อุตสาหกรรมค้าปลีกได้เปลี่ยนไปแล้ว ขณะนี้เป็นยุคของ ดิจิทัล เฟิร์ส รวมถึงมีการผสมผสานระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ หรือ ออมนิแชนแนล
“พอล ศรีวรกุล” ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท เอคอมเมิร์ซ กล่าว พร้อมกับชี้ว่า ทุกวันนี้ หลายแบรนด์กำลังก้าวเข้าสู่การทำธุรกิจแบบหลากหลายช่องทาง (Multi-Channel) พร้อมมีความต้องการโมเดลธุรกิจในแบบ “Business-to-All” (บีทูเอ)
เขากล่าวว่า โมเดลธุรกิจแบบ บีทูซี เติบโตอย่างรวดเร็วทั้งตลาดและอุตสาหกรรมการค้าปลีกในกลุ่มประเทศอาเซียน ทำให้แบรนด์ต่างๆ กำลังมองหา วิธีการทำธุรกิจแบบหลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นแบบออนไลน์ หรือออฟไลน์ เพื่อเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มธุรกิจ (บีทูบี) เช่น ร้านขายค้าเฉพาะอย่าง ร้านค้าที่ขายของต่อรัฐบาล (บีทูจี) และลูกจ้างบริษัท (บีทูอี)
ดังนั้น การมีแค่เว็บไซต์อาจไม่เพียงพอ แบรนด์จึงเริ่มตระหนักถึงการให้บริการที่เชื่อมต่อจากหลากหลายช่องทางและความสำคัญของข้อมูลเพื่อที่จะอยู่รอดในอุตสาหกรรม
อีกทางหนึ่ง ด้วยลูกค้าต้องการเข้าถึงแบรนด์โปรดของพวกเขาได้ทุกเวลา จากทุกๆ แพลตฟอร์ม ดังนั้นต้องมีความเชี่ยวชาญทางด้านอีคอมเมิร์ซ ข้อมูลและความชำนาญในตลาดท้องถิ่น เพื่อจัดจำหน่ายสินค้าและก้าวสู่การเป็นธุรกิจแบบบิซิเนสทูออลล์
อาเซียนสุดตื่นตัว
“ทอม ศรีวรกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม เอคอมเมิร์ซ กล่าวว่า ผู้ประกอบการต่างกำลังจับตามองกลุ่มผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากผู้บริโภคในภูมิภาคนี้แสดงถึงความสนใจต่อการช้อปปิ้งออนไลน์อย่างมาก
ข้อมูลของกูเกิล และ เทมาเส็ก เผยว่า ภูมิภาคนี้จะมีอัตราการเติบโตของการช้อปปิ้งออนไลน์ที่สูงถึง 32% ปีต่อปี ในอีก 10 ปีข้างหน้า ด้วยอัตราการเติบโตดังกล่าวเป็นแรงจูงใจสำคัญทำให้ผู้เล่นรายยักษ์ใหญ่อย่างเจดีดอทคอม อเมซอน และอาลีบาบา เข้ามาขยายตลาด
ดังนั้น คาดว่า ปี 2561 ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยจะยิ่งมีความน่าตื่นเต้นจากการมาของทั้ง “เจดีดอทคอม” และ “อเมซอน” ซึ่งส่งผลดีทำให้ผู้บริโภคไทยได้รับประสบการณ์การช้อปปิ้งออนไลน์เหมือนกับอเมริกา หรือ ยุโรป และเป็นไปได้ที่จะได้เห็นค่าบริการเช่น โลจิสติกส์ราคาถูกลงกว่าเดิม
“ตลาดจะเติบโตได้เร็วขึ้นสำคัญภาครัฐจะต้องเข้ามาสนับสนุน โดยเฉพาะมาตรการด้านภาษีสำหรับการทำการค้าข้ามแดน หากถูกลงได้จะยิ่งช่วยกระตุ้นให้เกิดการจับจ่าย”
ด้านรูปแบบที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในไทยยังคงเป็นซีทูซี รองลงมาคือ บีทูซี และบีทูบีตามลำดับ
ขณะที่ฝั่งผู้ประกอบการ นอกเหนือจากการค้าปลีกบนช่องทางปกติแล้ว แค่ปี 2560 เพียงปีเดียว ได้เห็นแบรนด์ชื่อดังอย่าง มาร์ส เนสท์เล่ และยูนิลีเวอร์ก็ได้จัดตั้งการบริการทางอีคอมเมิร์ซอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อรุกหนักตลาดระดับภูมิภาค
ส่วนของเอคอมเมิร์ซ มุ่งให้บริการแพลตฟอร์มที่ครอบคลุมทุกความต้องการของผู้บริโภคออนไลน์ ตั้งแต่การจัดส่งสินค้าทดลอง รวบรวมข้อมูลของผู้บริโภคเพื่อขับเคลื่อนและแจกจ่ายการใช้จ่ายบนทุกๆ ช่องทาง รวมถึงเว็บไซต์ของแบรนด์เอง หรือมาร์เก็ตเพลสชั้นนำ
ที่มาข่าวสาร : bangkokbiznews.com
จำนวนผู้อ่าน: 2145
23 พฤศจิกายน 2017