REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/File Photo
การบรรลุข้อตกลงการค้าใน “เฟสแรก” คลายความกังวลทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนยังไม่ยุติลง โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีโทรคมนาคมสมัยใหม่อย่าง “5 G” เป็นอีกหนึ่งศูนย์กลางความขัดแย้งระหว่าง 2 ประเทศ โดยสหรัฐประกาศสงครามเทคโนโลยีด้วยการขึ้นบัญชีดำ “หัวเว่ย” และกดดันให้พันธมิตรทั่วโลกร่วมกันแบนเทคโนโลยี “5 จี” ของหัวเว่ยอีกด้วย
ทั้งนี้ “หัวเว่ย” เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีโทรคมนาคม “5G” ซึ่งเป็นโครงสร้างสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IOT) เป็นต้น โดยสหรัฐกังวลว่าความเป็นผู้นำ 5G ของหัวเว่ยจะสร้างความได้เปรียบให้กับจีนในการร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่ทั่วโลก ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญในการแข่งขันของ 2 มหาอำนาจโลก รวมถึงสร้างความกังวลต่อสหรัฐในมิติความมั่นคงอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม “ซีเอ็นเอ็น” รายงานว่า อินเดียเพิ่งประกาศยืนยันเมื่อ 30 ธ.ค. 2019 อนุมัติให้หัวเว่ยสามารถเข้าร่วมการทดลองระบบ 5G ในเดือน ม.ค. 2020 ซึ่งอาจเป็นการปูทางการขยายตลาดสู่การพัฒนาโครงข่าย 5G ในประเทศที่มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตราว 500 ล้านราย นอกจากนี้เมื่อต้น ธ.ค.ที่ผ่านมา “เทเลโฟนิก้า เยอรมนี” ผู้ให้บริการโทรคมนาคมข้ามชาติได้ประกาศแผนการลงทุนระบบเครือข่าย 5G โดยใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ยท่ามกลางบรรยากาศการถกเถียงกันต่อประเด็นดังกล่าวในรัฐสภาของเยอรมนี ขณะที่อีกหลายประเทศทั่วโลกปฏิเสธข้อเรียกร้องของทางสหรัฐเช่นกัน
“ฟอเรียน โพลิซี” รายงานว่าสหรัฐสามารถกดดันให้พันธมิตรอย่างออสเตรเลีย ญี่ปุ่น รวมถึงนิวซีแลนด์ แบนอุปกรณ์เทคโนโลยี 5G ของหัวเว่ยเป็นผลสำเร็จ ขณะที่พันธมิตรในยุโรป เช่น เยอรมนี อังกฤษ อิตาลี โปแลนด์ รวมถึงกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ ก็กำลังถกเถียงกันในประเด็นดังกล่าว
นิตยสาร “ฟอร์จูน” รายงานถึงเหตุผลที่สหรัฐไม่อาจโน้มน้าวประเทศพันธมิตร “แบนหัวเว่ย” ได้ เพราะข้อกล่าวหาว่าหัวเว่ยทำการจารกรรมข้อมูลและก่อวินาศกรรมทางไซเบอร์ยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอ ถึงแม้มีข้อสงสัยว่าหัวเว่ยมีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลปักกิ่งก็ตาม ขณะที่การปฏิเสธไม่ใช้อุปกรณ์หัวเว่ยจะส่งผลให้ต้นทุนโครงข่าย 5G เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาและความสามารถการแข่งขันในอุตสาหกรรมสมัยใหม่
รอยเตอร์สรายงานถึงผลงานวิจัยของ “จีเอสเอ็มเอ” สมาคมธุรกิจโทรคมนาคม ระบุว่าการแบนหัวเว่ยจะส่งผลให้ยุโรปมีต้นทุนในการวางระบบ 5G เพิ่มขึ้นถึง 62,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังทำให้การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องล่าช้าไปอีก 18 เดือน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงทางไซเบอร์โปแลนด์ กล่าวเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมาว่า ความกังวลเรื่องของต้นทุนเป็นสาเหตุที่ “โปแลนด์” จะไม่แบนหัวเว่ยตามคำเตือนของสหรัฐ
ขณะที่ “โวดาโฟน กรุ๊ป” บริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ของอังกฤษ และ “ดอยช์ เทเลคอม” ของเยอรมนี แสดงความกังวลว่าการแบนหัวเว่ยส่งผลให้ต้นทุนของบริษัทเพิ่มสูงขึ้น และทำให้การพัฒนาระบบเครือข่าย 5G ล่าช้าถึง 2 ปี
สอดคล้องกับงานวิจัยของ “ออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์” ซึ่งทำการศึกษาใน 8 ประเทศ พบว่าการแบนหัวเว่ยจะส่งผลให้ต้นทุนการพัฒนา 5G เพิ่มขึ้นประมาณ 8-29% ส่งผลให้ประชากรหลายล้านคนไม่สามารถเข้าถึงเครือข่าย 5G ได้ภายในปี 2023 ทั้งส่งผลต่อความล่าช้าในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงกล่าวได้ว่าการให้หัวเว่ยร่วมพัฒนา 5G มีเหตุผลทางเศรษฐกิจรองรับ และถึงแม้ว่าหัวเว่ยจะเป็นผู้นำด้านเครือข่ายโครงสร้าง 5G แต่ “ซิลิคอนวัลเลย์” ยังเป็นผู้นำในการพัฒนานวัตกรรมบนเครือข่าย 5G
ดังนั้นการเปิดใจยอมรับหัวเว่ยอาจส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของสหรัฐเอง รวมถึงเศรษฐกิจโลก
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/world-news/news-407681
จำนวนผู้อ่าน: 2010
06 มกราคม 2020