แฟ้มภาพ
ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 20-24 เมษายน 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (20/4) ที่ระดับ 32.48/49 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (17/4) ที่ระดับ 32.57/58 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในสัปดาห์นี้ค่าเงินบาทเริ่มทยอยแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในวันอังคาร (21/4) มีปัจจัยหนุน ได้แก่ ตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนมีนาคม ตัวเลขส่งออกถูกประกาศออกมา ขยายตัว 4.17% สูงกว่าที่ตลาดคาดว่าจะหดตัว 5.8% ซึ่งจากสถิติถือว่ามีมูลค่าสูงสุดในรอบ 8 เดือน ส่วนการนำเข้าขยายตัวที่ระดับ 7.25% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 1,592.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ทำให้ภาพรวมในไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 การส่งออกขยายตัว 0.91% ส่วนการนำเข้าหดตัว 1.92% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 3,933.7 ล้านเหรียญสหรัฐ
นอกจากนี้อีกหนึ่งปัจจัยที่หนุนค่าเงินบาทตลอดทั้งสัปดาห์ ได้แก่ ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศเพิ่มขึ้นด้วยอัตราที่ลดลง โดยล่าสุดในวันพฤหัสบดี (24/4) และวันศุกร์ (25/4) มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มเพียงวันละ 13 และ 15 รายตามลำดับ ส่งผลให้ขณะนี้มียอดผู้รักษาตัวในโรงพยาบาลลดเหลือเพียง 314 คน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตามยังต้องรอฟังมติเกี่ยวกับแนวทางการป้องกันโรคและการประเมินสถานการณ์ในการประกาศใข้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในช่วงต้นสัปดาห์หน้าอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.30-32.60 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (24/4) ที่ระดับ 32.41/43 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐในระหว่างสัปดาห์นั้น ยังคงเคลื่อนไหวผันผวน โดยในช่วงต้นสัปดาห์ ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นในฐานะงินสกุลปลอดภัยหลังนักลงทุนเทขายเงินสกุลหลักอื่น ๆ สาเหตุจากราคาน้ำมันดิบดิ่งลงอย่างมาก อย่างไรก็ตามดอลลาร์สหรัฐเองก็ถูกกดดันหลังผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจที่ทยอยประกาศออกมาในสัปดาห์นี้ย่ำแย่ โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยืนขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกพุ่งขึ้นสู่ระดับ 4.4 ล้านราย ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.3 ล้านราย ขณะที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดขายบ้านใหม่ดิ่งลง 15.4% ในเดือนมีนาคม เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นการทรุดตัวลงหนักที่สุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2556 นอกจากนี้ เอชเอส มาร์กิต เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิต และภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ทรุดตัวลงสู่ระดับ 27.4 ในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ จากระดับ 40.9 ในเดือนมีนาคม สำหรับความคืบหน้าในการหายาต้านไวรัสนั้น ล่าสุดในคืนวันพฤหัสบดี (23/4) มีข่าวว่ายาทดลองต่อต้านไวรัส “Remdesivir” ของบริษัท Gitead Sciences Inc ล้มเหลวในการช่วยเหลือคนไข้โควิด-19 ที่มีอาการหนัก ระหว่างการทดลองทางคลินิกในจีน ซึ่งข่าวดังกล่าวมาลบล้างข่าวดีที่เคยประกาศก่อนหน้านี้ในการทดลองทางคลินิกของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐ ว่าผู้ป่วยตอบสนองและหายป่วยอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ข่าวดีที่สุดในตลาดสหรัฐในสัปดาห์นี้ดูเหมือนจะเป็นการที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐมีมติผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยมาตรการเยียวยาธุรกิจขนาดเล็กและโรงพยาบาลที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 วงเงิน 4.84 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคาดว่า ปธน.ทรัมป์จะลงนามบังคับใช้เป็นกฎหมายได้ในเร็ว ๆ นี้
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ในวันจันทร์ (20/4) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.0861/65 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (17/4) ที่ระดับ 1.0855/57 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าตลอดทั้งสัปดาห์นี้ เริ่มจากช่วงต้นสัปดาห์ที่ถูกแรงเทขายหลังถูกกดดันจากการดิ่งลงของราคาน้ำมัน หลังจากนั้นในวันพฤหัสบดี (23/4) ตัวเลขเศรษฐกิจในภูมิภาคออกมาย่ำแย่ โดยตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมภาคการผลิตและบริการของยูโรโซน ในเดือนเมษายนออกมาที่ระดับ 13.5 ต่ำกว่าระดับ 29.7 ในเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ค่าเงินยูโรยังถูกกดดันเพิ่มเติม หลังการประชุม EU Summit โดยถึงแม้จะมีการอนุมัติแผนการให้สภาพคล่องแก่ประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรป เพื่อบังคับใช้มาตรการเยียวยาและลดผลกระทบจาก COVID-19 มูลค่ารวมกว่า 540 พันล้านยูโร อย่างไรก็ตามสมาชิกยังมีข้อถกเถียงกันในประเด็นการอนุมัติหลักการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อการลงทุนระยะยาว มูลค่า 2 ล้านล้านยูโร ซึ่งผู้นำจากแต่ละประเทศสมาชิกยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ทั้งเรื่องเกี่ยวกับขนาดของกองทุนที่้ควรจะเป็น แนวทางการระดมทุน และการจัดสรรเงินกองทุนให้แต่ละภาคส่วน ทำให้ยังไม่มีข้อสรุปเกิดขึ้น ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0728-1.0895 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (24/4) ที่ระดับ 1.0756/58 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดในวันจันทร์ (20/4) เปิดตลาดที่ระดับ 107.82/85 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (17/4) ที่ระดับ 107.88/90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวในกรอบแคบ โดยค่าเงินเยนแกว่งตัวแข็งค่าขึ้นในฐานะเงินสกุลปลอดภัย หลังราคาน้ำมันทรุดตัวอย่างหนัก อย่างไรก็ตามไม่สามารถแข็งค่าได้มากหลังยังถูกกดดันจากรายงานที่ว่าทางรัฐบาลญี่ปุ่นจะเพิ่มวงเงินมาตรการฉุกเฉินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 โดยจะมีการแจกเงินสดให้กับประชาชนรายละ 100,000 เยน นอกจากนี้นักลงทุนยังคงกังวลกับสถานการณ์การติดเชื้อในประเทศ โดยนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวว่า ญี่ปุ่นกำลังเผชิญช่วงเวลาที่มีความวิกฤตมากที่สุด ในการพิจารณาว่าจะมีการยกเลิกการประกาศภาวะฉุกเฉินหรือไม่ หลังจากที่รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งนายอาเบะยังกังวลและคงย้ำถึงความจำเป็นสำหรับชาวญี่ปุ่นในการหลีกเลี่ยงการเดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงเทศกาลโกลเด้น วีค ที่จะมาถึงในช่วงปลายเดือนนี้ถึงต้นเดือนหน้า ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 107.29-108.03 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และเปิดตลาดในวันศุกร์ (24/4) ที่ระดับ 107.68/70 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
ในส่วนของสถานการณ์ราคาน้ำมัน ในช่วงต้นสัปดาห์ ราคาน้ำมันดิบ WTI สัญญาส่งมอบเดือนพฤษภาคม ได้ทรุดตัวลงแตะระดับติดลบเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เริ่มมีการซื้อขายสัญญาน้ำมันในตลาด NYMEX เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลว่า การที่รัฐบาลทั่วโลกใช้มาตรการล็อกดาวน์ จะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันทรุดตัวลง อีกทั้งในขณะนี้อุปทานของน้ำมันทั่วโลกได้ล้นตลาด จนราคาการเก็บน้ำมัน (Storage cost) เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งตรงข้ามกับอุปสงค์หรือความต้องการที่ลดลงอย่างมาก อย่างไรก็ตามในช่วงวันพุธ (22/4) ต่อเนื่องจนถึงช่วงสุดสัปดาห์ ราคาน้ำมันฟื้นตัวได้บ้างหลังมีการตอบโต้กันระหว่างสหรัฐอเมริกา และอิหร่าน โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวว่า เขาได้สั่งกองทัพเรือสหรัฐให้ทำการยิงและทำลายเรือปืนของอิหร่านทุกลำ หากมีท่าทีก่อกวนเรือสหรัฐ ซึ่งหลังจากนั้นนายฮอสเซน ซาลามี หัวหน้ากองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน (IRGC) กล่าวว่า อิหร่านจะทำลายเรือรบสหรัฐเช่นกัน หากสหรัฐเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของอิหร่านในอ่าวเปอร์เซีย นอกจากนี้ สัญญาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่าการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐจะปรับตัวลดลงอีก หลังจากที่ได้ลดลงไปแล้ว 100,000 บาร์เรล สู่ระดับ 12.2 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่ผ่านมา
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-455059
จำนวนผู้อ่าน: 1912
25 เมษายน 2020