งวันนี้ต่ำลงมากเกินข้อตกลงที่เคยระบุไว้แล้ว เราต้องเฝ้าจับตามองปริมาณน้ำกันใหม่”

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ได้มีการหารือทางระบบนิเวศกรณีผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อวิถีชีวิตชาวประมงลุ่มน้ำโขง โดย นายอดิศร พร้อมเทพ อดีตอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า สถานการณ์ของระดับน้ำในแม่น้ำโขงได้ลดลงมากถึงขั้นวิกฤต และมีการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำอย่างกะทันหัน สะท้อนให้เห็นถึงความผันผวนของระดับน้ำในแม่น้ำโขง จากหลายปัจจัยที่เกิดขึ้น ทั้งภัยแล้ง การปล่อยน้ำของเขื่อนจีนที่อยู่ต้นน้ำโขง

ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของแม่น้ำโขงอย่างรวดเร็วได้อีก หากไม่เป็นไปตามระบบนิเวศ ลุ่มน้ำธรรมชาติส่งผลให้สัตว์น้ำทั้งในแม่น้ำโขง แม่น้ำสาขาของประเทศทั้งไทยและลาว และที่เกษตรกรเพาะเลี้ยงในกระชังได้รับความเสียหายเพราะ สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน

“เนื่องจากแม่น้ำโขงในส่วนของไทยเป็นแนวเขตพรมแดนและมีความต่อเนื่องกับประเทศเพื่อนบ้านอีก 3 ประเทศ ได้แก่ สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม สัตว์น้ำในแม่น้ำโขงโดยส่วนใหญ่มีแหล่งช่วงวัยที่แตกต่างกัน ดังนั้น การบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในแม่น้ำโขงต้องบูรณาการจัดการแบบข้ามพรมแดนผ่าน คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) เพราะแม่น้ำโขงไม่ได้อยู่ในอำนาจการบริหารจัดการของไทยเพียงประเทศเดียว

“ผมยอมรับว่าจำนวนสัตว์น้ำบางชนิดในแม่น้ำโขงหายไปแล้ว หลังจากนี้จะมีการตรวจสอบจำนวนและชนิดของสัตว์ เพื่อทำการขยายพันธุ์ กรมประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีการปรับเปลี่ยนการทำงานใหม่ ต้องทำงานร่วมกันเพราะ ต่อจากนี้ไปปริมาณในแม่น้ำโขงมีโอกาสเปลี่ยนแปลงไวมากกว่าในอดีตที่ผ่านมา เราต้องร่วมกันพัฒนาระบบการแจ้งเตือนแม่น้ำโขงไปยังเกษตรกรและชาวประมงริมน้ำให้เร็วมากยิ่งขึ้น” นายอดิศรกล่าว

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/economy/news-407210


Person read: 2045

03 January 2020