ธีรยุทธ บุญมี (แฟ้มภาพ)
ผู้เขียน | ศ.ธีรยุทธ บุญมี วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต |
---|
ช่วงที่คนไทยเรากำลังเคร่งเครียด วิตกกังวล ในฐานะผู้ร่วมชะตากรรมผมขอเสนอแง่คิดมุมมอง ที่มุ่งจะสร้างความหวัง ความเข้าใจต่อกันและกัน
มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ต้องอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม ร่วมกันทำกิจกรรมหลายมิติ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ ความเชื่อ กีฬา บันเทิง ฯ แต่โรคระบาดแบบโควิด 19 เป็นการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ระหว่างมนุษย์กับเชื้อโรค ในภาวะสงครามเช่นนี้สิ่งพื้นฐานที่ต้องรักษาไว้ 3 ระดับ คือ 1. การดำรงชีวิตอยู่ในกลุ่มสังคมเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกัน 2. การรักษาพื้นฐานการเป็นมนุษย์ และ 3. คือความเป็นรัฐชาติเพื่อแก้ปัญหาใหญ่ ๆ เพื่อติดต่อสัมพันธ์กับชาติอื่น มิติอื่น ๆ บางอย่างถูกตัดทิ้งไปก่อนหรือลดความสำคัญลงไป แต่บางอย่างก็ไม่ใช่เป็นการบังคับเด็ดขาด เช่น ความเห็นต่างทางมาตรการนโยบายการเรียกร้องให้มาตรการเป็นธรรมทั่วถึงจากฝ่ายค้านหรือผู้คนทั่วไปก็ยังทำได้
ในอดีตมนุษย์อยู่เป็นกลุ่มขนาดเล็ก เวลาเกิดโรคระบาดมนุษย์อาจเลือกสลายสังคม แยกเป็น 2-3 ครอบครัว หนีขึ้นเขาเข้าป่า หรืออพยพทั้งกลุ่ม เช่น พระเจ้าอู่ทองโยกย้ายคนไปตั้งกรุงศรีอยุธยาฯ แต่ปัจจุบันเราเป็นสังคมใหญ่ มีความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน ตั้งแต่การรวมกลุ่มขนาดใหญ่ด้วยความเชื่อ อารมณ์ ความตื่นเต้น เช่น การรวมกลุ่มทางศาสนา การแข่งขันมวย ฟุตบอล คอนเสิร์ต ฯ การรวมกลุ่มทางการ เช่น องค์กร บริษัท หน่วยราชการ กึ่งทางการ เช่น การไปตลาด งานแสดงสินค้า นั่งรถสาธารณะ งานปาร์ตี้ ไวรัสจะโจมตีได้ทุกจุด เรามีทางเลือกเดียวคือต้องร่วมกันสู้ โดยทุกคนเป็นนักรบหมด ในช่วงที่เราใช้มาตรการสังคมคือการเก็บตัวอยู่ในบ้าน ที่จริงคือการเป็นแนวหน้าสุดในการต่อสู้กับศัตรู แต่ละวันที่เราอยู่บ้านเท่ากับช่วยกันเปิดเผยตัวตนของเชื้อโรคได้ทุก ๆ วัน เมื่อครบ 14 วันตามทฤษฎีเชื้อโรคก็จะถูกเผยตัวได้หมด แต่ในความเป็นจริงก็จะมีอีกส่วนหนึ่งซึ่งหลุดรอดไปได้ ถ้าใช้เวลา 1 เดือนก็ถือว่าน่าจะหลงเหลืออยู่น้อยมาก โดยมีแพทย์ พยาบาล สาธารณสุข เป็นปราการแข็งแกร่งที่ทั้งสู้รบและบัญชาการและปกปักรักษาทุกคนด้วย
การเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับมาตรการต่าง ๆ มามองว่าเราเป็นฝ่ายกระทำมีความจำเป็น เพราะแทนที่จะรู้สึกเป็นฝ่ายรับ หดหู่ หมดหวัง โกรธเคืองแพทย์ พยาบาล หรือรัฐ เราจะมองในมุมกลับเป็นฝ่ายกระทำที่มีความมุ่งมั่น ความมั่นใจ และภูมิใจในการต่อสู้ร่วมกันของประชาชน แพทย์ พยาบาล สาธารณสุข และทุกหน่วยงาน
โดยปกติมนุษย์จะจัดระยะห่างทางสังคมว่าควรใกล้ชิด/ห่าง ทางการ/ไม่ทางการ เป็นกันเอง/ไม่เป็นกันเอง เป็นกติกามารยาททางสังคมที่กำหนดไว้แล้ว การสร้างระยะห่างทางสังคมขึ้นใหม่ (social distancing) นี้เป็นการขอเปลี่ยนความสัมพันธ์เดิมให้ห่างขึ้นเป็นแบบระมัดระวัง ไม่ใช่เพราะรังเกียจเดียดฉันท์
วัตถุประสงค์ของ Social Distancing ก็คือไม่ให้เชื้อโรคมีโอกาสกระโดดจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง ที่ได้ผลสูงสุดก็คือการอยู่บ้าน การปิดห้าง ร้านอาหาร ออฟฟิสบางส่วน เพราะเท่ากับปิดไม่ให้มีการพบปะกันของผู้คนจำนวนมาก จากนั้นคือการเว้นระยะ 2 เมตรหรือการสร้างอุปสรรคสกัดเชื้อโรค (social barrier) ไม่จับมือ ใช้หน้ากากอนามัย การตรวจสอบอุณหภูมิ หรือการใช้แอพติดตามตัว (tracing) การลดการพบปะทางสังคมโดยตรง (contact) เช่น การประชุม การรับประทานอาหารร่วมกัน ทั้งหมดเป็นการปิดล้อมบังคับศัตรูเปิดเผยตัวเพื่อทำลายล้างโรคในที่สุด
การต่อสู้กับโรคระบาดมี 3 มาตรการตามลำดับความร้ายแรง ความรุนแรงน้อยสุดใช้วิธีติดตาม ตรวจสอบ รักษา (contact tracing, testing และ treat) ซึ่งไทย สิงคโปร์ เกาหลี จีน เก่งมาก และได้ผลสูง แต่เมื่อการติดต่อขยายตัวเกินกำลังการติดตาม ก็ต้องเพิ่มและยกระดับมาตรการรวมพลังทางสังคมกำหนดระยะห่าง social distancing แต่ถ้าคนในสังคมยังไม่ตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหา ไม่ร่วมมือกันพอ ก็จำเป็นต้องใช้มาตรการที่ 3 คือการบังคับทางสังคม (social sanction) ซึ่งก็คือการบังคับใช้กฎหมาย ออก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ใช้ พ.ร.บ. สงครามบางด้าน เช่นการบังคับภาคเอกชนให้ทำกิจกรรมช่วยเหลือการสู้โรค
ในปัจจุบันนี้เราใช้มาตรการที่ 3 มาได้ครึ่งทาง ตัวเลขผู้ป่วยที่รายงานกันมาก็สะท้อนว่ากำลังเกิดผล แต่เมษายนเป็นเดือนที่ทุกฝ่ายต้องทุ่มเททำงานอย่างหนักที่สุด
ที่ผ่านมาแพทย์ พยาบาล สาธารณสุขของเราทำงานได้อย่างดีเยี่ยม ทันกาล รัฐบาลก็ปรับตัวอย่างถูกต้องที่ให้ผู้เชี่ยวชาญด้านแพทย์เป็นผู้นำทางความคิด ตัวเองหันไปพิจารณาภาพรวมและดำเนินมาตรการต่าง ๆ รองรับ ถือว่าทำได้ถูกทางไม่สายเกินไป มีโอกาสควบคุมไม่ให้คนติดโรคกันเกือบทั้งเมืองเหมือนอิตาลี อังกฤษ สเปน อเมริกา ซึ่งถือว่าปัจจุบันประสบความล้มเหลวในการควบคุมโรค ทั้งนี้นอกจากปัจจัยผู้นำ มีปัญหาเรื่องวัฒนธรรมของประเทศ ซึ่งประชาชนมีความเป็นปัจเจก มั่นใจตัวเอง ไม่คล้อยตามผู้อื่นง่าย ๆ กลุ่มยุโรปใต้รักความสนุกสนาน ส่งผลให้การติดเชื้อยังเพิ่มทะยานตลอดเวลา แม้หลายประเทศจะสั่งปิดเมืองแล้วก็ยังล้มเหลว
จำนวนผู้ป่วยโควิด 19 ที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวันของประเทศอิตาลี ยังควบคุมโรคไม่ได้
ที่มา E. Lascelles, (2020), MacroMemo – March 16 – March 20 2020: All about Covid-19, https://www.rbcgam.com/en/ca/article/macromemo-march-16-march-20-2020/detail.
สำหรับคนไทยมีพวกวัยรุ่นหนุ่มสาว หรือพวกนอกขอบ พวกปฏิเสธขัดขืนลองดีสุดโต่งจำนวนหนึ่ง ซึ่งนับรวมก็คงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ คนไทยในช่วงที่ 1 คือ ม.ค. – ก.พ. ได้ปรับพฤติกรรมส่วนตัวด้วยการตื่นตัว “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” พอสมควร ตามมาการใช้หน้ากากอนามัยมากขึ้น กระจายไปสู่ชาวบ้านและต่างจังหวัดชัดเจนตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2 ของเดือน มี.ค. ในช่วงปัจจุบันจนถึงการประกาศภาวะฉุกเฉิน (26 มี.ค.) คนไทยร่วมมือกับการรณรงค์การสร้างระยะห่างทางสังคมได้ดีพอสมควร ซึ่งโดยการสังเกต (ไม่ใช่การสำรวจหรือวิจัย) ก็น่าจะถือได้ว่าคนไทยได้ร่วมแรงร่วมใจในเรื่องนี้ในระดับราว 70% ขึ้นไป แต่ยังจำเป็นที่จะต้องติดตามดูพัฒนาการอย่างใกล้ชิด ถ้าดูจากกรณีของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกการเลือกเส้นทางที่เข้มข้นและบังคับจริงจังดูจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
ที่มา Q. Lin et al. (2020), “A conceptual model for the coronavirus disease 2019 (COVID-19) outbreak in Wuhan, China with individual reaction and governmental action” in International Journal of Infectious Diseases 93 (2020), p. 215.
การชะลอตัวของการแพร่ระบาดโควิด 19 ในประเทศจีน
ที่มา E. Lascelles, (2020), MacroMemo – March 16 – March 20 2020: All about Covid-19, https://www.rbcgam.com/en/ca/article/macromemo-march-16-march-20-2020/detail.
ข้อสรุปสุดท้ายที่สำคัญมากคือ ผลจากการควบคุมเข้มข้นของจีนทำให้ตัวเลขการแพร่กระจายตัว R0 ของโควิด 19 จาก 1 คนไปได้กี่คนลดลงอย่างรวดเร็ว จากค่าเฉลี่ยประมาณ 2-3 (คนป่วย 1 คนแพร่เชื้อออกไปได้อีก 2-3 คน ถ้าตัวเลขน้อยกว่า 1 แสดงว่าโรคกำลังสงบลง) ลดลงเหลือเพียงประมาณ 0.2 ภายในเวลาเพียง 10 วัน ซึ่งถือว่าดีมาก ถ้าคนไทยทำได้เพียงใกล้เคียงกับ 1.0 ซึ่งเป็นค่าที่การระบาดจะคงตัวหรือใกล้กับ 1 ก็ถือว่าโชคดี เป็นกำลังใจให้เราตื่นตัวป้องกันต่อไปจนกว่าการระบาดในโลกจะสงบลง และต้องป้องกันอย่างที่สุดไม่ให้เกิดเหตุการณ์ super spreader ขึ้นอีก
กราฟแสดงค่า R0 ของเมืองต่าง ๆ ของจีน
ที่มา Y. Zhang, et al., (2020), Prediction of the COVID-19 outbreak based on a realistic stochastic model, https://doi.org/10.1101/2020.03.10.20033803.
อ้างอิง
ที่มา:มติชนออนไลน์
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/general/news-441030
Person read: 1977
31 March 2020