พรเพชร : รัฐธรรมนูญมีชีวิต ฆ่าทั้งฉบับ เท่ากับ “รัฐประหาร” ทางนิติบัญญัติ

เกือบ 6 ปีที่แล้ว “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธานวุฒิสภา (ส.ว.) เป็นบุคคลร่วมร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 อันเป็น “ต้นขั้ว” ของรัฐธรรมนูญ 2560

“พรเพชร” นั่ง “เรือแป๊ะ” คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งแต่เริ่มแรก เป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ สนช.เป็นต้นกำเนิดคำถามพ่วงประชามติรัฐธรรมนูญ 2560 ให้ ส.ว. 250 คน มีอำนาจร่วมโหวตนายกฯ นาน 5 ปี เป็นช่องให้ “พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา” ครองอำนาจผู้นำประเทศเป็นสมัยที่ 2 หลังเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562

“พรเพชร” กลับมารับตำแหน่งประธานส.ว. แบบนอนมา เป็น “ไม้ค้ำยัน” ให้กับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์อีกครั้ง
แต่แล้วรัฐธรรมนูญ 2560 กำลังถูก”สภาล่าง” เริ่มต้นกระบวนการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผ่านคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฝ่ายค้าน-ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 นำไปสู่การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) รื้อ-โละ ทั้งฉบับ เพราะเป็น “มรดก คสช.” ตรงข้ามฝ่ายรัฐบาล-ต้องการแก้ไขรายมาตราเฉพาะที่อยากแก้

“ประชาชาติธุรกิจ” ถามใจ “พรเพชร” ในฐานะบุคคลพิเศษที่อยู่ร่างรัฐธรรมนูญ 2557 เป็น “ต้นขั้ว” รัฐธรรมนูญ 2560 เมื่อรัฐธรรมนูญที่เขามีส่วนร่วมทำคลอด ถึงคราวชำระ สะสาง “พรเพชร” ตอบจากใจว่า เขาเห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ

“ผมชี้ได้ทันทีเลยว่ามาตราไหนต้องแก้ไข เช่น มาตราว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ที่ห้าม ส.ส.และ ส.ว.ถือหุ้นสัมปทานของรัฐ รวมถึงคู่สมรส และบุตร ซึ่งการรวมถึงคู่สมรส และบุตร ต้องคิดให้ดี เพราะความเป็นครอบครัวมีอยู่และยากที่จะไปดูแลถึงข้อจำกัดนี้”

“ผมยอมสำหรับคู่สมรส แต่พอไปถึงบุตรผมเห็นว่าต้องแก้ เพราะคู่สมรสเราพูดจากันได้ พูดจาไม่รู้เรื่องก็หย่าขาดกันได้ แต่บุตรเมื่อบรรลุนิติภาวะแล้วเราไล่เขาออกจากความเป็นบุตรไม่ได้…ต้องแก้ถ้ามองว่าใช้ลูกเป็นนอมินีอย่าว่าแต่เป็นลูกใช้ใครก็ผิดไปเขียนทำไม”

ส่วนวิธีการเลือกตั้งที่นักการเมืองมองว่าเป็นปัญหา “พรเพชร” เห็นด้วย โดยเฉพาะระบบเลือกตั้งบัตรใบเดียว ต้องมีรายละเอียดถี่ถ้วนให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ทำกฎหมายให้เคลียร์ที่สุด…

แก้ทั้งฉบับเท่ากับรัฐประหาร

แต่เมื่อผลการศึกษาของ กมธ.ศึกษาแนวทางการแก้รัฐธรรมนูญในชั้น ส.ส.ไม่ว่าตกผลึกแก้เป็นรายมาตราหรือแก้ทั้งฉบับโดยให้มี ส.ส.ร. มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ย่อมผูกพันกับ ส.ว.ในฐานะที่ต้องยกมือโหวต ทางออกแบบไหนจะไม่ทำให้ ส.ว.อึดอัด “พรเพชร”ขอตอบตรง ๆ ณ วันนี้ว่า “ในความคิดของผม ไม่เปลี่ยน และเชื่อว่าเป็นความคิดของ ส.ว.ส่วนใหญ่ เราต้องเดินตามรัฐธรรมนูญในการแก้ไข บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญให้แก้อย่างไรก็แก้ไปตามนั้น”

“ผลการศึกษาจะขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องใด มาตราใด ข้อใด ส.ว.ก็ต้องรับฟังและพร้อมร่วมพิจารณา ส่วนการยกเลิก ลบ รัฐธรรมนูญมาตรา 256 (นำไปสู่การมี ส.ส.ร.ตามที่ฝ่ายค้านเสนอ) มันไม่ใช่ เป็นการทำไม่ได้ในทางกฎหมาย เปรียบเสมือนการรัฐประหารทางนิติบัญญัติ”

“มันทำไม่ได้ ก็ทำไม่ได้ก็จบเรื่อง เสนอมาสิจะแก้กี่มาตรา ก็เถียงกันว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ว่าไปตามนั้น”

ย้อนไปในคราวพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ได้ชงวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อเปิดทางให้มี ส.ส.ร.มาแล้ว 1 ครั้ง แต่ศาลรัฐธรรมนูญ “แนะนำ” ให้รัฐบาลเพื่อไทย กลับไปทำประชามติถามความเห็นประชาชน และให้แก้ไขรายมาตราแทนทั้งฉบับ “พรเพชร” เชื่อว่า ถ้าครั้งนี้มีการลบล้างรัฐธรรมนูญมาตรา 256 สถานการณ์จะซ้ำรอยพรรคเพื่อไทย

“แน่นอน…ศาลรัฐธรรมนูญตีความแล้ว เผลอ ๆ จะหนักแน่นกว่าเป็นการแก้ไขในทางที่ไปไม่ได้ในทางนิติบัญญัติ”

ขวางรื้อมรดก คสช.

ทว่า แผนฝ่ายค้านแก้เกมด้วยการ “ทำมวลชน” นอกสภา บีบให้นักการเมืองในสภา ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 นำไปสู่การมี ส.ส.ร.เหมือนปี 2540 “พรเพชร” ไม่ขอตอบ

แต่เมื่อถามในฐานะคนที่อยู่ร่วมกับคสช.ร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว ถึงรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ฝ่ายค้านมองว่าเป็นมรดกของ คสช.ที่ต้องลบล้างออกไป

“พรเพชร” ตอบกลับว่า “มรดก คสช.ถ้ามันดีแล้วจะทำไม ลืมไปแล้วเหรอว่าปฏิรูปก่อนเลือกตั้งใครพูดก่อน ประชาชนพูดกันทั้งประเทศ ผมมาทำกับ คสช.ก็ปรึกษากันว่า เรื่องปฏิรูปประเทศต้องทำให้ได้ เพราะประชาชนต้องการ ผมก็ต้องทำ โดยเฉพาะด้านกฎหมายเท่านั้น ไม่ได้ใช้อำนาจอื่น”

“แก้ไขรายมาตรา ทำได้ แก้ไขเยอะ ๆ ได้ไหม ได้ เว้นแต่มาตราใดที่ห้าม เช่น การแบ่งแยกประเทศ หมวดพระมหากษัตริย์ ผมยังไม่มาอ้างสักนิดว่า ห้าม ทำไม่ได้”

“ในฐานะสอนกฎหมาย เป็นนักกฎหมายรู้อยู่เสมอว่ากฎหมายมีชีวิต ต้องปรับปรุง เปลี่ยนแปลงได้ และมีกระบวนการของมันแล้ว จะไปฆ่าแล้วเขียนกฎหมายขึ้นมาใหม่เลยเหรอ”

ส.ว.เป็นทั้งจุดแข็ง-จุดอ่อน

กับ “ธงการเมือง” ของฝ่าย ส.ส.ต้องการรื้อ ส.ว. 250 คน เพราะเป็นกลไกของการสืบทอดอำนาจ “พรเพชร” ชี้แจงว่า มันไม่ใช่เรื่องสืบทอดอำนาจ เป็นการปฏิรูปประเทศที่เราตั้งใจไว้

“ผมพูดด้วยความสัตย์จริงตอนที่เพิ่มคำถามพ่วง ไม่ได้คิดว่าใครจะเป็นนายกฯจึงไม่ได้อยู่บนพื้นฐานนั้น แต่เชื่อว่าด้วยจิตวิญญาณของ ส.ว. ต้องเลือกคนที่ดีและมีแนวคิดตรงกันเรื่องปฏิรูปประเทศ”

เมื่อถามว่า ส.ว.เป็นจุดแข็งหรือจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญ “พรเพชร” นิ่งคิด ก่อนตอบว่า “มีทั้งคู่ จุดแข็งคือ…เรื่องการปฏิรูปประเทศ จุดอ่อน ก็อย่างว่า…กลายเป็นเรื่องสืบทอดอำนาจ ส.ว.ไปมีส่วนช่วย ผมขอบอกเลยว่าไม่ใช่ ส.ว.ตามบทหลักของรัฐธรรมนูญมีเพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการปฏิรูปประเทศ”

เปิดผลงานของ ส.ว.

อย่างไรก็ตาม “พรเพชร” ฉายภาพผลงาน ส.ว.ว่า ตั้งแต่ตนเข้ามาได้สั่งให้มีการตั้งคำสั่ง 2 คำสั่ง คือ ส.ว.พบประชาชน ถ้าไม่พบประชาชนแล้วจะทำเรื่องปฏิรูปได้อย่างไร ปฏิรูปการปลูกข้าว ถ้าไม่เคยเห็นจะไปปฏิรูปเกษตรกรรมได้อย่างไร ต้องไปสัมผัสชีวิตจริงของชาวบ้าน ซึ่งเตรียมการเรียบร้อย

และสัมมนาศึกษาหาความรู้ ให้สมาชิกเข้าใจระบบรัฐสภา กระบวนการนิติบัญญัติ รวมถึงปัญหาอื่น ๆ ที่ ส.ว.สนใจในการตรวจสอบรัฐบาล ทั้งสองโครงการจะเป็นเครื่องมือที่ทำงานต่อไปทั้งด้านการตรวจสอบรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากเป็นสภาที่ 2 ยังมีหน้าที่ปฏิรูปประเทศในปี 2563

“เมื่อเราพูดถึงการปฏิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ ในบทเฉพาะกาลเขียนมาโดยหวังว่าการที่รัฐธรรมนูญไปเขียนเรื่องปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ ถ้ากลไกไม่ได้มีการขับเคลื่อน มีแต่การประชุมของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ไม่มีการขับเคลื่อนทางนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการร่างกฎหมาย ซึ่งปฏิรูปบางอย่างต้องร่างกฎหมาย กรธ.จึงต้องการ ส.ว.ที่เป็นองค์ประกอบใหม่ขึ้นมา”

“ดังนั้น ส.ว.จึงมีอำนาจหน้าที่อย่างหนึ่งที่ไม่เหมือนเดิม คือการที่ให้ ส.ว.เข้าไปร่วมพิจารณากฎหมายในชั้นแรก ถ้ากฎหมายนั้นเกี่ยวข้องกับการปฏิรูป ซึ่งเกิดขึ้นในบทเฉพาะกาลช่วง 5 ปีแรก โดยรัฐบาลเพิ่งเสนอมา 1 ฉบับ เพื่อเป็นการชิมลาง คือ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่..) พ.ศ. …. กรณีไกล่เกลี่ยข้อพิพาท”

“รัฐบาลชิมลางก็ต้องเอากฎหมายประเภทไม่มีข้อโต้แย้งมาก ต้องดูต่อไปกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปจะเสนอมาอย่างไรต่อไป ที่พูดกันมากว่าเมื่อไหร่จะเข้ามา คือ กฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจและปฏิรูปการศึกษา”

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายค้านมักดักคอว่า กฎหมายที่ผ่านสภายาก ๆ รัฐบาลอาจพลิกสถานการณ์ ใช้แท็กติกเปลี่ยนให้เป็นกฎหมาย “หมวดปฏิรูป” เพื่อใช้เสียง ส.ว.มาช่วยโหวต”พรเพชร” ตอบว่า “มันก็คิดได้ แต่กฎหมายต้องมีที่มาที่ไป เหตุผลและหลักการ เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพื่อการปฏิรูปประเทศ กฎหมายบางอย่างไม่ได้ทำได้ตามอำเภอใจ”

“ประวัติศาสตร์มันมีที่เกิดเรื่องจนมี คสช.ขึ้น กฎหมายสุดซอยมันผิดกระบวนการนิติบัญญัติที่ไหน แม้จะประชุมกันถึงตีสี่ ตีห้า แต่ก็ไปไม่ได้ ผมไม่คิดว่าใครจะทำร้ายตัวเองด้วยวิธีการอย่างนั้น บทเรียนมันมี ผมจึงอยากเตือนว่าอย่าไปทำอะไรอย่างนั้นเลยแม้แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญตอนนี้ก็ต้องดูให้ดี ไม่ใช่ว่าฉันจะแก้ไปสุดซอยได้”

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/politics/news-407837


จำนวนผู้อ่าน: 2059

06 มกราคม 2020