สอนหุ่นยนต์ให้ฉลาดสุดๆ ด้วย Vertual Reality

ดร.อดิสร พาไปทำความรู้จักสุดยอดเทคโนโลยีสำหรับสอนให้หุ่นยนต์ฉลาดขึ้นและเรียนรู้ได้เอง ไม่ใช่หุ่นยนต์ที่คอยรับคำสั่งตามที่ถูกตั้งโปรแกรมไว้อย่างเดียว

โรบอตหรือหุ่นยนต์ หนึ่งในเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ประเทศไทยกำลังผลักดันให้เกิดเป็นอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ หรือ Robot and Automation Industry ให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) ซึ่งเป็นมาตรการระยะยาวที่จะมีการปรับโครงสร้างด้านการผลิต ทั้งภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรมรวมถึงภาคบริการของประเทศให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน เกิดการสร้างตำแหน่งงานใหม่ที่มีคุณภาพ และสนับสนุนเศรษฐกิจภูมิภาคอย่างยั่งยืน


ดังนั้น รัฐบาลวางแผนจัดตั้งเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor of Innovation (EECi) ที่ครอบคลุมจังหวัด ฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยอง

 

 


สำหรับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ มีการวางเป้าหมายให้ใช้ในสายการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น และส่งเสริมการวิจัยด้านหุ่นยนต์ให้เข้มข้นมากขึ้นด้วย ปัจจุบันทั่วโลกก็มีแนวโน้มการวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์ที่มีขนาดเล็กลง เรียกว่า desktop robot ที่อาจจะมีแต่แขนแต่ทำงานได้หลากหลาย ที่สำคัญสามารถทำงานร่วมกับมนุษย์ได้อย่างเข้าขากัน เรียกว่า Cobot ดังนั้น แนวโน้มการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ การสอนให้หุ่นยนต์ฉลาดขึ้นและเรียนรู้ได้เอง ไม่ใช่หุ่นยนต์ที่คอยรับคำสั่งตามที่ถูกตั้งโปรแกรมไว้อย่างเดียว หรือเคลื่อนไหวกระตุก ไม่ราบรื่นเหมือนที่เรามักนำมาล้อเลียนกัน


ล่าสุด มีบริษัทเกิดใหม่แห่งหนึ่งชื่อว่า Embodied Intelligence ก่อตั้งโดย Pieter Abbeel ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีแมชชีนเลิร์นนิง ได้คิดค้นวิจัยเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) มาใส่ในหุ่นยนต์ได้อย่างไร เพื่อทำให้หุ่นยนต์ฉลาดมากขึ้น สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง ไม่เสียเวลาในการป้อนคำสั่ง โดยทางบริษัทได้ใช้เทคนิคใหม่ๆ ด้านแมชชีนเลิร์นนิง


ตัวอย่างเช่น Deep Reinforcement Learning Deep Imitation Learning และ Few-shot Learning ทั้งสามเทคนิคจะสามารถทำให้หุ่นยนต์เรียนรู้และร่วมงานกับมนุษย์ได้อย่างราบรื่น โดยวิธีการสอนของมนุษย์สามารถทำได้โดยอาศัยการควบคุมจากระยะไกล (Tele-operation) หรือแว่นตา Virtual Reality (VR) เหมือนที่สวมใส่ตอนเล่นเกมส์ เมื่อเราใส่แว่นตาวีอาร์ก็จะเสมือนเป็นหุ่นยนต์ตัวนั้น แขนของเราก็จะเสมือนแขนหุ่นยนต์ตัวนั้น ดังนั้น เราจะสอนมันโดยการทำงานให้เป็นตัวอย่าง เช่น สอนให้หยิบจับเครื่องมือ สอนให้เลือกหรือจัดเรียงสิ่งของ สอนให้ประกอบอุปกรณ์ต่างๆ เป็นต้น


เมื่อเราสอนเสร็จ หุ่นยนต์จะจดจำและสามารถทำงานตามที่ถูกสอนและดีขึ้นเรื่อยๆ จากการเรียนรู้ด้วยตัวมันเองโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ อีกทั้งสามารถปรับเปลี่ยนไปทำงานอื่นๆ ได้ง่ายโดยการสอนใหม่อีกครั้ง ดังนั้น ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เราได้หลอมรวมมนุษย์กับจักรกลเข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน
ผมเห็นว่า ประเทศไทยจะรุ่งในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ได้ เราต้องมุ่งวิจัยในเรื่องเหล่านี้ให้เร็วที่สุดครับ

บทความโดย *ดร. อดิสร เตือนตรานนท์ ผู้อำนวยการหน่วยวิจัย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ

 

ที่มาข่าว : bangkokbiznews.com


Person read: 2574

24 November 2017