พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ หรือ ‘บิ๊กแอ้ด’ ดำรงตำแหน่งองคมนตรีในรัชกาลที่ 9 และรักษาการประธานองคมนตรีในรัชกาลที่ 10
ดำรงตำแหน่ง องคมนตรีเมื่อ 8 เมษายน 2551 เกิดเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2486 ที่ จ.ปราจีนบุรี เป็นบุตรของ พ.ท.โพยม และ นางอัมโภช จุลานนท์ ภรรยาชื่อ ท่านผู้หญิงจิตรวดี จุลานนท์ มีบุตรชาย 2 คน
เข้ารับการศึกษาที่ ร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัย, ร.ร.นายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 12 (จปร.12), หลักสูตรชั้นนายร้อย เหล่า ร. ปี 2509, หลักสูตรส่งกำลังทางอากาศ, หลักสูตรชั้นนายพัน เหล่า ร.ที่ฟอร์ทเบนนิ่ง รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา ปี 2511, หลักสูตรเสนาธิการทหารบก ชุดที่ 52 ปี 2514, หลักสูตร เสนาธิการทหารบก สหรัฐอเมริกา ปี 2517, วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 36
พล.อ.สุรยุทธ์ เคยรับราชการในตำแหน่งนายทหารฝ่ายเสนาธิการ และตำแหน่งหน้าที่สำคัญๆ อาทิ รองเสนาธิการกองพลที่ 1, เสนาธิการกองพลรบพิเศษ และช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี ในตำแหน่ง เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายข้าว จนกระทั่งคณะกรรมการชุดนี้ถูกยุบไป จึงกลับไปอยู่กองพลรบพิเศษที่ลพบุรี ต่อมา ก็ได้ทำหน้าที่เป็น นายทหารคนสนิทนายกรัฐมนตรี และรับตำแหน่งประจำสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ปี 2529
จากนั้น จึงเข้าประจำกองบัญชาการกองทัพบก, ผู้บัญชาการกองพลรบพิเศษที่ 1, ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, แม่ทัพภาคที่ 2, ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบก, ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก, นายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์, ผู้บัญชาการทหารบก และผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก่อนเกษียณอายุราชการ 1 ต.ค. 2546
พล.อ.สุรยุทธ์ ยังเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภา ก่อนลาออกเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2541 ต่อมา ได้รับแต่งตั้งเป็นองคมนตรี เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2546 และพ้นจากตำแหน่ง 1 ตุลาคม 2549 เพื่อไปดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 24 ในวันที่ 1 ตุลาคม 2549 จนถึง 29 มกราคม 2551
ได้รับฉายาจากสื่อมวลชน ว่าเป็น “รัฐบาลขิงแก่”
พล.อ. สุรยุทธ์ เคยกล่าวไว้เมื่อครั้ง ดำรงตำแหน่ง องคมนตรี ในรัชกาลที่ 9 ไว้ว่า
“ผมได้เห็นถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทุกครั้งที่ได้เข้าเฝ้าฯ พระองค์ท่านไม่ว่าจะเป็น การนำบุคคลสำคัญจากต่างประเทศเข้าเฝ้าฯ หรือว่าเข้าเฝ้าฯ เป็นการส่วนพระองค์เพื่อกราบบังคมทูลถวายรายงาน การดำเนินการต่าง ๆ ทำให้ผมได้ประจักษ์แจ้งชัดว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นผู้เปี่ยมไปด้วยพระปรีชาสามารถ ในทุก ๆ ด้านอย่างแท้จริง”
“สิ่งที่พระองค์ท่านพระราชทานมาให้นั้น ไม่ว่าจะเป็นแนวทางพระราชดำริ พระราชดำรัสเตือน หรือว่าพระราชดำรัสชมเชย กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นายกฯ อย่างผมมีความเชื่อมั่นที่จะทำงานอย่างต่อเนื่องไปได้”
“ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า พระองค์ท่านพระราชทานพระราชดำรัส แนะนำให้ทำอย่างนี้อย่างนั้น แต่เป็นลักษณะที่ถือว่าพระราชทานพระราชดำรัสแนะนำอย่างจริง ๆ เช่น ปีที่สหพันธรัฐรัสเซียมีความสัมพันธ์กับราชอาณาจักรไทยครบหนึ่งร้อยปี ผมได้มีโอกาสพบกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ซึ่งท่านประธานาธิบดีได้ยืนยันที่จะกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปทรงเยือนสหพันธรัฐรัสเซีย ในวาระอันเป็นมงคลนี้และผมรับปากว่า จะนำเรื่องนี้ขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา ปรากฏว่า เมื่อผมนำความกราบบังคมทูลพระกรุณา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำรัสแนะนำว่า”
“การที่จะรักษาความสัมพันธ์กับประเทศที่มีความสัมพันธ์กับเรามาเป็นเวลานานนั้น เป็นสิ่งที่ดี”
“นั่นคือพระองค์ท่านทรงเห็นด้วย แต่มีพระราชดำรัสต่อไปว่า พระองค์ท่านเสด็จฯไปไม่ได้ แต่อยากจะให้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นผู้แทนพระองค์ ซึ่งเป็นที่มาของการเสด็จฯ เยือนสหพันธรัฐรัสเซียของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งครบรอบความสัมพันธ์ หนึ่งร้อยปีระหว่างราชอาณาจักรไทยกับ สหพันธรัฐรัสเซีย พ.ศ. 2550”
“พระราชประสงค์ข้อนี้ ผมคิดว่า คนไทยทุกคนน่าจะพอทราบอยู่แล้วบ้าง หากได้ติดตามพระราชดำรัสในการเสด็จออกมหาสมาคม วันที่ 4 ธันวาคมของทุกปี พระองค์ท่านมักพระราชทานแนวทางกว้าง ๆ แก่ประชาชน มีทั้งพระราชดำรัสแนะนำ ตักเตือน และพระราชทาน กำลังใจ ซึ่งทั้งสามประการนี้ ถ้าใครได้ย้อนกลับไปอ่านพระราชดำรัสที่มีคนตีพิมพ์ให้ดี จะเห็นว่า ล้วนเป็นพระราชดำรัสที่ไม่ได้ทรงเตรียมไว้ล่วงหน้า แต่หลั่งไหล ออกมาจากน้ำพระราชหฤทัยจริง ๆ”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : โปรดเกล้าฯแต่งตั้ง ‘พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์’ เป็นประธานองคมนตรี
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/politics/news-407728
Person read: 1940
06 January 2020