“ไวรัสอู่ฮั่น”ลากยาว6เดือน ธุรกิจช็อกทั่วโลกหยุดเดินทาง

พิษไวรัสอู่ฮั่นเขย่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโลก หวั่นสถานการณ์แพร่ระบาดลากยาว 3-6 เดือน กระทบทัวร์ “อินบาวนด์-เอาต์บาวนด์” ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง “โรงแรม-สายการบิน” เจ็บหนัก “เชียงใหม่” เผยกรุ๊ปทัวร์จีนยกเลิกห้องพักถึงสิ้น ก.พ.กว่า 5 หมื่นห้อง “ภูเก็ต” เจอภาวะเดียวกัน ผวานักท่องเที่ยวหนีเอเชีย เอกชนถกด่วน ททท.ชง 3 มาตรการ ครม.เศรษฐกิจ 31 ม.ค.นี้ “นกแอร์-ไทยแอร์เอเชีย” ปรับแผนรับตลาดจีนหายเกลี้ยง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางการจีนยืนยันล่าสุด (28 ม.ค. 63) ว่า มียอดผู้เสียชีวิตไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (2019-nCoV)หรือไวรัสอู่ฮั่น ทั้งหมด 106 ราย และผู้ติดเชื้อในจีนจำนวน 4,515 คน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากวันก่อนหน้ามีรายงานผู้เสียชีวิต 81 คน และผู้ติดเชื้อกว่า 2 พันคน ขณะที่ผู้ติดเชื้อไวรัสนอกประเทศจีนกว่า 65 ราย ในพื้นที่ต่าง ๆ กว่า 15 ประเทศทั่วโลก โดยมีการพบผู้ติดเชื้อในเยอรมนี และกัมพูชา เพิ่ม 2 ประเทศ

คาดระบาดยาว 6 เดือน

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า พบผู้ติดเชื้อในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็นรายที่ 14 แต่ 8 รายแรกหายแล้ว กลับจีนไปแล้ว 3 คน กำลังรอส่งกลับ 2 คน แต่ไม่มีไฟลต์บินกลับ ส่วนอีก 3 รายผลการตรวจเป็นลบ แต่ยังต้องรอการตรวจซ้ำว่าหายป่วย

“ระยะเวลายาวนานของโรค ผู้ทรงคุณวุฒิที่เชิญมาร่วมทำงานบอกว่าวางไว้ 6 เดือน เพราะโรคซาร์สใช้ระยะเวลา9 เดือน แต่ปัจจุบันประเทศจีนมีมาตรการเข้มข้น ปิดเมือง น่าจะทำให้การควบคุมโรคในประเทศไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

หวั่นกระทบท่องเที่ยว 6 เดือน

แหล่งข่าวจากธุรกิจท่องเที่ยวรายหนึ่งเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระแสการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า จากอู่ฮั่นประเทศจีน ครั้งนี้ถือว่ารุนแรง และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจให้กับประเทศจีน และในอีกหลายประเทศที่พบมีคนติดเชื้อ รวมถึงประเทศไทยที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบคิดเป็นมูลค่ามหาศาล โดยเฉพาะภาคธุรกิจท่องเที่ยวและซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งระบบ ทั้งกลุ่มทัวร์อินบาวนด์ (ข้าเข้า) ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 2 ล้านล้านบาท,ทัวร์เอาต์บาวนด์ มูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท รวมทั้งท่องเที่ยวภายในประเทศ (โดเมสติก)ที่มีมูลค่าราว 1 ล้านล้านบาท

สำหรับธุรกิจทัวร์อินบาวนด์ซึ่งเป็น 1 ในเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยนั้น ในปี 2562 มีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเกือบ 30% สร้างรายได้รวมประมาณ 5.5 แสนล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมีหลายองค์กรคาดการณ์ว่า ปัญหานี้น่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดจีนเที่ยวไทยยาวนานราว 6 เดือนซึ่งหากเป็นไปตามคาดการณ์ น่าจะทำให้นักท่องเที่ยวจีนปีนี้หายไปว่า 2 ล้านคน

“นับตั้งแต่ 28 ม.ค.เป็นต้นไป กรุ๊ปทัวร์จีนจะหยุดการเดินทางออกนอกประเทศไปทั่วโลก ซึ่งคาดว่าจะทำให้นักเที่ยวจีนมาไทยหายไปราว 90-95% โดยยังมีกลุ่มนักท่องเที่ยวเดินทางเอง และกลุ่มนักธุรกิจที่ยังสามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ โดยประเมินว่าหากสถานการณ์ลากยาวไป 3 เดือน ตลาดจีนเที่ยวไทย 5.5 แสนล้านบาท ก็น่าจะหายไปกว่า 1 แสนล้านบาท ถ้าลากยาว 6 เดือนก็ไม่มั่นใจว่า ตัวเลขเสียหายจะมากแค่ไหน” แหล่งข่าวกล่าวและว่า และไม่เพียงแต่ตลาดจีนเท่านั้น กระแสดังกล่าวยังส่งผลกระทบถึงความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวในทุกภูมิภาคทั่วโลก ซึ่งบางส่วนอาจชะลอการเดินทางไประยะหนึ่ง ซึ่งน่าจะรวมถึงการเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยด้วย ซึ่งธุรกิจซัพพลายเชนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในครั้งนี้ คือ กลุ่มสายการบิน และโรงแรม ที่พัก

ท่องเที่ยวกระทบทั้งระบบ

สอดรับกับนายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพรประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ครั้งนี้ ทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยทั้งระบบได้รับผลกระทบสูงมาก ผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยลำบากถ้วนหน้าแน่นอน ทั้งกลุ่มบริษัททัวร์อินบาวนด์, ทัวร์เอาต์บาวนด์ และทัวร์ภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม ณ วันนี้ยังไม่สามารถประเมินออกมาเป็นมูลค่าได้ เนื่องจากไม่มีใครรู้ว่าจีนจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้เมื่อไหร่

“หากจีนใช้เวลานานในการจัดการ ผู้ประกอบการท่องเที่ยวซึ่งส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีจะยิ่งเหนื่อยมาก ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าไม่น่าต่ำกว่า 3 เดือน หากจบได้ภายใน 3 เดือน ก็ยังพอมีเวลาในการกระตุ้นตลาดทำตัวเลขกันต่อ แต่ถ้าสถานการณ์ลากยาวถึง 6 เดือน ทุกภาคส่วนจะยิ่งเหนื่อยอย่างหนัก เพราะผลกระทบรอบนี้ตลาดจีนหายไปทั้งหมด 100% กลุ่มผู้ประกอบการที่เกี่ยวเนื่องทั้งระบบก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย เพราะคนไม่เดินทางท่องเที่ยว”

นายชัยรัตน์กล่าวว่า ขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณชะลอการเดินทางชัดเจนแล้ว ตอนนี้ดัชนีชี้วัดต่าง ๆ ที่ได้สำรวจมาไม่สามารถนำมาคาดการณ์อะไรได้อีกต่อไป เพราะดัชนีความเชื่อมั่นเปลี่ยนไปหมดแล้วและไม่เฉพาะตลาดจีนเท่านั้น ตลาดประเทศอื่นก็ได้รับผลกระทบทั้งหมด

สทท.ประชุมทั่ว ปท. 5 ก.พ.นี้

นายชัยรัตน์กล่าวว่า เมื่อค่ำวันที่ 27 ม.ค.ที่ผ่านมา สทท.ได้เชิญตัวแทนสมาคมท่องเที่ยวต่าง ๆ อาทิ สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า), สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA), สมาคมท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.), สมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย (สปข.), สมาคมมัคคุเทศก์อาชีพฯ ฯลฯ ร่วมประชุมหารือเพื่อหาแนวทางการรับมือ สร้างความมั่นใจ และช่วยเหลือเยียวยากลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ โดยการประชุม สทท.มีมติจะจัดประชุมวิสามัญทั่วประเทศ ในวันที่ 5 ก.พ.นี้ ทั้งในส่วนที่เป็นสาขาอาชีพ และเขตพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อเปิดรับความคิดเห็นว่า ผู้ประกอบการในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศได้รับผลกระทบอย่างไร รวมถึงเรื่องมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการภาคเอกชนว่า ภาครัฐจะสนับสนุนอย่างไรได้บ้าง

ชงรัฐออกมาตรการช่วยเยียวยา

นายวิชิต ประกอบโกศล นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา ภาคเอกชนท่องเที่ยวได้ประชุมร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อประเมินสถานการณ์ รวมถึงทำแผนเสนอมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการท่องเที่ยว โดยนำเสนอ 3 ประเด็นหลัก คือ 1.หาแหล่งเงินทุนเพื่อกู้ยืม ดอกเบี้ยต่ำ สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการไทยนำมาทุนหมุนเวียน 2.เลื่อนเวลาการจ่ายภาษีรายได้ประจำปี 2562 และ 3.ขอให้แบงก์ชาติอนุมัติผ่อนผันเรื่องการชำระหนี้ หรือหยุดพักชำระหนี้ชั่วคราว ประมาณ 6 เดือน

“แผนทั้งหมด ททท.ได้รับเรื่องไปแล้ว และคาดว่าน่าจะนำไปเสนอเข้าที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจต่อไป ในวันที่ 31 มกราคมนี้”

กระตุ้นเที่ยวในประเทศ-CLMV

นายวิชิตกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ในเบื้องต้นให้หันมากระตุ้นตลาดการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนเงินในประเทศ และเร่งทำตลาดท่องเที่ยวในกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ เนื่องจากเป็นตลาดระยะใกล้ เดินทางสะดวก รวมถึงอินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน และกลุ่มประเทศในโซนยุโรป อมเริกา ในเวลาต่อไปด้วย เพื่อนำมาแทดแทนตลาดจีนส่วนหนึ่งที่หายในในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายเดิมที่เราวางไว้ (40.78 ล้านคน)

“สิ่งสำคัญขณะนี้คือการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อประเมิน ตั้งรับ และปรับแผนธุรกิจให้สอดรับกับสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่าในภาพรวมจะดีขึ้น เนื่องจากจีนประกาศปิดประเทศและห้ามคนเดินทางออกไปทั่วโลกแล้ว ทั้งที่เป็นกรุ๊ปทัวร์ และกลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง ถ้าควบคุมได้เร็ว ๆ นี้ หรือไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศไทยแล้ว ก็จะทำให้สามารถเดินหน้ากระตุ้นตลาดได้เต็มที่ คาดว่าอีกประมาณ 10-14 วัน น่าจะประเมินสถานการณ์ได้ชัดเจนขึ้น” นายวิชิตกล่าว

ทัวร์ไทยไปจีนสูญกว่าหมื่นล้าน

ด้านนายธนพล ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) กล่าวว่า สำหรับตลาดคนไทยเที่ยวจีนถือว่าได้รับผลกระทบแบบ 100% ในช่วง 2 เดือนนี้ และคาดว่าน่าจะกลับมาได้ในช่วงต้นเดือนเมษายน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งปัจจุบันตลาดไทยเที่ยวจีนคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของตลาดเอาต์บาวนด์ทั้งระบบ มูลค่า 3.3 แสนล้านบาท

“สำหรับตลาดอื่น ๆ ที่คาดว่าน่าจะได้รับผลกระทบ น่าจะรวมไปถึงฮ่องกง, มาเก๊า ซึ่งปกติจะมีเส้นทางเชื่อมต่อจากทางจีน โดยในช่วง 5-6 เดือนที่ผ่านมา เส้นทางฮ่องกง มาเก๊า ก็หายไป 50% เพราะผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง พอเจอการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าก็น่าจะหายไปอีกครึ่งหนึ่ง ตลาดก็จะเหลือแค่ประมาณ 1 ใน 4 ของภาวะปกติเท่านั้น” นานธนพลกล่าว

สายการบินเข้า-ออกจีนป่วน

รายงานข่าวธุรกิจสายการบินรายหนึ่งกล่าวว่า ผลจากการประกาศปิดเมืองของรัฐบาลจีนครั้งนี้ส่งผลให้สายการบินต่าง ๆ ต้องปรับแผนธุรกิจและเส้นทางการบินเข้า-ออก ระหว่างไทย-จีนเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ไม่สามารถประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าได้เลย ต้องประเมินกันแบบวันต่อวัน เนื่องจากยังมีบางเมืองของจีนที่ยังอนุญาตให้เครื่องบินสามารถบินเข้า-ออกได้อยู่

ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2562 พบว่าจำนวนเที่ยวบินที่ให้บริการเส้นทางระหว่างไทย-จีนทั้งหมด มีจำนวน 142 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ รวม 28,113 ที่นั่งต่อสัปดาห์ (ไม่รวมเที่ยวบินเช่าเหมาลำ)

“แอร์เอเชีย-นกแอร์” ปรับแผน

นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า สายการบินไทยแอร์เอเชียต้องหยุดบินในเส้นทางกรุงเทพฯ-อู่ฮั่น 2 เที่ยวบินต่อวัน และเส้นทางภูเก็ต-อู่ฮั่น

1 เที่ยวบินต่อวัน ไปจนกว่าเมืองอู่ฮั่นจะเปิดให้ทำการบิน โดยหลังจากรัฐบาลจีนสั่งบริษัททัวร์ทั่วประเทศให้หยุดให้บริการ ก็คาดว่าไตรมาสแรกปีนี้ผู้โดยสารของแอร์เอเชียจะหายไปราว 30-35% หรือประมาณ 240,000-250,000 คน และจะส่งผลต่อผู้โดยสารในเที่ยวบินเช่าเหมาลำจากจีนอีกราว 80,000 คนเช่นกัน รวมไตรมาสแรกหายไปกว่า 300,000 คน และส่งผลให้รายได้ลดลงไป 3% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตใกล้เคียงกับปี 2562

โดยคาดว่าอัตราการบรรทุกจะหายไปในช่วงระหว่างปลายเดือน ม.ค.นี้ ไปจนถึงเดือน มี.ค. ก่อนจะค่อย ๆ ดีขึ้นในอีก 2-3 เดือนให้หลัง

เช่นเดียวกับ นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทันทีที่เกิดประเด็นเชื้อไวรัสโคโรน่า ทำให้บริษัทต้องปรับแผนธุรกิจและกลยุทธ์ในภาพรวมทั้งหมดใหม่ โดยเฉพาะตลาดจีน พร้อมทั้งจัดพอร์ตธุรกิจใหม่ เลิกพึ่งพาตลาดจีนในสัดส่วนที่มากเกินไป โดยได้วางเป้าหมายระยะยาวว่าจะกระจายพอร์ตธุรกิจให้เกิดความสมดุลทั้งระหว่างตลาดในประเทศและต่างประเทศ

ททท.อัดแคมเปญเร่งด่วน

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดนี้ในเบื้องต้นคาดว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยอย่างมีนัยสำคัญ หรือมีจำนวนนักท่องเที่ยวจากตลาดจีนหายไปไม่น้อยกว่า 1.89 ล้านคน แต่หากรัฐบาลจีนสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ภายใน 3 เดือน ททท.ก็พร้อมเริ่มต้นมาตรการกระตุ้นได้ทันที

ทั้งนี้ หลังจากประชุมร่วมกับผู้ประกอบการท่องเที่ยว ททท.ได้จัดเตรียมมาตรการระยะสั้นและระยะยาว ทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อชดเชยความเสียหายจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่หายไป พร้อมทั้งเตรียมที่จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจ คณะรัฐมนตรี ในวันศุกร์ที่ 31 ม.ค.นี้

“ททท.ยังคงเป้าหมายรายได้ของปี 2563 ไว้ที่ 3.16 ล้านล้านบาท ตลาดต่างชาติ 40.78 ล้านคน ไว้เหมือนเดิม”

“ภูเก็ต” ชี้ยุโรปหนีเอเชีย

นายก้องศักดิ์ คู่พงศกร นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผู้ประกอบการโรงแรมเริ่มได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดไวรัสโคโรน่า 2019 ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจว่ามีผลกระทบมากน้อยเพียงใดเนื่องจากประเทศจีนห้ามทัวร์จีนออกนอกประเทศ ทำให้นักท่องเที่ยวกรุ๊ปทัวร์จีนหายหมด แต่ยังคงมีนักท่องเที่ยวจีนกลุ่มที่เดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเอง (FIT) ที่ยังมีเข้ามา ส่วนชาติอื่นรอดูผลฟีดแบ็กว่าเป็นอย่างไร ขณะนี้เริ่มมีการยกเลิกจองห้องพักเข้ามาบ้างแล้ว ทั้งจีนและชาติอื่น ๆ ด้วย คาดว่ารุนแรงทั่วโลก รวมถึงคาดว่าจะทำให้นักท่องเที่ยวยุโรปเริ่มหลีกหนีเอเชีย

“ขณะนี้ที่ชัดเจน คือ ธุรกิจท่องเที่ยวไฮซีซั่นนี้กระทบแน่นอน ลูกค้าเลื่อนไป จะกลับมาช่วงหน้าโลว์ซีซั่น ส่วนตลาดประชุมสัมมนาจะเซนซิทีฟมาก กลุ่มนี้จะยกเลิกก่อนเป็นอันดับแรก ส่วนใหญ่จะย้ายสถานที่ทันที ถ้าพื้นที่ไหนมีความเสี่ยงก็จะไม่เข้ามาจัดประชุมสัมมนา อย่างไรก็ตาม คงต้องรอดูอีกประมาณ 5-10 วัน นับจากนี้จึงจะทราบตัวเลขที่แท้จริงของการยกเลิกห้องพัก และยกเลิกประชุมสัมมนาของโรงแรมต่าง ๆ”

โดยขณะนี้ทางการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดได้นัดประชุม เพื่อหารือในการออกมาตรการต่าง ๆ ในการสร้างความเชื่อมั่น เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือทางสาธารณสุขต้องสร้างความมั่นใจว่า ประเทศไทยสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ เพื่อให้ทั่วโลกมั่นใจในการกลับเข้ามาเที่ยวเมืองไทย

ยกเลิก รร.เชียงใหม่ 5 หมื่นห้อง

นางละเอียด บุ้งศรีทอง นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคเหนือ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ได้รับการรายงานข้อมูลจาก 4 บริษัททัวร์รายใหญ่ของจังหวัดเชียงใหม่ ที่เน้นตลาดกรุ๊ปทัวร์จีนว่า ล่าสุดลูกค้าจีนทั้งหมดได้ทำการยกเลิกกรุ๊ปทัวร์ที่จะเดินทางมาเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 24 ม.ค.-29 ก.พ. 2563 ส่งผลให้จำนวนห้องพักได้ถูกยกเลิกไปมากถึง 55,000 ห้อง

คิดเป็นมูลค่าราว 55 ล้านบาท ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวกรุ๊ปทัวร์ที่ถูกยกเลิกการเดินทางมาเชียงใหม่ในช่วงเวลาดังกล่าว มีราว 110,000 คน เมื่อคิดมูลค่าการใช้จ่าย (ค่าอาหารต่อ 4 วัน) เฉลี่ยต่อคนราว 4,000 บาท มีมูลค่าถึง 440 ล้านบาท

ขณะที่จากการสอบถามข้อมูลสมาชิกสมาคมโรงแรมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่พบว่า มีโรงแรม 35 แห่งถูกยกเลิกการจองห้องพักในช่วงระยะ 4 วัน (24-27 มกราคม 2563) ซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางด้วยตัวเอง (FIT) มีการยกเลิกราว 3,000 ห้อง คิดเป็นมูลค่าราว 9 ล้านบาท ซึ่งหากร่วมความเสียหายจากการถูกยกเลิกของทั้งกรุ๊ปทัวร์ และตลาด FIT ของตลาดจีน ในช่วง 24 มกราคม-29 กุมภาพันธ์ 2563 รวมมูลค่าราว 504 ล้านบาท สำหรับในส่วนของนักท่องเที่ยวชาติอื่น และคนไทยยังไม่ได้มีการยกเลิกห้องพัก

นายมานพ แซ่เจีย นายกสมาคมมัคคุเทศก์เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 28 ม.ค.-7 ก.พ. 2563 กรุ๊ปทัวร์จีนจากทุกเมืองที่จะเดินทางมายังจังหวัดเชียงใหม่หายไป 100% ซึ่งสัดส่วนของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เข้ามายังจังหวัดเชียงใหม่ 40% เป็นกรุ๊ปทัวร์ และ 60% เป็นกลุ่ม FIT แต่กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เข้ามาก่อนวันที่ 27 ม.ค 2563 มีบางส่วนที่ทยอยเดินทางกลับ และบางส่วนที่อยู่ในพื้นที่ต่อ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการรวบรวมตัวเลข ยังไม่สามารถประเมินภาพรวมได้

โดยมาตรการกระตุ้นเร่งด่วนที่จะมีออกมาเน้นทำตลาดภายในประเทศด้วยการดึงคนไทยที่นิยมท่องเที่ยวต่างประเทศให้หันมาเดินทางในประเทศไทย โดยเน้นเพิ่มวันพักค้างและกระตุ้นความถี่ในการเดินทาง เลือกโปรโมตระยะทางใกล้ไม่เกิน 300 กิโลเมตร หรือเที่ยวในภาค พร้อมร่วมกับ OTA กระตุ้นท่องเที่ยวข้ามภาค ฯลฯ สำหรับตลาดต่างประเทศนั้นจะเร่งหาตลาดทดแทนในพื้นที่ศักยภาพให้ภาพรวมกลับมาตามเป้าหมาย โดยจะเน้นทำตลาดอาเซียน, เอเชียเหนือ, เอเชียใต้ และตลาดยุโรป และอเมริกา ส่วนตลาดจีนจะเน้นทำการตลาดและสื่อสารแบบ Emotional ประสานผู้ประกอบการเรื่องผ่อนผันค่าปรับจากการยกเลิกการเดินทางเตรียมการสำหรับการกลับมา โดยการคงสลอตเที่ยวบินเอาไว้

กกร.จ่อปรับตัวเลขจีดีพี

ด้านนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) อาจต้องมีการทบทวนตัวเลขประมาณการทางเศรษฐกิจใหม่ จากเดิมที่คาดว่าปี 2563 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2.5-3.0% ซึ่งประเมินจากรายได้การท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในไทย 40 ล้านคน แต่หลังการระบาดของไวรัสโคโรน่าอาจทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 4 ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด หรือราว 10 ล้านคน เดินทางมาไทยลดลง และยังต้องประเมินอีกด้านว่า นักท่องเที่ยวทั่วโลกจะมีการเปลี่ยนเป้าหมายจากการเดินทางหรือไม่

“ตอนนี้มองว่ายังไม่ควรห้ามสายบินจากจีน เพราะไทยยังสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ และนักท่องเที่ยวคงอยากไปประเทศอื่น และนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาด้วยตัวเอง หรือ FIT ไม่ได้ผ่านบริษัททัวร์ก็ยังสามารถมาเที่ยวได้”

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/tourism/news-415825


จำนวนผู้อ่าน: 2018

31 มกราคม 2020