3 เจ้าสัวฝ่าด่าน กม.ผูกขาด ชิงปิดดีล “เทสโก้ โลตัส”

เพียงแค่ 2 สัปดาห์เศษ ๆ กระแสข่าวการขายกิจการของ “เทสโก้ โลตัส” กลับมาเป็นข่าวใหญ่อีกครั้ง ก่อนหน้านี้ วันที่ 8 ธันวาคม 2562 “เทสโก้” ค้าปลีกรายใหญ่จากประเทศอังกฤษ ออกแถลงการณ์ระบุว่ากำลังพิจารณาขายธุรกิจในไทยและมาเลเซีย หลังมีผู้สนใจและเสนอซื้อกิจการในไทยและมาเลเซีย ในแถลงการณ์ฉบับดังกล่าว ย้ำว่าแผนนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้นไม่สามารถให้รายละเอียดที่มากกว่านี้ได้ และไม่ยืนยันว่าสุดท้ายแล้วดีลนี้จะจบลงหรือไม่

โดยสื่อต่างประเทศหลายสำนักระบุว่า ดีลนี้อาจมีมูลค่าสูงถึง 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐหรือกว่า 273,000 ล้านบาท ความน่าสนใจที่บรรดานักวิเคราะห์จากสถาบันการเงินหลายแห่งต่างเห็นพ้องกันว่า ธุรกิจเทสโก้ในอาเซียน โดยเฉพาะไทยมีศักยภาพสูง ด้วยอัตรากำไรถึง 6% มากเป็น 2 เท่าของธุรกิจในอังกฤษ และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง รวมถึงมีทรัพย์สินเป็นสาขาจำนวนมาก หรือประมาณ 1,980 สาขา มีรายได้ 194,000 ล้านบาท (ณ สิ้น 28 กุมภาพันธ์ 2561) ถัดมา 28 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา

สำนักข่าวต่างประเทศพร้อมใจขยายผลข่าวนี้ต่อว่า มี 3 ธุรกิจยักษ์ใหญ่ของเมืองไทยแสดงความสนใจดีลนี้ ซึ่งล้วนเป็นชื่อที่หนังสือพิมพ์ธุรกิจหลาย ๆ ฉบับเคยนำเสนอมาแล้วว่ามีศักยภาพและมีความเป็นไปได้สูงที่จะซื้อเทสโก้ โลตัส

เริ่มจากกลุ่ม ซี.พี. ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ที่สื่อต่างประเทศอ้างอิง “แหล่งข่าว” ว่า มีการประชุมหารือร่วมกับที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อเตรียมจะยื่นประมูลซื้อกิจการเทสโก้ โลตัส ถัดมาเป็นทีซีซี กรุ๊ป ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่ถูกคาดหมายว่าอาจจะนำไปต่อยอดกับธุรกิจค้าปลีกที่มีอยู่เดิม คือ บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ เช่นเดียวกัน กลุ่มเซ็นทรัล โดยทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการกลุ่มเซ็นทรัล ร้านสะดวกซื้อ “แฟมิลี่มาร์ท” และ “ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต” แต่ละค่ายล้วนมีศักยภาพไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันทั้งเครือข่ายเงินทุน

หากพิจารณาในรายละเอียดของแต่ละค่าย เริ่มจากค่าย ซี.พี. ที่วันนี้มีทั้งร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น ที่มีสาขาประมาณ 11,700 สาขา และธุรกิจค้าส่งแม็คโคร ที่มีราว ๆ 135 สาขา ภายใต้การดูแลของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ซึ่ง 2 ธุรกิจนี้มีรายได้รวมเบาะ ๆ 527,860 ล้านบาท แต่ก็ต้องไม่ลืมการชนะการประมูลรถไฟไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ที่จะต้องใช้เม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 2.24 แสนล้านบาท อาจจะเป็นการปิดศึกหลายด้านที่ทำให้เจ้าสัวธนินท์พิจารณาดีลนี้อย่างละเอียด

ขณะที่อาณาจักรทีซีซี กรุ๊ป ของเจ้าสัวเจริญ อยู่ในช่วงของการปลุกปั้นธุรกิจค้าปลีก “บิ๊กซี” ที่อยู่ใต้ร่มเงาของเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (บีเจซี) ให้เติบใหญ่ มีสาขามากกว่า 1,379 สาขา มีรายได้ 172,000 ล้านบาท และเป็นที่รับรู้ในแวดวงว่า ที่ผ่านมาเจ้าสัวเจริญใช้บริษัทในเครือข่ายเป็นหัวหอกในการลงทุนและซื้อกิจการมาไว้ในครอบครอง แต่ละดีลใช้เงินตั้งแต่หลักหมื่นล้าน (บาท) ไปจนถึงแสนล้าน (บาท) และนี่ไม่นับรวมการซื้อกิจการเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ใช้เงินหลักร้อยล้านไปจนถึงหลักพันล้านอีกนับไม่ถ้วน

แม้ค่ายนี้อาจจะมีภาระเรื่องหนี้ที่จะต้องทยอยจ่ายคืนสถาบันการเงิน แต่ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาส่วนเซ็นทรัล โดยพื้นฐานนอกจากห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล 32 สาขา โรบินสัน 49 สาขา ยังมีเซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ และแฟมิลี่มาร์ท 1,008 สาขา ท็อปส์ 265 สาขา ฯลฯ ซึ่งกลุ่มรีเทล มีรายได้ราว 240,294 ล้านบาท ซึ่งเตรียมนำบริษัท เซ็นทรัล รีเทล เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และมีแผนเดินหน้าลงทุนขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศต่อเนื่อง

แหล่งข่าวระดับสูงวงการค้าปลีก ให้ข้อมูลกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า “ดีลนี้มีความเป็นไปได้สูงว่าจะเป็นการแข่งขันของ 3 เจ้าสัวคนไทย” ใครคว้าเทสโก้ โลตัสมาครองได้ ก็จะสามารถต่อยอดธุรกิจได้ทันทีอย่างไรก็ตาม หากรายใดรายหนึ่งที่ตกลงปลงใจที่จะซื้อ “เทสโก้ โลตัส” จริง ก็จะต้องผ่านด่านสำคัญอีกด้านหนึ่งที่ว่า การได้มาซึ่ง “กิจการค้าปลีก” อย่างเทสโก้ โลตัสนั้นได้ก่อให้เกิดการผูกขาดหรือเป็นผู้ประกอบการที่มีอำนาจเหนือตลาดภายใต้ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 หรือไม่

นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ กรรมการการแข่งขันทางการค้า ออกมาเตือนแล้วว่า ธุรกิจค้าปลีกที่จะมีการควบรวมกิจการต้องแจ้งต่อคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ก่อนมีการซื้อขายกิจการจริง โดยต้องแจ้งรายละเอียดของโครงสร้างตลาดของธุรกิจก่อนควบรวมและหลังจากการควบรวมด้วยว่า จะมีผลทำให้ตลาด (ค้าปลีก) เกิดการผู้ขาดหรือมีอำนาจเหนือตลาดหรือมีสภาพการแข่งขันลดลง การควบรวมนั้นจะต้องได้รับการอนุญาตจากคณะกรรมการก่อน

“หากเกิดการซื้อขายเทสโก้ โลตัสในประเทศไทยขึ้นจริง ผู้ซื้อจะต้องดําเนินการขออนุญาตและต้องได้รับการอนุญาตจาก กขค.หากฝ่าฝืนไม่ดําเนินการตามที่กฎหมายกําหนด ต้องถูกลงโทษทางปกครอง ซึ่งกำหนดปรับสูงสุดในอัตราร้อยละ 0.5 ของมูลค่าธุรกรรมในการรวมธุรกิจ” นายสันติชัยกล่าว

นั่นหมายถึงในแนวปฏิบัติในการควบรวมกิจการได้กำหนดไว้ 2 แนวทางด้วยกันคือ 1) เมื่อมีการรวมธุรกิจแล้วอาจก่อให้เกิดการผูกขาดหรือเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอํานาจเหนือตลาด ในประเด็นนี้หมายถึง มีส่วนแบ่งตลาดเกินร้อยละ 50 และมียอดเงินขายตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป หรือเป็นผู้ประกอบธุรกิจ 3 รายแรกในตลาดมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันเกินร้อยละ 75 ก็ต้องขออนุญาตจาก กขค.ก่อน และต้องได้รับการอนุญาตจึงจะรวมธุรกิจได้กับแนวทางที่

2) เมื่อมีการรวมธุรกิจแล้วอาจก่อให้เกิดการแข่งขันลดลงอย่างมีนัยสําคัญ ต้องแจ้งให้ กขค.ทราบภายใน 7 วันนับแต่วันที่รวมธุรกิจ โดย กขค.ได้กําหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า เป็นการรวมธุรกิจที่มียอดเงินขายในตลาดตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป และไม่ก่อให้เกิดการผูกขาดหรือเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอํานาจเหนือตลาด

“เคสนี้จะเป็นเคสแรกในการควบรวมกิจการค้าปลีกขนาดใหญ่ในประเทศไทย จำเป็นต้องมีการตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาพิจารณาโครงสร้างตลาดที่ผู้ประสงค์จะเข้าประมูลยื่นมาอย่างรอบด้าน เบื้องต้น ตลาดค้าปลีก หมายรวมถึง ธุรกิจค้าปลีกทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นร้านสะดวกซื้อ (คอนวีเนี่ยนสโตร์) หรือประเภทอื่น ๆ แม้ว่าผู้ซื้อกิจการเทสโก้ โลตัสครั้งนี้จะส่งบริษัทในเครือที่ไม่ได้ประกอบธุรกิจค้าปลีกมาประมูลก็ตาม แต่คณะกรรมการก็จะต้องพิจารณาในประเด็นนี้ด้วย”

หากส่วนแบ่งทางการตลาดเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ประกอบเข้ากับยอดขายเกิน 1,000 ล้านบาทอยู่แล้ว ผู้ซื้อกิจการเทสโก้ โลตัสก็จะเข้าข่ายผู้มี “อำนาจเหนือตลาด” ขึ้นมาทันที โดยคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าก็จะต้องพิจารณาต่อไปว่า การมีอำนาจเหนือตลาด

จากการซื้อกิจการและควบรวมเทสโก้ โลตัสเข้าไปในธุรกิจค้าปลีกของตนได้ก่อให้เกิด “การผูกขาด” หรือไม่ และการผูกขาดนั้น “คนไทย” จะได้รับประโยชน์อย่างไร หากผลการพิจารณาออกมาว่า “ไม่” ดีลการเข้าซื้อกิจการของ 3 เจ้าสัวก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ และจะกลายเป็นบรรทัดฐานให้กับการควบรวมกิจการขนาดใหญ่ต่อไปในวันข้างหน้า

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/marketing/news-407828


จำนวนผู้อ่าน: 2015

06 มกราคม 2020