ผลิต-ตั้งตัวแทนจำหน่าย “ยุทโธปกรณ์” ทางการทหาร โชว์ S-Curve

ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา : Photo by MADAREE TOHLALA / AFP

ขณะที่กองทัพ และกระทรวงกลาโหม ได้ตัด-โยก-โอน งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 และ 2564 จำนวนหนึ่งเพื่อคืนให้รัฐบาลไปดำเนินการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) ซึ่งมีภารกิจหลักในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนกิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้เข้มแข็ง เพื่อการพึ่งพาตนเองด้านความมั่นคงของชาติอย่างยั่งยืน ภายใต้พระราชบัญญัติเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พ.ศ. 2563

เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ (Defence Industry) ในประเทศ และประสานความร่วมมือด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศกับหน่วยงานของรัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศให้เข้าสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ 11 (S-Curve 11) ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นประเด็นสำคัญหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580)

สทป.ร่วมกับกระทรวงกลาโหม และส่วนงานที่เกี่ยวข้องกำหนดอุตสาหกรรมป้องกันประเทศเป้าหมายที่มีความพร้อมในการผลิตเชิงพาณิชย์ ได้แก่ กระสุน วัตถุระเบิด ยานยนต์ การต่อเรือ และอากาศยานไร้คนขับ มีการกำหนดแนวทางในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศเป็น 4 ระยะ คือ

ระยะเร่งด่วน (เมษายน-กันยายน 2562) ระยะสั้น 1 ปี (ตุลาคม 2562-กันยายน 2563) ระยะกลาง 2 ปี (ตุลาคม 2563-กันยายน 2565) และระยะยาว 5 ปี (ตุลาคม 2565-กันยายน 2570)

โดย สทป.อยู่ในระหว่างการเตรียมการจัดทำโครงการนำร่อง จำนวน 8 โครงการ เพื่อตอบสนองและส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมป้องกันประเทศอย่างเป็นรูปธรรม โดยพิจารณาจากขีดความสามารถของเหล่าทัพ และ สทป. รวมถึงความสนใจของภาคเอกชนที่จะร่วมมือกับ สทป.โดยการดำเนินการโครงการที่สอดคล้องกับร่างนโยบายและเป้าหมาย ร่างระเบียบหลักเกณฑ์การจัดตั้งนิติบุคคล รวมทั้งการร่วมทุน ถือหุ้น เป็นหุ้นส่วน และร่างระเบียบการผลิตและขาย เพื่อให้ สทป.สามารถดำเนินการตามเป้าหมายที่วางไว้

8 โครงการประกอบด้วย

1.โครงการซ่อมสร้างยุทโธปกรณ์ทางทหาร (รถถัง VT4 รถถัง T85 และยานเกาะล้อยาง VN1) ปี 2565-2569 เป็นรูปแบบของการจัดตั้งโรงซ่อมบำรุงรถถัง สำหรับกลุ่มลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล และกำหนดแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมร่วมกับบริษัทในประเทศในไตรมาสที่ 3 ปี 2563 โดยมีแผนการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในไตรมาสที่ 4 ปี 2563

2.โครงการปืนใหญ่และกระสุน เป็นรูปแบบของการจัดตั้งตัวแทนจำหน่าย สำหรับกลุ่มลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ โดยอยู่ระหว่างดำเนินการร่วมกับหน่วยงานในประเทศที่เกี่ยวข้อง ในไตรมาสที่ 3 ปี 2563 และมีแผนการเริ่มผลิตในไตรมาสที่ 4 ปี 2563

3.โครงการเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง (Fffshore Patrol Vessel : OPV) เป็นรูปแบบของการจัดตั้งตัวแทนจำหน่าย สำหรับกลุ่มลูกค้าทั้งในและต่างประเทศโดยร่วมกับมิตรประเทศ และมีความเป็นไปได้ที่จะดำเนินการร่วมกับอู่ต่อเรือกรุงเทพในระยะเวลาอันใกล้

4.โครงการยานเกราะล้อยางแบบ 4×4 เป็นรูปแบบของการจัดตั้งตัวแทนจำหน่าย สำหรับกลุ่มลูกคาทั้งในและต่างประเทศ โดยมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับมิตรประเทศ และจะเริ่มแผนดำเนินการผลิตเพื่อส่งมอบในไตรมาสที่ 3 ปี 2563

5.โครงการยานเกราะล้อยางแบบ 8×8 เป็นรูปแบบของการจัดตั้งโรงงานผลิตและตัวแทนจำหน่าย สำหรับกลุ่มลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ โดยจะได้รับการอนุมัติงบประมาณ และทำสัญญาร่วมทุนโรงงานประกอบในไตรมาสที่ 3 ปี 2563

6.โครงการอากาศยานไร้คนขับ (UAV) เป็นรูปแบบของการจัดตั้งตัวแทนจำหน่าย สำหรับกลุ่มลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ โดยอยู่ระหว่างการทำสัญญาร่วมทุนกับโรงงานผลิต และทำสัญญากับตัวแทนจำหน่ายในไตรมาสที่ 3 ปี 2563 และจะเริ่มแผนการผลิตในไตรมาสที่ 4 ปี 2563

7.โครงการความร่วมมือกับสาธารณรัฐเช็ก รูปแบบการร่วมทุนยังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ ซึ่งมีความเป็นไปได้ ตามนโยบายของรัฐบาล สำหรับกลุ่มลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ โดยอยู่ระหว่างการสรุปแผนการพัฒนาธุรกิจที่จะประกอบการร่วมกับสาธารณรัฐเช็กในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) และมีแผนจะคัดเลือกโครงการเพื่อพัฒนารูปแบบและทำสัญญาร่วมทุนในไตรมาสที่ 4 ปี 2563

8.โครงการจรวดเพื่อความมั่นคง เป็นรูปแบบของการเป็นหุ้นส่วนร่วมผลิตและการจัดตั้งตัวแทนจำหน่าย สำหรับกลุ่มลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ โดยอยู่ระหว่างการสรุปแผนการพัฒนาธุรกิจเพื่อนำเสนอผลลัพธ์ในเดือนกันยายน 2563

เพื่อให้ สทป.เป็นผู้นำในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีป้องกันประเทศของไทย สู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่ 11 (S-Curve 11) ตอบสนองนโยบายการพัฒนาประเทศเพื่อก้าวสู่ Thailand 4.0 ของรัฐบาล และสอดคล้องกับแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ตลอดจนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ในการนำนวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่อพัฒนาต่อยอดและสร้างความมั่นคงด้านการทหารให้กับประเทศ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

พลอากาศเอก ดร.ปรีชา ประดับมุข ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ จึงได้ริเริ่มและผลักดันโครงการนำร่องทั้ง 8 โครงการของ สทป. โดยมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนา การสร้างต้นแบบวิจัยสู่ต้นแบบอุตสาหกรรมอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อตอบสนองความต้องการของเหล่าทัพ สนับสนุนการซ่อมบำรุงยุทโธปกรณ์ในประเทศ ช่วยลดการนำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์ เพื่อลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ นอกจากนี้ยังเเป็นการสนับสนุนการประกอบกิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ บูรณาการความร่วมมือและส่งเสริมกิจการภายในประเทศ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยสู่สากลให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/politics/news-454911


Person read: 2080

25 April 2020