พิษโควิด-19 ทำธุรกิจโต๊ะจีนล้มทั้งระบบ งานเลี้ยง-อีเวนต์หายเกลี้ยง ประธานชมรมธุรกิจโต๊ะจีนนครปฐม ขาใหญ่ระดับประเทศประเมินรายได้สูญ 1,000 ล้านบาท แรงงานลูกจ้างตกงานกว่า 5 พันคน “เกรียงไกรโภชนา” ดิ้นปรับตัวจัดเมนูเซตส่งดีลิเวอรี่ ประคองธุรกิจ ผู้ประกอบการในสระบุรีชี้เจ๊งแน่ ถ้าอีก 2 เดือนยังวิกฤตแบบนี้ วอนรัฐบาลช่วยเหลือ
นายประพฤติ อรรฆธน ประธานชมรมธุรกิจโต๊ะจีนจังหวัดนครปฐม และเจ้าของโต๊ะจีนยุทธพงษ์โภชนา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาที่เกิดปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ธุรกิจโต๊ะจีนทั้งระบบได้รับผลกระทบทันที เพราะผู้ว่าจ้างต้องยกเลิกการจัดงานทั้งหมดทั่วประเทศซึ่งผู้ประกอบการทั้งรายเล็กรายใหญ่กว่า 200 รายในจังหวัดนครปฐมถูกยกเลิกงานไปถึงเดือนมิถุนายน 2563 ส่งผลให้คนงานส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างรายวันตั้งแต่คนขับรถ กุ๊ก ผู้ช่วยกุ๊ก พนักงานเสิร์ฟ กลายเป็นคนตกงานทันที จากที่เคยได้ค่าแรง 600-700 บาท/วัน/คน/งาน และส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงร้านขายวัตถุดิบ ธุรกิจโต๊ะเช่า เก้าอี้เช่า และถ้วยจานชามให้เช่า
หากคิดภาพรวมความเสียหายของธุรกิจโต๊ะจีนจังหวัดนครปฐมประเมินเบื้องต้นสูญเสียไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท โดยมีผู้ประกอบการและลูกจ้างแรงงานคนไทยได้รับกระทบรวมกันกว่า 5,000-6,000 คน
“ธุรกิจโต๊ะจีนเป็นอาชีพรับจ้างจัดงานไม่มีหน้าร้าน ตอนนี้หลายรายหันไปขายแบบดีลิเวอรี่ แต่ผลตอบแทนไม่มากนัก ส่วนผู้ประกอบการที่ขายเกรดพรีเมี่ยมก็ขายไม่ได้เลย ซึ่งเป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่งว่า วันนี้ผู้บริโภคไม่ซื้ออาหารแพงทุกคนรัดเข็มขัดหมด ผู้ประกอบการต้องดิ้นเอาตัวรอด บางคนโชคดีลงทะเบียนและได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาทจากรัฐบาล แต่รวมแล้วได้ไม่ถึง 1% วันนี้เราอยู่ยาก จะกินยังไม่มีเลย ลำบากมาก ไม่รู้จะไปเรียกร้องอะไรกับใคร ไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาดูแล ทั้งที่ธุรกิจโต๊ะจีนถือเป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงคนนครปฐม การเยียวยาของภาครัฐยังไม่มาถึงคนกลุ่มนี้ ผู้ประกอบการก็ไม่สามารถกู้แบงก์ได้ง่ายเหมือนที่รัฐบาลประกาศ ทั้ง ๆ ที่เราเสียภาษีค่อนข้างสูง”
จากนี้ไปสภาพการว่าจ้าง การจัดเลี้ยงจะไม่เหมือนเดิมแล้ว ธุรกิจนี้ก็ต้องปรับตัวไปตามสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ และผู้ว่าจ้างก็คงเน้นการประหยัดไประยะหนึ่ง ทั้งนี้ ปกติช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจจัดโต๊ะจีนจะอยู่ในช่วงข้ามปี ตั้งแต่เดือนธันวาคม-พฤษภาคม เฉลี่ยปีหนึ่งจัดงานได้ 5-6 เดือนเท่านั้น รายได้ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 2-4 แสนบาท/เดือน จากนั้นเมื่อเริ่มเข้าฤดูฝน จะไม่มีงานเลย สถานะของผู้ประกอบการทั่วประเทศในขณะนี้ไม่รู้ชะตากรรมว่าจะอยู่ได้ถึง 3-4 เดือนหรือไม่
นางสาวสุชาดา สัตยกุล เจ้าของเกรียงไกรโภชนาโต๊ะจีน จ.นครปฐม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทางร้านได้เตรียมตัวรับสถานการณ์ไว้แล้ว 1-2 เดือน ตั้งแต่มีข่าวแพร่ระบาดของโรคที่ประเทศจีน ก่อนรัฐบาลประกาศมาตรการควบคุม ซึ่งผลกระทบก็เกิดขึ้นจริง เมื่อลูกค้าที่มัดจำเพื่อเตรียมจัดงานได้เลื่อนไปหมดแบบไม่มีกำหนด
“ทางร้านจึงปรับตัวจากโต๊ะจีนไปสู่ระบบดีลิเวอรี่โต๊ะจีน ซึ่งไม่มีใครเคยทำมาก่อน เราคิดระบบเองว่าจะทำแบบไหน เพราะเป็นสิ่งใหม่ โดยเน้นขายผ่าน Facebook และ Line”
ตลาดดีลิเวอรี่แพร่หลายมาก แต่กลยุทธ์ของเกรียงไกรโภชนาคือ ใช้ทีมงานขนส่งเอง เป็นการทำสดจากร้านถึงมือลูกค้าโดยตรง และจัดเป็นเซตให้เลือก 3 ชุด ชุดละ 7 เมนู ใส่แพ็กเกจจิ้งอย่างดี
สามารถเปิดรับประทานได้ทันที เริ่มต้นเซต A ราคา 999 บาท ประกอบด้วย 1.ออร์เดิร์ฟ 5 อย่าง 2.กระเพาะปลาน้ำแดงเนื้อปูไข่นก 3.ยำหมูเส้นทอดกรอบ 4.ขาหมูทอดกรอบสามรส 5.เห็ดหอมตุ๋นซี่โครงหมูเครื่องยาจีน 6.ข้าวผัดปูทรงเครื่อง 7.เต้าหู้นมสดแปะก๊วย เซต B ราคา 1,399 บาท ประกอบด้วย 1.ห้อยจ้อ 2.กระเพาะปลาน้ำแดงเนื้อปูไข่นก 3.ยำสามกรอบ 4.เป็ดยัดไส้จำฉ่ายเกาลัด 5.เห็ดหอมตุ๋นซี่โครงหมูเครื่องยาจีน 6.ผัดหมี่ฮ่องกง 7.เต้าหู้นมสดแปะก๊วย และเซต C ราคา 1,699 บาท ประกอบด้วย 1.ออร์เดิร์ฟ 5 อย่าง 2.หูฉลามน้ำแดงเนื้อปู 3.เป็ดย่างไฟดง 4.ยำหมูเส้นทอดกรอบ 5.เห็ดหอมตุ๋นซี่โครงหมูเครื่องยาจีน 6.ผัดหมี่ฮ่องกง 7.เต้าหู้นมสดแปะก๊วย
“เราส่งได้ในพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี และเริ่มไปพระนครศรีอยุธยา ราชบุรี ราคาขนส่งจะบวกเพิ่มตามระยะทาง เช่น นครปฐมบวก 100 บาท, กทม. นนทบุรี ปทุมธานี 250 บาท สมุทรปราการ 300 บาท”
“เราเปิดตัวเป็นเจ้าแรกในนครปฐม แต่รายได้การทำดีลิเวอรี่ยังแตกต่างจากการจัดโต๊ะจีนอยู่มาก จากหลักแสนบาทต่อสัปดาห์สำหรับราคาจัดเลี้ยงในแต่ละงานเริ่มที่ 2,000-6,000 บาท/โต๊ะ ปัจจุบันเหลือเพียง 1,000-10,000 บาท ฉะนั้น สิ่งที่ทำอยู่จึงเป็นการประคองธุรกิจให้อยู่ได้เท่านั้น”
“ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย จากนี้ไปอีก 5-6 เดือน งานจัดเลี้ยงก็ยังทำไม่ได้ การแก้สถานการณ์ก็จะสายเกินไป ไม่มีเถ้าแก่คนไหนมองว่าการทำดีลิเวอรี่ แล้วมันจะรอด หรือได้กำไรหรอก ตอนนี้เราต้องมาคิดทำอะไรใหม่ ๆ เจ้าของธุรกิจต้องไม่ล้มก่อน เพราะถ้าเราล้ม ลูกน้องเราจะล้มทั้งกระดาน ตอนนี้หากรัฐบาลมีมาตรการเยียวยาแบบเจาะลึกได้ก็จะดีมาก เพราะลูกจ้างบางคน เช่น เด็กยกโต๊ะไม่สามารถลงทะเบียนรับเงินเยียวยาได้เลย”
นางฉวีวรรณ ชมะโชติ เจ้าของดีเจโต๊ะจีน จังหวัดสระบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สัญญาณร้ายมาตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 2563 แล้ว จนถึงปัจจุบันงานหายไปหมด 100% หากเป็นอย่างนี้อีก 2 เดือนคงไม่รอด รายได้หายไปเฉลี่ย 1 แสนบาท/เดือน พนักงาน 60-70 คน โดยลงทุนไปมากเมื่อปลายปีที่แล้ว ทั้งอุปกรณ์ วัตถุดิบ เมื่อเกิดวิกฤต งานไม่มี วัตถุดิบที่ซื้อมาต้องแจกจ่ายไป บางส่วนจำใจทิ้งไป
“ส่วนเงินลูกค้าที่มัดจำไว้ก็ต้องคืนไปหมด สถานการณ์แย่มาก ๆ ซึ่งไม่ใช่ความผิดใคร แต่ไม่มีหน่วยงานไหนยื่นมือเข้ามาช่วยธุรกิจนี้เลย”
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/local-economy/news-453906
จำนวนผู้อ่าน: 2167
25 เมษายน 2020