สิ้น “อนันต์” เจ้าพ่อเมืองทองธานี ผลัดใบสู่ทายาท ปั้นอสังหารับรถไฟฟ้าสายใหม่

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ทุกฝ่ายกำลังร่วมแรงร่วมใจฝ่าวิกฤตโควิด-19 มีข่าวร้ายในแวดวงธุรกิจอสังหาฯ หลังบมจ.บางกอกแลนด์ เจ้าของอาณาจักร “เมืองทองธานี” สูญเสียแม่ทัพใหญ่ “เสี่ยช้าง-อนันต์ กาญจนพาสน์” ในวัย 80 ปี แบบกะทันหัน ด้วยโรคชรา

โดยนางสาวจินตนา พงษ์ภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานฝ่ายสื่อสารองค์กร บมจ.บางกอกแลนด์ แจ้งว่า ด้วยความเสียใจและอาลัยอย่างสุดซึ้งทางบริษัทขอเรียนให้ทราบว่า คุณอนันต์ กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บางกอกแลนด์ ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา ที่โรงพยาบาลบางกอกเนอสซิ่งโฮม (บีเอ็นเอช) เมื่อวันที่ 13 เม.ย. 2563 สิริอายุได้ 80 ปี โดยครอบครัวจะประกอบพิธีกรรมทางศาสนาหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ผ่านพ้นไป ซึ่งจะแจ้งให้ทราบเป็นทางการอีกครั้ง

“อนันต์” เกิดวันที่ 2 มิ.ย. 2484 ที่ประเทศไทย เป็นทายาทคนที่ 2 ของ ”มงคล กาญจนพาสน์” จบการศึกษาปริญญาตรี บริหารธุรกิจ วิทยาลัยสวอซ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สมรสกับ ”นางศิริวรรณ” มีบุตรชาย 2 คน “ปีเตอร์ กาญจนพาสน์“ ปัจจุบันเป็นรองประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บมจ.บางกอกแลนด์ และ ”พอลล์ กาญจนพาสน์” กรรมการผู้จัดการ บจ.อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์

ซึ่ง 2 คนช่วยอนันต์ขยายธุรกิจบีแลนด์จนเติบโตครอบคลุมทั้งอสังหาฯ-โรงแรม-ศูนย์แสดงสินค้า บนเนื้อที่ร่วม 4,000 ไร่ ปัจจุบันยังเหลือ 600 ไร่ ล่าสุดกำลังทุ่มเม็ดเงินอีก 5,000-6,000 ล้านบาท เนรมิตที่ดินผืนสุดท้ายเป็นบิ๊กโปรเจ็กต์รับกับรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายที่ร่วมลงทุนกับ ”บีทีเอส” กว่า 1,000 ล้านสร้างจากศรีรัชเข้าสู่เมืองทองธานี เหมือนที่เคยลากทางด่วนมาลงที่เมืองทองมาแล้วในอดีต

นอกจากเมืองทองธานี “เจ้าพ่อบีแลนด์” ยังซื้อที่ดินย่านศรีนครินทร์กว่า 1,200 ไร่ เก็บสะสมไว้ จากที่ดินตาบอดในอดีต กลายเป็นที่ดินมีราคา พลัน กทม.ตัดใหม่พาดผ่าน สร้างมูลค่าเพิ่มและตัดขายให้กับบิ๊กอสังหาฯ กำเงินสดไปได้กว่า 1.5 หมื่นล้าน

แม้จะวางใจให้ลูกชายทั้ง 2 คนดูแลธุรกิจ แต่ ”อนันต์” ยังมาทำงานปกติ แม้วัยจะมากขึ้น และป่วยตามอายุ ทำให้น้ำหนักลดลง แต่ก็ยังอึด โดยเป็นที่ปรึกษาให้ลูกๆ จนนาทีสุดท้าย

นอกจากนี้อนันต์ยังเป็นพี่ชายของเจ้าพ่อรถไฟฟ้าบีทีเอส “คีรี กาญจนพาสน์” แต่ทั้งสองต่างสร้างดาวคนละดวง หลังจาก ”มงคล” ผู้เป็นพ่อพาลูกทั้งสองกลับจากฮ่องกง และลุยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แบบชนิดที่คนวงการต่างตะลึง

เพราะสร้างเมืองใหม่ไว้นอกเมือง เป็นการคิดนอกกรอบที่มาก่อนกาลเวลา เรื่องจากเป็นแลนด์แบงก์เก่า ทำให้ได้เปรียบในเรื่องต้นทุนที่ดิน แต่มาเจอวิกฤตฟองสบู่แตก ทุกอย่างจึงเหมือนนับหนึ่งใหม่ เมืองทองจึงเหมือนเมืองร้าง โดยอนันต์ใช้เวลากว่า 3 ทศวรรษ ฟื้นฟูนานพอควร กว่าจะมาถึงวันนี้

วันที่เมืองทองกำลังจะกลายเป็นทำเลทอง เพราะรถไฟฟ้าพาดผ่าน

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/property/news-449268


จำนวนผู้อ่าน: 2048

15 เมษายน 2020