ไบโอดีเซลป่วน ผู้ค้าน้ำมันโอดน้ำมันปาล์มดิบขาดตลาด ต้นทุนผลิตพลังงานพุ่ง 5 เท่า แนะรัฐบาลานซ์สร้างความชัดเจน ด้านสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันฯ ชี้สต๊อกลดปลายฤดู แนะเตรียมรับมือผลผลิตรอบใหม่ออกเดือน มี.ค. ราคาปาล์มสะวิงร่วงจาก 8 เหลือ 6 บาทแล้ว
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากนโยบายสนับสนุนการใช้น้ำมันไบโอดีเซล 10 เป็นน้ำมันหลัก ที่เริ่มมีการจำหน่ายตั้งแต่ปลายเดือน พ.ค. 2562 เป็นต้นมา ทำให้ปี 2562 มีปริมาณการใช้เฉลี่ย 1 แสนลิตร/วัน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 22.5 ล้านลิตรต่อวัน ขณะที่น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 ที่ส่งเสริมให้จำหน่ายตั้งแต่เดือน ก.ค. 2561 มีปริมาณการใช้ในปี 2562 เฉลี่ยที่ 4.5 ล้านลิตร/วัน และคาดว่าปี 2563 จะเพิ่มเป็น 7.1 ล้านลิตรต่อวัน โดยภายในไตรมาส 1/2563 จะเพิ่มสถานีบริการ B10 เพิ่มเป็น 7,000 แห่ง จากปัจจุบัน 800 แห่ง ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดปรับสูงขึ้นเท่าตัว จากราคาผลปาล์ม เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2563 กก.ละ 6.50-7.60 บาท สูงกว่าเดือนมกราคม 2562 ที่เฉลี่ยราคา กก.ละ 2.80 บาท
รายงานข่าวจากกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันระบุว่า ขณะนี้เริ่มปัญหาวัตถุดิบน้ำมันปาล์มดิบที่ใช้สำหรับผลิตไบโอดีเซลขาดตลาดและมีราคาสูงขึ้นตามราคาผลปาล์มที่ขยับขึ้นไป กก.ละ 7-8 บาท ต้นทุนการผลิตพลังงานเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เดิมน้ำมันลิตรละ 10 เพิ่มเป็น 40-50 บาท
“หลายบริษัทร่วมกับกระทรวงพลังงานจัดจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล B20 และกำลังจะต้องเริ่มจำหน่าย B10 เป็นน้ำมันพื้นฐานตามนโยบายกระทรวง แต่ด้วยเป็นจังหวะที่ราคาผลปาล์มปรับสูงขึ้นเป็นดับเบิล ซึ่งแม้ว่าในแง่ของกำลังการผลิตจะมีปริมาณเพียงพอ แต่เอกชนกังวลเรื่องต้นทุนปาล์มราคาสูง และหวังว่านโยบายรัฐต้องชัดว่าจะดูแลอย่างไร หากความต้องการเพิ่ม แต่อนาคตผลผลิตไม่นิ่ง ผู้บริโภคก็โดนกระทบด้วย รัฐต้องดูแลถ้าราคาสูงขึ้น เอามาเผา (ทำพลังงาน) มากน้ำมันปาล์มขวดก็หายหมด เกิดปัญหาเดิม คนโค่นพืชอื่นแห่ปลูกปาล์มราคาก็ตก เป็นวัฏจักร รัฐบาลต้องค่อย ๆ บาลานซ์”
มนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย
ต่อประเด็นนี้ นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มลดลง เพราะเป็นช่วงปลายฤดู คาดว่าจะมีผลผลิตใหม่ออกมาในช่วงเดือนมีนาคมนี้ทั้งนี้ เท่าที่ทราบปริมาณผลผลิตจะออกมามากพอสมควร เนื่องจากไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง เนื่องจากปลูกและเก็บก่อนที่จะแล้ง
สำหรับปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบ (CPO:Crude Palm Oil) ล่าสุด มีปริมาณ 3.4 แสนตัน ซึ่งสูงกว่าสต๊อกเพื่อความมั่นคงที่ต้องมีไว้ 2.5 แสนตัน โดยเป็นสต๊อกในส่วนของน้ำมันไบโอดีเซล B100 และน้ำมันปาล์มขวด 200,000 ตัน
“ราคาปาล์มอ่อนตัวลงมาแล้วจากสัปดาห์ก่อนหน้านี้ที่ขยับไปที่ กก.ละ 8 บาท ตอนนี้ในพื้นที่เหลืออยู่ กก.ละ 6 บาทต้น ๆ ภาครัฐกำหนดราคาน้ำมันปาล์มขวดไม่ให้เกินขวดละ 42 บาท ที่จริงแล้วน้ำมันสำหรับบริโภคมีให้เลือกหลายชนิด น้ำมันถั่วเหลือง หรือน้ำมันรำข้าวก็มี และที่สำคัญครัวเรือนหนึ่งบริโภคไม่เกิน 2 ขวด แล้วอย่างจะเอาเรื่องกลไกตลาดมาอ้างได้อย่างไร เพราะที่ทำเรียกว่ามาตรการควบคุมตลาด เวลาราคาปาล์มต่ำบอกว่าเป็นไปตามกลไกตลาด”
รายงานข่าวผลการตรวจสอบสต๊อกของกรมการค้าภายใน เมื่อเดือน ธ.ค. 2562จาก 35 พื้นที่ พบว่า สต๊อกน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) รวมปริมาณ 334,745 ตันแบ่งเป็นสต๊อกที่โรงสกัด 129 ราย รวม 134,920 ตัน โรงกลั่น 19 ราย ปริมาณ 58,544 ตัน คลัง 9 ราย ปริมาณ 130,447 ตัน และผู้ผลิตไบโอดีเซล 9 ราย ปริมาณ 10,834 ตัน ทั้งนี้ จะเห็นว่าปริมาณ CPO ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีปริมาณ 362,423 ตัน ทั้งในส่วนของโรงสกัดปีก่อนเคยมี 142 ราย (หายไป 13 ราย) สต๊อกปริมาณ 164,582 ตัน โรงกลั่น 19 ราย ปริมาณ 103,444 ตัน คลัง 8 แห่ง รวม 85,752 ตัน และผู้ผลิตไบโอดีเซล 14 ราย (หายไป 5 ราย) ปริมาณ 8,645 ตัน
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/economy/news-415950
Person read: 2185
31 January 2020